[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 
 

กศน.ตำบลย่านซื่อ

ประวัติความเป็นมาของ  ตำบลย่านซื่อ

ตำบลย่านซื่อเป็นตำบลขนาดเล็กประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวนและค้าขายประชากรที่อพยพเข้ามาจะมีเชื้อสายชาวจีนซึ่งเข้ามาทำการค้าขาย  ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินริมสองฝั่งแม่น้ำ  เพราะภูมิประเทศของตำบลย่านซื่อจัดเป็นแม่น้ำสายหลักซึ่งไหลผ่านแม่น้ำตรัง สะดวกในการสัญจรทางเรือ    เพราะสมัยนั้นถนนหนทางทางบกมีการสัญจรลำบาก   เพราะเหตุนี้  จึงทำให้พ่อค้าแม่ค้าที่ใช้เรือติดต่อค้าขายสิ้นค้าทางน้ำ  เป็นเส้นทางสัญจรไปมาในการค้าขายร่วมกันซึ่งพอมาถึงท่าเรือของชุมชนย่านซื่อ    พ่อค้าแม่ค้า   จะบอกว่าเส้นทางสายน้ำนี้มีลักษณะที่ตรงและยาวมากๆจึงได้ขนานนามของแม่น้ำสายนี้ว่า  “ย่านซื่อ” จนเรียกติดปากมาจนถึงทุกวันนี้


 

ประวัติ พ่อท่านอินทร์ อินทสโร วัดย่านซื่อ

      แหล่งธรรมในต่างจังหวัดส่วนใหญ่มักจะมีอดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง "วัดย่านซื่อ" ก็เช่นกัน ตั้งอยู่   ต.ย่านซื่อ อ.กันตัง จ.ตรัง บนที่ดินเนื้อที่ 13 ไร่ 4 ตารางวา วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2425 โดยขุนสุนทร ร่วมกับชาวบ้านย่านซื่อ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2471

ปัจจุบัน วัดย่านซื่อ  มีอาคารเสนาสนะต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ อุโบสถ กว้าง 16 เมตร ยาว 20 เมตร ศาลาการเปรียญ กว้าง 28 เมตร ยาว 40 เมตร กุฏิสงฆ์จำนวน 10 หลัง เป็นต้น

             วัดย่านซื่อ  มีเจ้าอาวาสมาแล้ว 9 รูป เจ้าอาวาสรูปแรกคือ "พระสุก" ส่วนล่าสุดคือ "พระชัยสมพล จันทโชโต" เพิ่งดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสในปี 2552 แต่เจ้าอาวาสรูปที่โด่งดังมากที่สุด คือ "พระปลัดอินทร์ อินทสโร" หรือ "พ่อท่านอินทร์" เจ้าอาวาสวัดย่านซื่อรูปที่ 4 ดำรงตำแหน่งในช่วงปีพ.ศ.2460 - 2513

อัตโนประวัติพ่อท่านอินทร์  มีนามเดิมว่า อินทร์ สุวรรณราช เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2423 ที่ ต. ควนขนุน อ. เขาชัยสน จ. พัทลุง  โยมบิดา-มารดา  ชื่อ นายราส และนางดำ สุวรรณราช ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา

ในวัยเยาว์ด้วยฐานะทางบ้านยากจนท่านจึงเป็นกำลังสำคัญช่วยหาเลี้ยงครอบครัวด้วยความขยันขันแข็ง เมื่ออายุ  24  ปี   นายอินทร์ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ที่วัดคลองน้ำเจ็ด อ.เมือง จ.ตรัง เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2449

ภายหลังอุปสมบทได้อยู่จำพรรษาที่วัดคลองน้ำเจ็ด โดยอาศัยอยู่กับพระครูธรรมจักร เจ้าอาวาส ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุง ได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี กล่าวถึงวัดย่านซื่อในขณะนั้นไม่ค่อยจะมีพระไปอยู่จำพรรษา แม้ถึงมีพระภิกษุอาสาไปอยู่ก็อยู่ได้ไม่นาน ประมาณ 2-3 ปี ล้วนแต่ลาสิกขาไปบ้าง ร่ำลือกันว่าที่วัดแห่งนี้มีผีดุมาก

