[x] ปิดหน้าต่างนี้
 




 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
แหล่งท่องเที่ยว/แหล่งเรียนรู้ตำบลนาตาล่วง

อังคาร ที่ 1 เดือน มีนาคม พ.ศ.2565


 

                     แหล่งท่องเที่ยว/แหล่งเรียนรู้ตำบลนาตาล่วง

เขาสามบาตร เป็นภูเขาลูกโดดขนาดย่อม ตั้งอยู่ในเขตธรณีสงฆ์ วัดไพรสณฑ์ หมู่ที่ 4 ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง ห่างจากตัวจังหวัดตรังไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 5 กิโลเมตร ภายในมีถ้ำอยู่ 2 แห่ง คือ ถ้ำสามบาตรและ ถ้ำลูกยองโดยปรากฏมีหลักฐานทางโบราณคดี ทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ อยู่ร่วมกันภายในถ้ำจำนวนมาก

ชาวบ้านแถบนั้นเล่าต่อๆ กันมาว่า ภายในถ้ำแห่งนี้ ได้มีผู้นำทรัพย์สมบัติมาซุกซ่อนไว้มากถึง 3 บาตรพระ พร้อมกับผูกปริศนาลายแทงเอาไว้ว่า ขึ้นต้นขาม (มะขาม) ข้ามต้นทึง (กระทิง) ถึงต้นข่อยคอย (ก้ม) ลงมา ไม้ค่า (แค่) วา คัดออก ใครทายออกกินไม่รู้สิ้นแต่ปริศนานี้ชาวบ้านเล่าด้วยว่าได้มีเจ้านายคนหนึ่งขี่ช้างมาแก้ปริศนานั้นตก และได้เอาสมบัติออกไปทั้งหมดแล้ว

เมื่อ พ.ศ.2454 สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ เคยเสด็จมาที่ เขาสามบาตรและได้ทรงบันทึกเรื่องการพบรอยบันทึกบนผนังถ้ำแห่งนี้เอาไว้ โดยทรงวินิจฉัยว่าเป็นอักษรไทยสมัยอยุธยา และมีรูปลักษณ์แบบเดียวกับตัวหนังสือที่วัดป่าโมกข์ ร่วมสมัยพระเจ้าท้ายสระ (พ.ศ.2252-2275)

ต่อมา พ.ศ.2519 นายวรรณยุทธ ณ วิลาศ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 9 ได้เข้าไปสำรวจทางด้านโบราณคดี และรายงานว่าเป็นถ้ำที่มีหนังสือไทยจารึกไว้บนผนัง จากนั้น พ.ศ.2523 คณะโครงการสำรวจแหล่งโบราณคดี และโบราณสถานภาคใต้ กรมศิลปากร ได้เข้าไปสำรวจ เขาสามบาตรซ้ำอีก และบันทึกว่าพบจารึกอักษรไทยสมัยอยุธยา และหลักฐานก่อนสมัยประวัติศาสตร์ คือภาชนะดินเผา และเครื่องมือหิน

จากนั้น พ.ศ.2533 ชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โรงเรียนสภาราชินี จ.ตรัง ได้เข้าไปทำการสำรวจอีกครั้ง และพบหลักฐานทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์ อยู่ร่วมกันเช่นเดียวกับรายงานของคณะอื่นๆ นอกจากนั้น ทางชมรมยังได้พบหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง ที่ยังไม่มีการบันทึกไว้ในรายงานการสำรวจฉบับอื่นๆ คือภาพเขียนสีรูปทรงคล้ายภูเขาสามลูกต่อกันที่อยู่ในซอกผนัง ถ้ำสามบาตร

