[x] ปิดหน้าต่างนี้
 




อัตลักษณ์ผู้เรียน "
สุขภาพดี   มีงานทำ   อยู่อย่างพอเพียง"   เอกลักษณ์สภานศึกษา "สถานศึกษาพอเพียง"


 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
วันที่ ๒๕ พฤศจิกายน \"วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า\"

พุธ ที่ 23 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2565


 







 
"วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า" เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของคณะลูกเสือแห่งชาติ และบรรดาลูกเสือ เนตรนารี บุคลากรทางการลูกเสือ ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า คือ เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย บรรดาลูกเสือทุกหน่วยเล่า ล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และพร้อมใจกันแสดงความกตัญญูกตเวทิตาธรรม ด้วยการมาร่วมวางพวงมาลา และถวายราชสดุดี ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ กับทั้งเชิญชวนลูกเสือ เนตรนารี และบุคลากรทางการลูกเสือ ประกอบพิธีถวายราชสดุดี และร่วมปฏิบัติกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์โดยพร้อมเพรียงกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งเป็นประเพณีของลูกเสือที่ปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อถวายเป็นราชสักการะพระผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระวิสัยทัศน์กว้างไกล ทรงเห็นว่าประเทศชาติจะมีความมั่นคงได้นั้น ต้องมีกำลังกองทัพที่มีคุณภาพ ประชาชนมีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จึงทรงตั้ง กองเสือป่า และนำเยาวชนมาฝึกอบรมตามหลักวิชาการทหาร เพื่อเป็นกำลังสำรองในการป้องกันประเทศ

ต่อมาได้ทรงเล็งเห็นถึงการปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักหน้าที่ ในการประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง จึงทรงตั้ง กองลูกเสือ ขึ้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระองค์ได้ทรงดำเนินการตราพระราชบัญญัติ ระเบียบ ข้อบังคับ ลักษณะการปกครอง และฝึกอบรมลูกเสือในกองที่ตั้งใหม่ด้วยพระองค์เอง และมีพระราชประสงค์ให้นำกิจการลูกเสือไปเผยแพร่ตามโรงเรียนต่าง ๆ ในทุกมณฑลของประเทศ เพื่อฝึกอบรมเด็กและเยาวชนของชาติ ไว้เป็นกำลังในการป้องกันชาติบ้านเมือง และเป็นพลเมืองดี เห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงทำให้กิจการลูกเสือมีความเจริญรุ่งเรือง และพัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปตามกาลสมัยจวบจนปัจจุบัน 

        ในโอกาสอันสำคัญนี้ จึงควรได้น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระราชปณิธานของผู้พระราชทานกำเนิดลูกเสือไทย ที่ได้ทรงมุ่งหมายไว้ว่า ลูกเสือ เนตรนารี เป็นผู้มีระเบียบวินัย ไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น ที่สำคัญคือ มีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ประพฤติชอบด้วยกาย วาจา และใจ ตามกฎของลูกเสือทั้ง 10 ข้อ และคติพจน์ของลูกเสือ ความว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”
ขอเชิญชวนให้ลูกเสือ เนตรนารีทุกคน ได้มีความตั้งมั่น พยายามที่จะบำเพ็ญตนให้สมดังพระราชประสงค์ ประพฤติปฏิบัติได้ตามคำปฏิญาณ และกฎของลูกเสือ ซึ่งเชื่อมั่นได้ว่า จะเป็นผลดีต่อตนเอง สังคม ตลอดจนประเทศชาติ อันเป็นที่รักยิ่ง ผลดังกล่าวนั้น หากดวงวิญญาณทรงทราบด้วยญาณวิถีใด ๆ ก็ตาม คงจะโสมนัสปิติยินดี ที่พระราชปณิธานของพระองค์ สำเร็จสมดังพระราชประสงค์ทุกประการ

        พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพ เมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติ เมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และเสด็จสวรรคต เมื่อ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 45 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 15 ปี

       พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอัจฉริยภาพและทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจในหลายสาขา ทั้งด้านการเมืองการปกครอง การทหาร การศึกษา การสาธารณสุข การต่างประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือด้านวรรณกรรมและอักษรศาสตร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์บทร้อยแก้วและร้อยกรองไว้นับพันเรื่อง กระทั่งทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเมื่อเสด็จสวรรคตแล้วว่า "สมเด็จพระมหาธีราชเจ้า" พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ใน พระราชวงศ์จักรีพระองค์แรกที่ไม่มีวัดประจำรัชกาล แต่ได้ทรงมีการการสถาปนาโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือวชิราวุธวิทยาลัยในปัจจุบัน ขึ้นแทน ด้วยทรงพระราชดำริว่าพระอารามนั้นมีมากแล้ว และการสร้างอารามในสมัยก่อนนั้นก็เพื่อบำรุงการศึกษาของเยาวชนของชาติ จึงทรงพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนขึ้นแทน
  