จนเดือดร้อนถึงชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นผู้นับถือพระพุทธศาสนา ได้ไปขอคำปรึกษาจากพระครูธรรมจักร เมื่อท่านทราบเหตุผลแล้วจึงมอบหมายให้ พ่อท่านอินทร์ และพระติดตามมาอีก 3 รูป มาอยู่จำพรรษาที่วัดดังกล่าว กระทั่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2451

 ครั้นเมื่อพ่อท่านอินทร์มาเป็นเจ้าอาวาสโดยสมบูรณ์และถูกต้องตามพระวินัยแล้ว ท่านจึงได้เริ่มพัฒนาวัด จากวัดที่รกร้างและรกทึบไปด้วยป่าไม้ เปลี่ยนปรับปรุงให้เป็นวัดที่มีความสะอาดเรียบร้อย น่าอยู่น่าอาศัย เหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรม ด้วยเป็นที่โล่งเตียน ปลอดโปร่ง และเป็นที่พึงพอใจของชาวบ้านทั้งใกล้และไกล ที่ได้มาทำบุญกับพ่อท่านอินทร์ เนื่องจากศรัทธาที่ท่านเป็นพระวิปัสสนากัมมัฏฐาน

โดยเฉพาะในช่วงเย็น ซึ่งจะมีพวกชาวบ้านชักชวนกันมาฟังเทศน์และเจริญพระพุทธมนต์กันเป็นประจำ ทั้งวันพระและวันธรรมดา พ่อท่านอินทร์เคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอย่างยิ่ง พระภิกษุ-สามเณรทุกรูปภายในวัดจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบที่วางไว้ เช่น ทำวัตรเย็น ทำ วัตรเช้า และสวดมนต์หลังจากทำวัตรแล้ว ซึ่งเป็นกิจของสงฆ์ที่พึงปฏิบัติ

นอกจากนี้ พ่อท่านอินทร์ยังเป็นหมอยารักษาโรคภัยไข้เจ็บและอาการบาดเจ็บต่างๆ หรือแม้กระทั่งถูกคุณไสย เป็นโรคหนองใน หรือฝีมะม่วง ทำให้มีชาวไทย-จีนเดินทางมารับการรักษาจากท่านเป็นจำนวนมาก บางรายถึงกับนำคนป่วยมานอนรักษาอยู่ที่วัดนานหลายเดือน แต่    พ่อท่านอินทร์ก็ไม่ปฏิเสธ พร้อมทั้งบอกว่า "เรามีความรู้ เราต้องช่วยเขา วิชาเรียนไว้เพื่อช่วยมนุษย์ผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก จึงต้องทำไปตามความสามารถ"

พ่อท่านอินทร์มีความโดดเด่นด้านวิทยาคมหลายด้าน อาทิ อักขระขอม โดยเฉพาะผ้าประเจียด ครั้งหนึ่งพ่อท่านได้มอบผ้าประเจียดให้กับลูกศิษย์คนหนึ่งที่บวชเป็นพระ ต่อมาได้ลาสิกขาออกไปเป็นตำรวจประจำการ แต่อยู่มาวันหนึ่งได้เอาผ้าประเจียดผืนนั้นไปวางไว้ที่หลังเป้า ทำให้เพื่อนตำรวจไม่สามารถยิงเข้าเป้า ต่อมาทราบว่าเป็นผลมาจากผ้าประเจียดวัดย่านซื่อ

พ่อท่านอินทร์เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธา ดังนั้น เมื่อท่านประสงค์จะพัฒนาวัดชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจกันคนละไม้คนละมือ จนสามารถก่อสร้างศาลาการเปรียญ       (โรงธรรม) และอุโบสถจนสำเร็จเรียบร้อย

วาระสุดท้าย เมื่อท่านอายุได้ 92 ปี พ่อท่านอินทร์  ได้ละสังขารลงอย่างสงบ การจากไปครั้งนี้ได้สร้างความเศร้าสลดมาสู่ญาติโยมที่ศรัทธาเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่ง แม้สังขารพ่อท่านอินทร์จะแตกดับไปนานหลายสิบปี  แต่คุณงามความดียังคงปรากฏอยู่ในใจชาวเมืองตรังจวบจนปัจจุบัน

 



เข้าชม : 639
 
 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอกันตัง  จังหวัดตรัง
ถนนตรังคภูมิ  ตำบลกันตัง  อำเภอกันตัง  จังหวัดตรัง 92110 โทรศัพท์ 075-252726 โทรสาร 075-252755 

kantang nfe@gmail.com
สล็อตเว็บตรง Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05