พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (20 กันยายน พ.ศ. 2396 – 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) เป็นพระมหากษัตริย์สยาม รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันอังคาร เดือน 10 แรม 3 ค่ำ ปีฉลู ตรงกับวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นพระองค์ที่ 1 ในสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เสวยราชสมบัติเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 15 ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. 2411 [3] เสด็จสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 11 แรม 4 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ด้วยโรคพระวักกะ
พระราชประวัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่พระนางเธอ พระองค์เจ้ารำเพยภมราภิรมย์ (ในรัชกาลที่ 6 ได้มีการสถาปนาพระบรมอัฐิเป็นสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี) ครั้งนั้นพระบรมวงศานุวงศ์เสนาบดีเข้าชื่อกันกราบบังคมทูลว่า ทุกวันนี้เจ้าฟ้าก็ไม่มีเหมือนแต่ก่อน ขอให้ยกขึ้นเป็นเจ้าฟ้าอย่างสมัยก่อน จึงพระราชทานพระนามว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์[4] ถึงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2404 จึงได้รับพระราชทานสุพรรณบัฏจารึกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามกุฎ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร สิริวัฒนราชกุมาร แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเจ้ากรมเป็นหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ[5] ซึ่งคำว่า "จุฬาลงกรณ์" นั้นแปลว่า เครื่องประดับผม อันหมายถึง "พระเกี้ยว" ที่มีรูปเป็นส่วนยอดของพระมหามงกุฎหรือยอดชฎา
พระองค์มีพระขนิษฐาและพระอนุชาร่วมพระมารดารวม 3 พระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อยู่หัวทรงได้รับการศึกษาเบื้องต้นในสำนักพระเจ้าอัยยิกาเธอ กรมหลวงวรเสรฐสุดา ทรงได้รับการศึกษาด้านอักษรศาสตร์ ภาษาเขมรจากหลวงราชาภิรมย์ ทรงได้การศึกษาการยิงปืนไฟจากพระยาอภัยเพลิงศร
วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2408 (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2409) โปรดให้โสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์[6] แล้วทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2409[7] ได้ถวายเทศนามหาชาติกัณฑ์สักรบรรพ ณ พระที่นั่งทรงธรรม เมื่อวันอังคารที่ 23 ตุลาคม[8] ภายหลังจากการผนวช โปรดให้ตั้งพิธีเลื่อนสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ขึ้นเป็นกรมขุนพินิตประชานารถ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2410[9] (นับแบบปัจจุบันเป็น พ.ศ. 2411) โดยทรงกำกับราชการกรมมหาดเล็ก กรมพระคลังมหาสมบัติ และกรมทหารบกวังหน้า[10]
บรมราชาภิเษกครั้งที่ 1
วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตภายหลังเสด็จออกทอดพระเนตรสุริยุปราคา 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 โดยก่อนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะสวรรคตนั้น ได้มีพระราชหัตถเลขาไว้ว่า "พระราชดำริทรงเห็นว่า เจ้านายซึ่งจะสืบพระราชวงศ์ต่อไปภายหน้า พระเจ้าน้องยาเธอก็ได้ พระเจ้าลูกยาเธอก็ได้ พระเจ้าหลานเธอก็ได้ ให้ท่านผู้หลักผู้ใหญ่ปรึกษากันจงพร้อม สุดแล้วแต่จะเห็นดีพร้อมกันเถิด ท่านผู้ใดมีปรีชาควรจะรักษาแผ่นดินได้ก็ให้เลือกดูตามสมควร" ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรคต จึงได้มีการประชุมปรึกษาเรื่องการถวายสิริราชสมบัติแด่พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ ซึ่งในที่ประชุมนั้นประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระสงฆ์ โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทเวศร์วัชรินทร์ ได้เสนอสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งที่ประชุมนั้นมีความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการทูลเชิญให้ขึ้นครองราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระราชบิดา[11] โดยในขณะนั้น มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ดังนั้น จึงได้แต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมพรรษครบ 20 พรรษา โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า[10]
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษรัตนราชรวิวงศ วรุตมพงศบริพัตร์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประนตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปดลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทร มหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว"
ผนวชและบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2
เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 20 พรรษาแล้ว เมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2416 จึงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหารเป็นเวลา 15 วัน หลังจากทรงลาสิกขาแล้ว ได้มีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 โดยได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยในครั้งนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามตามจารึกในพระสุบรรณบัฎว่า[12]
"พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ บุรุษยรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศบริพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถ มหามงกุฎราชวรางกูร สุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฏไพบูลย์ บุรพาดูลย์กฤษฎาภินิหาร สุภาธิการรังสฤษดิ์ ธัญลักษณวิจิตร โสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณต บาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถ เปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินครวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษสิรินธร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิลิต สรรพทศทิศวิชิตชัย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"
สวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระวักกะ (ไต) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เวลา 2.45 นาฬิกา ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต สิริพระชนมายุได้ 57 พรรษา[13] นายแพทย์วิบูล วิจิตรวาทการ นักเขียนเชิงประวัติศาสตร์ ได้ให้ความเห็นระบุโรคที่เป็นไปได้ คือ โรคนิ่วในไต, โรคไตอักเสบ จากการติดเชื้อ และโรคไตชนิด Chronic Glomerulonephritis อันเกิดจากต่อมทอนซิลอักเสบฉับพลัน อย่างไรก็ตาม ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นโรคไตชนิดใด[14] ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดให้วันที่ 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันปิยมหาราชและเป็นวันหยุดราชการ
ก่อนสวรรคตเคยมีพระราชกระแสรับสั่งในพระราชหัตถเลขาว่าให้ยกเลิกการพระเมรุใหญ่เสีย ปลูกแต่ที่เผาพอสมควรในท้องสนามหลวงแล้วแต่จะเห็นสมควร พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพต่อพระราชประสงค์ จึงโปรดให้จัดการตามพระราชดำรินั้น[15]