        พระมหากรุณาธิคุณพระองค์ได้ทรงนำความเจริญหลายอย่างมาสู่พระราชอาณาจักรเป็นการต่อยอดจากที่รัชกาลที่ 5 ทรงทำไว้ เช่น ทรงหันมาส่งเสริมการศึกษาด้วยการตั้งโรงเรียนแทนการสร้างวัด ทรงริเริ่มตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นแห่งแรก ทรงตั้งโรงเรียนเพาะช่าง โรงเรียนฝึกหัดครูสตรี โรงเรียนพาณิชยการ โรงเรียนประชาบาล ทรงริเริ่มจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ตรา พ.ร.บ.ประถมศึกษา ริเริ่มกิจการลูกเสือและอนุกาชาด  ทรงปรับปรุงกฎหมายและกิจการศาล ตั้งเนติบัณฑิตยสภา ตั้งกรมสรรพากร กรมตรวจเงินแผ่นดิน ทรงทดลองการปกครองในเมืองจำลองชื่อดุสิตธานี ยกเลิกหวย ก.ข. และการพนันบ่อนเบี้ย ตรา พ.ร.บ.นามสกุลเป็นครั้งแรก  เริ่มนำ “พุทธศักราช” มาใช้ พระราชทานแบบธงไตรรงค์ ทรงนำสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 จนได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายอยู่ข้างผู้ชนะ ทรงกำหนดคำนำหน้านามว่านาย นาง นางสาว เด็กหญิง เด็กชาย  ทรงขยายทางรถไฟทั่วประเทศ โปรดฯให้สร้างสะพานพระราม 6 ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นครั้งแรก สร้างเขื่อนพระราม 6 เป็นเขื่อนแรก สร้างวชิรพยาบาลและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทรงตั้งสถานเสาวภา และทรงเป็นประธานสร้างพระบรมรูปทรงม้า  ทรงแตกฉานในภาษาและวรรณคดีอังกฤษทั้งที่ทรงเป็นทหาร แต่ก็ทรงตีความวรรณกรรมของเชคสเปียร์แตก และทรงสามารถถ่ายทอดเป็นวรรณกรรมไทยด้วยโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอนอันไพเราะ  บทพระราชนิพนธ์ประเภทโขน ละครของพระองค์มีถึง 170 เรื่อง บทความหนังสือพิมพ์มีถึง 400 เรื่อง สารคดี 160 เรื่อง นิทาน 160 เรื่อง  

        ใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก

        พระองค์ทรงครองราชย์สมบัติได้ถึงปีที่ 15 ก็ทรงพระประชวรโรคพระโลหิตเป็นพิษ ในพระอุทร โดยเป็นมาตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ภายหลังจาก พระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้นมา และสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมานในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 โดยได้อัญเชิญพระบรมศพไปประดิษฐาน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รวมพระชนมพรรษาได้ 46 พรรษา และเสด็จดำรงสิริราชสมบัติได้ 15 พรรษา แต่เนื่องจากเวลาที่พระองค์เสด็จสวรรคต เป็นเวลา 1 นาฬิกา 45 นาทีนั้น เพิ่งจะล่วงมาในวันที่ 26  พฤศจิกายน เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชประสงค์ ให้ถือเอาวันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันสวรรคต และวันที่ 26 พฤศจิกายน เป็นวันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ

        ทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ปลุกให้คนไทยหันมารักชาติ คือรักบ้านเมือง รักความเป็นไทย รักอิสระ รักหนังสือไทย ภาษาไทย และรู้รักสามัคคี

        ดังนั้น ทางราชการจึงได้กำหนดให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกวันมหาธีรราชเจ้า



พระนามเต็ม
        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเต็มว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์วรขัตติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สูรสันตติวงศวิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยวิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ บุริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุทธสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศล ประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร บรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษฏาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัยพุทธาธิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์ อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณา สีตลหฤทัย อโนมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"
        ต่อมาใน พ.ศ. 2459 ได้ทรงเปลี่ยนคำนำหน้าพระปรมาภิไธยของพระองค์เองใหม่ว่า "พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ อรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ ฯลฯ พระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว"
 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://sites.google.com/a/hi-supervisory5.net/npt2/theskal/wan-thirrach-cea?overridemobile=true


เข้าชม : 210


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      2 เมษายน 2567 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี 9 / เม.ย. / 2567
      ศูนย์ส่งเสรเิมการเรียนรู้อำเภอเมืองตรัง ขอเชิญร่วมลงนาม น้อมรำลึกพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เนื่องในวันชาติและวันพ่อแห่งชาติ 3 / ธ.ค. / 2566
      ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองตรัง เปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ ภาคเรียนที่ 2/2566 ตั้งแต่บัดนี้ - 31 ตุลาคม 2566 สนใจสมัครได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้อำเภอเมืองตรัง ไม่เว้นวันหยุดราชการ 18 / ต.ค. / 2566
      วันที่ 12 สิงหาคม 2566 วันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 / ส.ค. / 2566
      ๒๘ กรกฎาคม วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 2 / ก.ค. / 2566


 
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย  อำเภอเมืองตรัง
ถนนพัทลุง ตำบลทับเที่ยง  อำเภอเมือง  จังหวัดตรัง 92000 โทรศัพท์ 075-216886 โทรสาร 075-216886 
http://trang.nfe.go.th/nfe02   mail : nfetrang@gmail.com
สล็อตเว็บตรง Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05