สำหรับลักษณะทั่วไปของ เขาสามบาตรคือบริเวณปากถ้ำกว้าง 4 เมตร และอยู่สูงจากระดับพื้นดิน 3-4 เมตร เพดานถ้ำมีลักษณะโค้งรูปโดม ส่วนตามผนังมีหลืบเป็นซอกเล็กๆ หลายหลืบ โดยภายในถ้ำจะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่ ถ้ำส่วนหน้าเริ่มตั้งแต่ปากถ้ำเข้าไปประมาณ 4 เมตร หลังจากนั้นจะเป็น ถ้ำเสาภูมิซึ่งเป็นจุดที่พื้นถ้ำเริ่มลาดชันลงไป จนถึงหินงอกเป็นรูปเสาค้ำยัน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า เสาภูมิ
ต่อจากนั้นก็จะเป็น ถ้ำพระซึ่งจะไปทะลุช่องหลังสุดของถ้ำด้านทิศใต้ ส่วนบนเพดานมีช่องแสงลอดลงมา จึงทำให้ไม่มืดมาก โดยในอดีตเคยมีพระพุทธรูปปูนปั้นอยู่องค์หนึ่ง แต่ปัจจุบันได้พังทลายไปแล้ว และสุดท้ายคือ ถ้ำน้ำซึ่งแยกออกไปเป็นซอกแคบๆ ยาว 3 เมตร ภายในมีลักษณะกว้าง เพดานไม่สูงนัก และสูงจากระดับพื้นดิน 17 เมตร โดยสามารถไปออกได้อีกทางหนึ่งด้านทิศเหนือ

ส่วนหลักฐานที่พบภายในถ้ำทั้ง 2 แห่งนั้น มีจำนวนมากมาย โดยหลักฐานในสมัยก่อนประวัติศาสตร์มี 3 สิ่งสำคัญ ได้แก่ 1.ภาพเขียนสีแดง พบใน ถ้ำส่วนหน้าโดยอยู่สูงจากพื้นถ้ำ 1.5 เมตร 2.เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ซึ่งมีเนื้อดินหนา สีแดงและสีดำ รูปทรงแตกต่างกันหลายรูปแบบ พบใน ถ้ำเสาภูมิ” “ถ้ำพระและ ถ้ำน้ำและ 3.เครื่องมือหินขวาน หินขัด เปลือกหอย และลูกปัดที่ทำด้วยเปลือกหอย

ขณะที่หลักฐานในสมัยประวัติศาสตร์มี 4 สิ่งสำคัญ ได้แก่ 1.จารึกบนผนังถ้ำ ที่เขียนด้วยอักษรสีแดงบนพื้นสีขาว โดยอยู่สูงจากพื้นถ้ำ 3 เมตร เป็นบันทึกที่บอกเรื่องราวการประดิษฐานพระพุทธรูปในถ้ำ เมื่อ พ.ศ.2157 ที่แปลความได้ว่า พุทธบริษัท มีพระภิกษุ เณร ขุนนาง กรมการเมือง และสัปบุรุษชายหญิง ได้มายกพระพุทธรูปของเดิมซึ่งชำรุดนั้น บูรณะให้ดีขึ้นสมบูรณ์ แล้วร่วมกันฉลองแห่ส่วนบุญกุศล ปรารถนาให้พ้นจากทุกข์

2.เศษภาชนะดินเผา เครื่องใช้ต่างๆ ที่มีเนื้อดินละเอียด สีขาว รูปทรงคล้ายคณโฑ และมีพวยแบบกาน้ำ พบใน ถ้ำน้ำมีทั้งแบบมีลายเชือกทาบ และแบบเรียบ มีสีดำ สีแดง แต่บางภาชนะมีขา ลักษณะคล้ายหม้อสามขา 3.เปลือกหอย มีทั้งหอยน้ำจืด และน้ำเค็ม รวมทั้งหอยประเภทสองฝา และหอยฝาเดียว 4.พระดินดิบ พบใน ถ้ำเสาภูมิแต่ปัจจุบันได้สูญหายไปหมดแล้ว

ปัจจุบัน เขาสามบาตรถือเป็น 1 ใน 20 โบราณสถานของ จ.ตรัง และเทศบาลตำบลนาตาล่วง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ได้เข้าไปพัฒนาในด้านต่างๆ มากมาย เพื่อให้นักท่องเที่ยว และประชาชนสามารถไปเยือนด้วยความสะดวกมากยิ่งขึ้น

เขานาขา ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่ 2 เทศบาลตำบลนาตาล่วง เป็นภูเขาขนาดย่อม ตั้งตระหง่านเด่น บนถนนบายพาสระหว่าง ๔ แยกป่าหมาก กับ ๓ แยกนาขา ซึ่งเป็น