พระราชกรณียกิจ
ต้นศตวรรษที่ 20 ทรงได้รับการจัดให้เป็น 1 ในผู้นำของ 16 ชาติผู้จะชี้นำโลก [ต้องการอ้างอิง] (โปรดสังเกตว่าพระองค์ประทับพระที่นั่งที่มีหมายเลข 6)
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลิกทาสและไพร่ในประเทศไทย การป้องกันการเป็นอาณานิคมของจักรวรรดิฝรั่งเศสและจักรวรรดิอังกฤษ ได้มีการประกาศออกมาให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศ โดยบุคคลศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลามสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ได้มีการนำระบบจากทางยุโรปมาใช้ในประเทศไทย ได้แก่ระบบการใช้ธนบัตรและเหรียญบาท ใช้ระบบเขตการปกครองใหม่ เช่น มณฑลเทศาภิบาล จังหวัด และอำเภอ และได้มีการสร้างรถไฟ สายแรก คือ กรุงเทพฯ ถึง อยุธยา ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433 นอกจากนี้ได้มีงานพระราชนิพนธ์ ที่สำคัญ การก่อตั้งการประปา การไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โทรศัพท์ การสื่อสาร การรถไฟ ส่วนการคมนาคม ให้มีการขุดคลองหลายแห่ง เช่น คลองประเวศบุรีรมย์ คลองสำโรง คลองแสนแสบ คลองนครเนื่องเขต คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองเปรมประชากร และ คลองทวีวัฒนา ยังทรงโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองส่งน้ำประปา จากเชียงราก สู่สามเสน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ซึ่งคลองนี้ส่งน้ำจากแหล่งน้ำดิบเชียงราก ผ่านอำเภอสามโคก อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอคลองหลวง อำเภอธัญบุรีและอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี, อำเภอปากเกร็ด และ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และ เขตสายไหม เขตบางเขน เขตดอนเมือง เขตหลักสี่ เขตจตุจักร เขตบางซื่อ เขตดุสิต เขตพญาไท และ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร
พระราชกรณียกิจด้านสังคม ทรงยกเลิกระบบไพร่ โดยให้ไพร่เสียเงินแทนการถูกเกณฑ์ นับเป็นการเกิดระบบทหารอาชีพในประเทศไทย[16] นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเลิกทาสแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากออกกฎหมายให้ลูกทาสอายุครบ 20 ปีเป็นอิสระ จนกระทั่งออกพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124 (พ.ศ. 2448) ซึ่งปล่อยทาสทุกคนให้เป็นอิสระและห้ามมีการซื้อขายทาส[17]
การปฏิรูปการปกครอง
ภาพด้านหลัง ธนบัตรไทยชนิดราคา 1000 บาท (ชุดที่ 16) ในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 รูปพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตระหนักถึงการคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตกที่มีต่อประเทศในแถบเอเชีย โดยมักอ้างความชอบธรรมในการเข้ายึดครองดินแดนแถบนี้ว่าเป็นการทำให้บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าอันเป็น "ภาระของคนขาว"[18] ทำให้ต้องทรงปฏิรูปบ้านเมืองให้ทันสมัย โดยพระราชกรณียกิจดังกล่าวเริ่มขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2416[18]
ประการแรก ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาขึ้นมาสองสภา ได้แก่ สภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน (เคาน์ซิลออฟสเตต) และสภาที่ปรึกษาในพระองค์ (ปรีวีเคาน์ซิล) ในปี พ.ศ. 2417 และทรงตั้งขุนนางระดับพระยา 12 นายเป็น "เคาน์ซิลลอร์" ให้มีอำนาจขัดขวางหรือคัดค้านพระราชดำริได้ และทรงตั้งพระราชวงศานุวงศ์ 13 พระองค์ และขุนนางอีก 36 นาย ช่วยถวายความคิดเห็นหรือเป็นกรรมการดำเนินการต่าง ๆ แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ขุนนางสกุลบุนนาค และกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เห็นว่าสภาที่ปรึกษาเป็นความพยายามดึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดความขัดแย้งที่เรียกว่า วิกฤตการณ์วังหน้า[19] วิกฤตการณ์ดังกล่าวทำให้การปฏิรูปการปกครองชะงักลงกระทั่ง พ.ศ. 2428
พ.ศ. 2427 ทรงปรึกษากับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ อัครราชทูตไทยประจำอังกฤษ ซึ่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ พร้อมเจ้านายและข้าราชการ 11 นาย ได้กราบทูลเสนอให้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่พระองค์ทรงเห็นว่ายังไม่พร้อม แต่ก็โปรดให้ทรงศึกษารูปแบบการปกครองแบบประเทศตะวันตก และ พ.ศ. 2431 ทรงเริ่มทดลองแบ่งงานการปกครองออกเป็น 12 กรม (เทียบเท่ากระทรวง)[20]
พ.ศ. 2431 ทรงตั้ง "เสนาบดีสภา" หรือ "ลูกขุน ณ ศาลา" ขึ้นเป็นฝ่ายบริหาร ต่อมา ใน พ.ศ. 2435 ได้ตั้งองคมนตรีสภา เดิมเรียกสภาที่ปรึกษาในพระองค์ เพื่อวินิจฉัยและทำงานให้สำเร็จ และรัฐมนตรีสภา หรือ "ลูกขุน ณ ศาลาหลวง" ขึ้นเพื้อปรึกษาราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกฎหมาย นอกจากนี้ยังทรงจัดให้มี "การชุมนุมเสนาบดี" อันเป็นการประชุมปรึกษาราชการที่มุขกระสัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท[21]
ด้วยความพอพระทัยในผลการดำเนินงานของกรมทั้งสิบสองที่ได้ทรงตั้งไว้เมื่อ พ.ศ. 2431 แล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงประกาศตั้งกระทรวงขึ้นอย่างเป็นทางการจำนวน 12 กระทรวง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 อันประกอบด้วย
- กระทรวงมหาดไทย รับผิดชอบงานที่เดิมเป็นของสมุหนายก ดูแลกิจการพลเรือนทั้งหมดและบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือและชายทะเลตะวันออก
- กระทรวงนครบาล รับผิดชอบกิจการในพระนคร
- กระทรวงโยธาธิการ รับผิดชอบการก่อสร้าง
- กระทรวงธรรมการ ดูแลการศาสนาและการศึกษา
- กระทรวงเกษตรพานิชการ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์
- กระทรวงยุติธรรม ดูแลเรื่องตุลาการ
- กระทรวงมรุธาธร ดูแลเครื่องราชูปโภคของพระมหากษัตริย์
- กระทรวงยุทธนาธิการ รับผิดชอบปฏิบัติการการทหารสมัยใหม่ตามแบบยุโรป
- กระทรวงพระคลังสมบัติ รับผิดชอบงานที่ในปัจจุบันเป็นของกระทรวงการคลัง
- กระทรวงการต่างประเทศ (กรมท่า) รับผิดชอบการต่างประเทศ
- กระทรวงกลาโหม รับผิดชอบกิจการทหาร และบังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้
- กระทรวงวัง รับผิดชอบกิจการพระมหากษัตริย์[22]
หลังจากวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) ทรงให้กระทรวงมหาดไทยรับผิดชอบกิจการพลเรือนเพียงอย่างเดียว และให้กระทรวงกลาโหมรับผิดชอบกิจการทหารเพียงอย่างเดียว ยุบกรม 2 กรม ได้แก่ กรมยุทธนาธิการ โดยรวมเข้ากับกระทรวงกลาโหม และกรมมรุธาธร โดยรวมเข้ากับกระทรวงวัง และเปลี่ยนชื่อกระทรวงเกษตรพานิชการ เป็น กระทรวงเกษตราธิการ ด้านการปกครองส่วนภูมิภาค มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้ไทยกลายมาเป็นรัฐชาติสมัยใหม่[23] โดยการลดอำนาจเจ้าเมือง และนำข้าราชการส่วนกลางไปประจำแทน ทรงทำให้นครเชียงใหม่ (พ.ศ. 2317–2442) รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสยาม ตลอดจนทรงแต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ไปประจำที่อุดรธานี เป็นจุดเริ่มต้นของการปกครองแบบเทศาภิบาล[24]