๑ ในสัญลักษณ์ของพื้นที่เทศบาลตำบลนาตาล่วงอีกอย่างหนึ่งมาอย่างยาวนานตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ เล่ากันว่า ชาวบ้านสมัยก่อนต่างอาศัย เขานาขา ในการหาอาหาร และทรัพยากรต่างๆมากมายที่เขาลูกนี้ อาทิ น้ำผึ้ง รังต่อ ไม้ป่า หน่อไม้  สมุนไพร ปุ๋ยมูลค้างคาว  นก นานา ชนิด ชะมด ปัจจุบัน ได้ลดปริมาณลงไป แต่ยังคงอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นแหล่งธรรมชาติอันสวยงาม ของเทศบาลตำบลนาตาล่วงสืบไป

     

 

สระน้ำเทศบาลตำบลนาล่วง

เป็นสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่เทศบาลตำบลนาตาล่วง โดยได้รับการดุแล และสนับสนุน งบประมาณของเทศบาลตำบลนาตาล่วง จุดประสงค์เพื่อเป็นแหล่งกักน้ำ

รูปแบบแก้มลิง เมื่อฤดูฝนซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม เกิดอุทกภัยเกือบทุกปี นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจแก่ประชาชนทั่วไป ที่สัญจรไปมา สามารถชมธรรมชาติ โดยเฉพาะสัตว์น้ำจืดหลายชนิดที่ ทางการนำมาปล่อย เพื่อขยายพันธุ์ นับเป็นแหล่งพักผ่อนใหม่ ที่ให้ความสงบร่มเย็นแก่ผู้มาเยือนได้อย่างสะดวก สบายใจ

 

เขาเทียมป่า หรือเขาจำปา

        เขาจำปา ตั้งอยู่พื้นที่ หมู่ที่ ๕ และ หมู่ที่ ๖ เทศบาลตำบลนาตาล่วง เป็นเขาที่มีป่าไม้ นานาพันธุ์ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์มาก เมื่อความเจริญเข้ามายังเมืองตรัง ความเป็นเมืองขยายวงกว้าง มายังตำบลนาตาล่วง การคมนาคมมีบทบาทในการนำความเจริญเข้ามาอย่างชัดเจน เขาจำปา ได้ถูกถนนตัดผ่านเป็นถนนวงแหวนรอบนอก เชื่อมต่อระหว่างตำบลนาตาล่วงไปยังตำบลบ้านโพธิ์ ต่อมาได้ยกเป็นเทศบาลตำบลนาตาล่วง ถนนสายนี้นับเป็นถนนสายธรรมชาติที่สวยงามไม่แพ้ ถนนสายใดในจังหวัดตรัง

  

 

สวนศรีตรัง

   สวนศรีตรัง เป็นสวนไม้นานาชนิด สร้างด้วยเงินงบประมาณตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2552 บนที่ดินเนื้อที่ 40 ไร่ ในความดูแลครอบครองของกรมทางหลวง ซึ่งต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและพื้นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้ร่วมกันมากยิ่งขึ้น

เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2552 แล้วเสร็จเมื่อ 27 พฤศจิกายน  2552

โดย นายสมพงษ์ อนุยุทธพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นผู้ให้การสนับสนุนการก่อสร้าง มีนายทวี เอื้อศิริพรฤทธิ์ ผู้อำนวยการแขวงการทางตรัง และ นายสมชาย สุวรรณวงศ์ รองผู้อำนวยการแขวงการทางตรัง เป็นผู้ควบคุมดูแลการก่อสร้าง



เข้าชม : 387


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      วันคล้ายวันสถาปนา กรมส่งเสริมการเรียนรู้ 18 พฤษภาคม 2567 18 / พ.ค. / 2567
      กศน.ตำบลนาตาล่วง รับสมัครนักศึกษาใหม่ ภาคเรียนที่ 1/2565 วันที่ 1-30 เมษายน 2565 สมัครเรียน ติดต่อ คุณครูพิชัย นาคสอิ้ง 0843043876 1 / มี.ค. / 2565
      อาชีพหลักของประชาชนเทศบาลตำบลนาตาล่วง 1 / มี.ค. / 2565
      ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตําบลนาตาล่วง 1 / มี.ค. / 2565
      ประเพณีตำบลนาตาล่วง 1 / มี.ค. / 2565


 
กศน.ตำบลนาตาล่วง
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองตรัง
ที่อยู่ ๓๒ หมู่ที่ ๒ ต.นาตาล่วง  อ.เมือง  จ.ตรัง (อาคารอบต.นาตาล่วง) เบอร์โทร ๐๗๕-๒๑๖๘๘๖
e-mail: Jedmun1@hotmail.com

สล็อตเว็บตรง Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05