พ.ศ. 2437 ทรงกำหนดให้เทศาภิบาลขึ้นกับกระทรวงมหาดไทย ยกเลิกระบบกินเมือง และระบบหัวเมืองแบบเก่า (ได้แก่ หัวเมืองชั้นใน ชั้นนอก และเมืองประเทศราช) จัดเป็นมณฑล เมือง อำเภอ หมู่บ้าน ระบบเทศาภิบาลดังกล่าวทำให้สยามกลายเป็นรัฐชาติที่มั่นคง มีเขตแดนที่ชัดเจนแน่นอน นับเป็นการรักษาเอกราชของประเทศ และทำให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น[25]
พระองค์ยังได้ส่งเจ้านายหลายพระองค์ไปศึกษาในทวีปยุโรป เพื่อมาดำรงตำแหน่งสำคัญในการปกครองที่ได้รับการปฏิรูปใหม่นี้ และทรงจ้างชาวต่างประเทศมารับราชการในตำแหน่งที่คนไทยยังไม่เชี่ยวชาญ ทรงตั้งสุขาภิบาลแห่งแรกของประเทศที่ท่าฉลอม พ.ศ. 2448[16]
การเสด็จประพาสต้นและประพาสหัวเมือง
การเสด็จประพาสยุโรป
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงเดินทางไปถึงทวีปยุโรป การเสด็จฯ เยือนครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2440 ถือเป็นทั้งเรื่องใหญ่และใหม่มากในสมัยนั้น [26]
การเสียดินแดน
การเสียดินแดนให้ฝรั่งเศส
- ครั้งที่ 1 เสียแคว้นเขมร (เขมรส่วนนอก) เนื้อที่ประมาณ 123, 050 ตารางกิโลเมตร และเกาะอีก 6 เกาะ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2410
- ครั้งที่ 2 เสียแคว้นสิบสองจุไท หัวพันห้าทั้งหก เมืองพวน แคว้นหลวงพระบาง แคว้นเวียงจันทน์ คำม่วน และแคว้นจำปาศักดิ์ฝั่งตะวันออก (หัวเมืองลาวทั้งหมด) โดยยึดเอาดินแดนสิบสองจุไทย และได้อ้างว่าดินแดนหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์ เคยเป็นประเทศราชของญวนและเขมรมาก่อน จึงบีบบังคับเอาดินแดนเพิ่มอีก เนื้อที่ประมาณ 321, 000 ตารางกิโลเมตร วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2431 ประเทศฝรั่งเศสข่มเหงไทยอย่างรุนแรงโดยส่งเรือรบล่วงเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อถึงป้อมพระจุลจอมเกล้า ฝ่ายไทยยิงปืนไม่บรรจุกระสุน 3 นัดเพื่อเตือนให้ออกไป แต่ทางฝรั่งเศสกลับระดมยิงปืนใหญ่เข้ามาเป็นอันมาก เกิดการรบกันพักหนึ่ง ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสนำเรือรบมาทอดสมอ หน้าสถานทูตของตนในกรุงเทพฯ ได้สำเร็จ (ทั้งนี้ ประเทศอังกฤษ ได้ส่งเรือรบเข้ามาลอยลำอยู่ 2 ลำ ที่อ่าวไทยเช่นกัน แต่มิได้ช่วยปกป้องไทยแต่อย่างใด) ฝรั่งเศสยื่นคำขาดให้ไทย 3 ข้อ ให้ตอบใน 48 ชั่วโมง เนื้อหา คือ
- ให้ไทยใช้ค่าเสียหายสามล้านแฟรงค์ โดยจ่ายเป็นเหรียญนกจากเงินถุงแดง พร้อมส่งเช็คให้สถานทูตฝรั่งเศสแถวบางรัก
- ให้ยกดินแดนบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ ในแม่น้ำด้วย
- ให้ถอนทัพไทยจากฝั่งแม่น้ำโขงออกให้หมดและไม่สร้างสถานที่สำหรับการทหาร ในระยะ 25 กิโลเมตร ทางฝ่ายไทยไม่ยอมรับในข้อ 2 ฝรั่งเศสจึงส่งกองทัพมาปิดอ่าวไทย เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม พ.ศ. 2436 และยึดเอาจังหวัดจันทบุรีกับจังหวัดตราดไว้ เพื่อบังคับให้ไทยทำตาม
- ไทยเสียเนื้อที่ประมาณ 50, 000 ตารางกิโลเมตร ให้แก่ฝรั่งเศส ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 และฝรั่งเศสได้ยึดเอาจันทบุรีกับตราด ไว้ต่ออีก นานถึง 11 ปี (พ.ศ. 2436–2447)
- ปี พ.ศ. 2446 ไทยต้องทำสัญญายกดินแดนให้ฝรั่งเศสอีก คือ ยกจังหวัดตราดและเกาะใต้แหลมสิงห์ลงไป (มีเกาะช้างเป็นต้น) ไปถึง ประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) ดังนั้นฝรั่งเศสจึงถอนกำลังจากจันทบุรีไปตั้งที่ตราด ในปี พ.ศ. 2447
- วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2449 ไทยต้องยกดินแดนมณฑลบูรพา คือเขมรส่วนใน ได้แก่เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ให้ฝรั่งเศสอีก ฝรั่งเศสจึงคืนจังหวัดตราดให้ไทย รวมถึงเกาะทั้งหลายจนถึงเกาะกูด
รวมแล้วในคราวนี้ ไทยเสียเนื้อที่ประมาณ 66, 555 ตารางกิโลเมตร
การเสียดินแดนให้อังกฤษ
พระราชนิพนธ์
มีพระราชนิพนธ์ ทั้งหมด 12เรื่อง[27]
- ไกลบ้าน
- ระยะทางเที่ยวชวากว่าสองเดือน
- พระราชนิพนธ์จดหมายเหตุรายวัน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสเกาะชวาครั้งหลัง
- เงาะป่า
- นิทราชาคริต
- พระราชพิธีสิบสองเดือน
- กาพย์เห่เรือ
- คำเจรจาละครเรื่องอิเหนา
- ตำราทำกับข้าวฝรั่ง
- พระราชวิจารณ์จดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี
- โคลงบรรยายภาพรามเกียรติ์
- โคลงสุภาษิตนฤทุมนาการ
พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ
ธรรมเนียมพระยศของ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ธงประจำพระอิสริยยศ
|
ตราประจำพระองค์
|
การทูล |
ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท |
การแทนตน |
ข้าพระพุทธเจ้า |
การขานรับ |
พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ |
พระราชอิสริยยศ
- พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ (20 กันยายน พ.ศ. 2396 - 21 มีนาคม พ.ศ. 2404)
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรสังกาศ (21 มีนาคม พ.ศ. 2404 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2410)
- สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ กรมขุนพินิตประชานาถ (15 มีนาคม พ.ศ. 2410 - 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411)
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุฬาลงกรณ์เกล้าเจ้าอยู่หัว (11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416)
- พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 - ปัจจุบัน)
พระราชลัญจกรประจำพระองค์
พระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เป็นตรางา ลักษณะกลมรี กว้าง 5.5 ซ.ม. ยาว 6.8 ซ.ม. โดยมีตรา พระเกี้ยว หรือ จุลมงกุฏ ซึ่งประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า 2 ชั้น มีฉัตรบริวารตั้งขนาบทั้ง 2 ข้าง ถัดออกไปจะมีพานแว่นฟ้า 2 ชั้น ทางด้านซ้ายวางสมุดตำรา และทางด้านขวาวางพระแว่นสุริยกานต์เพชร โดยพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็นการเจริญรอยจำลองมาจากพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การสร้างพระลัญจกรประจำพระองค์นั้น จะใช้แนวคิดจากพระบรมนามาภิไธยก่อนทรงราชย์ นั่นคือ "จุฬาลงกรณ์" ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือ จุลมงกุฎ ดังนั้น จึงเลือกใช้ พระเกี้ยว หรือ จุลมงกุฎ มาใช้เป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์[28]
พระพุทธรูปประจำพระองค์
พระพุทธรูปประจำพระชนมวาร รัชกาลที่ 5
พระพุทธรูปประจำรัชกาลที่ 5
- พระพุทธรูปประจำพระชนมวารพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์ ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นแทน ปางไสยาสน์เพราะทรงพระราชสมภพวันอังคาร โดยทรงให้สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2466–2453 สร้างด้วยทองคำ ความสูงรวมฐาน 34.60 เซนติเมตร
- พระพุทธรูปประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร พระเกตุมาลาเป็นเปลวเพลิง เหนือพระเศียรกางกั้นด้วยฉัตรปรุทอง 3 ชั้น สร้างราว พ.ศ. 2453-2468 หน้าตักกว้าง 7.2 นิ้ว สูงเฉพาะองค์พระ 11.8 ซ.ม. สูงรวมฉัตร 47.3 ซ.ม.
พระยศทางทหาร
พระราชสมัญญานาม
พระองค์ได้รับการถวายพระสมัญญานามว่า"พระปิยมหาราช" แปลว่า มหาราชผู้ทรงเป็นที่รัก, "พระพุทธเจ้าหลวง", พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย[31] และ พระบิดาแห่งการถ่ายภาพไทย[32]
พระบรมราชานุสรณ์
พระราชสันตติวงศ์
พระมเหสี เจ้าจอมมารดา และเจ้าจอม
พระราชโอรสและพระราชธิดา
หากไม่นับรวมรัชกาลที่ 1-4 แล้ว ถือว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบรมอรรคราชบรรพบุรุษของพระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ โดยเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถของพระมหากษัตริย์ไทย 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสมเด็จพระบรมอัยกาธิราชของพระมหากษัตริย์ไทยอีก 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร และพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รวมถึงยังเป็นสมเด็จพระบรมปัยกาธิราชของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พงศาวลี
[แสดง]พงศาวลีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. ราชสกุลวงศ์. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2554. 296 หน้า. ISBN 978-974-417-594-6
- เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) (๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๑). "พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔". ห้องสมุดดิจิทัลวชิรญาณ. สืบค้นเมื่อ 25 สิงหาคม 2560.
- พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ.พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.MBA.กรุงเทพมหานคร.2536
ดูเพิ่ม
ภาษาอื่น
- "หนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี ทางค้าขาย แลการเดินเรือในระหว่างกรุงสยามกับกรุงยี่ปุ่นทำที่กรุงเทพฯ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 15 (14): 148. 3 กรกฎาคม ร.ศ. 117. สืบค้นเมื่อ 27 สิงหาคม 2560.
-
- ราชสกุลวงศ์, หน้า 104 (เชิงอรรถ)
-
- กก.ชำระประวัติศาสตร์ เผยหลักฐาน ร.5 ทรงครองราชย์ 42 ปี จากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2553
-
- พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๓๑. สมเด็จพระนางรำเพยภมราภิรมย์ประสูติเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
-
- พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๑๐๘. พระราชพิธีรับพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
-
- พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๑๖๑. โสกันต์สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
-
- พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๑๖๕. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ทรงพระผนวชสามเณร
-
- พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๑๖๘. สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ถวายเทศนามหาชาติ
-
- พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔ : ๑๙๕. ตั้งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นกรมขุนพินิตประชานาถ
-
- วุฒิชัย มูลศิลป์ และคณะ, พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์, อัลฟ่า มิเล็นเนียม, ISBN 974-91048-5-4
-
- แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, หม่อมราชวงศ์, พระอภิเนาว์นิเวศน์ พระราชนิเวศน์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, สำนักพิมพ์มติชน, 2549 ISBN 974-323-641-4
-
- ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗
-
- ราชกิจจานุเบกษา, ข่าวสวรรคต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว, เล่ม 27, ตอน 0ง, 30 ตุลาคม พ.ศ. 2453, หน้า 1782
-
- วิจิตรวาทการ, น.พ.วิบูล (สิงหาคม 2544). พระปิยมหาราช รัฐกิจและชีวิตส่วนพระองค์ (2 ed.). 217 ซอยสุขุมวิท 20 แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร: บริษัท สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด. ISBN 974-7481-07-3.
-
- "พระบรมราชโองการ ประกาศ เรื่อง การพระเมรุพระบรมศพ" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 27 (ก): 43. 11 ธันวาคม ร.ศ. 129. สืบค้นเมื่อ 21 เมษายน พ.ศ. 2562.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 43.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 43-44.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 34.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 35-36.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 36-37.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 37.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 38-39.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 40.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 41.
-
- โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. หน้า 42.
-
- https://readthecloud.co/notenation-la-tour-eiffel/
-
- พระปิยมหาราช ทรงเป็นกวีเอก อีกพระองค์หนึ่ง ชึ่งมีผลงานพระราชนิพนธ์ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง
-
- สนเทศน่ารู้ : พระราชลัญจกรประจำรัชกาล, สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
-
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2446/035/603.PDF
-
- https://www.navy.mi.th/index.php/history/detail/history_id/14
-
- http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2559/E/247/1.PDF
-
เข้าชม : 560
|