พระราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต[4] เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น.[5] ในเวลาดังกล่าว ปืนใหญ่บริเวณสนามเสือป่ากัมปนาทขึ้น 21 นัด ในเวลาเดียวกับ ร.ล. สุโขทัย ก็ได้ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติด้วยจำนวนนัดเท่ากัน ทั้งนี้ ตามโบราณราชประเพณี หากประสูติเจ้าฟ้าชายและเป็นเวลากลางวัน คือไม่เกิน 18.00 น. จะยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ 21 นัด หากเลยเวลา 18.00 น. จะเลื่อนเวลาการยิงสลุตไปในวันรุ่งขึ้น หากเป็นเจ้าหญิงจะไม่ยิง โดยมีบันทึกว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จนิวัติพระนคร ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ได้กราบบังคมทูลในนามของพระราชวงศ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า “เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชธิดา เป็นพระองค์แรกแล้วเช่นนี้ ก็ทรงหวังว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คงจะมีพระราชโอรสเป็นพระองค์ถัดไป” [6] พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเชษฐภคินีคือทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นทูลกระหม่อมเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ไม่มีชื่อเล่น อาจเป็นเพราะทรงเป็น “ทูลกระหม่อมชาย” เพียงพระองค์เดียว คำว่า “ชาย” จึงเป็นเสมือนชื่อที่ใช้แทนพระองค์[7]
ขณะพระชนมายุได้หนึ่งพรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตาว่า[8]
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ
|
|
เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
|
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ
|
|
เทเวศรธำรงสุบริบาล
|
อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช
|
|
ภูมิพลนเรศวรางกูร
|
กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์
|
|
บรมขัตติยราชกุมาร
|
พระนาม "วชิราลงกรณ" นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงตั้งถวาย มาจาก "วชิระ" พระนามฉายาทั้งในพระองค์เองและในขณะผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ "อลงกรณ์" จากพระนามเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[9][10] มีความหมายว่า "ทรงเครื่องเพชรหรืออสนีบาต"[11]
เบื้องหลังการตั้งพระนาม
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนาม สมเด็จพระสังฆราชทรงให้ภิกษุทรงสมณศักดิ์ 3 รูป ได้แก่ พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) พระโสภณคณาภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน) และพระครูสมุห์อนุวัฒน์ ไปช่วยกันคิด โดยคิดพระนามต้นส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อทรงเลือกในชั้นหนึ่งก่อน พระนามเหล่านั้นทรงแยกออกเป็น 5 ประเภท คือ[12]
· 1. ลงท้ายด้วยคำ “ลงกรณ” มี ขัตติยลงกรณ คคนาลงกรณ คุณาลงกรณ กกุธาลงกรณ ขัตติยจกริยาลงกรณ
· 2. ลงท้ายด้วยคำ “มงกุฏ” มีขัตติยมงกุฏ วชิรมงกุฏ
· 3. ลงท้ายด้วยคำ “อดุลยเดช” มี กฤดาดุลยเดช ขัตติยาดุลยเดช ประดิพลดุลยเดช
· 4. ลงท้ายด้วยคำ “วุธ” มี กฤตจักราวุธ ขัตติจักราวุธ
· 5. ลงท้ายด้วยคำ “ประชานาถ” มี กฤดาภิพลประชานาถ ประดิพลประชานาถ ปฏิพลประชานาถ
โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ ทรงเลือก “วชิราลงกรณ”
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาและเลือกเฟ้นพระราชทานแก่พระบรมราชปิโยรสด้วยพระองค์เอง โดยประกอบขึ้นมาจากคำอันเป็นสิริมงคล 2 คำ คือคำว่า “วชิระ” กับคำว่า “อลงกรณ”
พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน พ.ศ. 2495 โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2495
เช้าวันรุ่งขึ้น (15 กันยายน) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เริ่มด้วยพอถึงพระฤกษ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทองลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศตามประเพณีพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณีแล้ว พระมหาราชครูเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นพระอู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียนครบรอบตามประเพณี ได้แก่ บรรเลงเพลงมหาชัย บรรเลงเพลงบะหลิ่มและสระบุหร่ง บรรเลงเพลงขับไม้บัณเฑาะว์ และบรรเลงเพลงกราวรา สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย ในการนี้มีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ[13][15][16] นอกจากนี้ ในวันช่วงเช้าของวันที่ 6 เมษายน 2497 อันเป็นวันที่ระลึกมหาจักรี ประชาชนต่างพากันหลั่งไหลมายังท้องสนามหลวง เนื่องจากได้มีประกาศทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีจะทรงพาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ออกให้ประชาชนเฝ้าเป็นครั้งแรกอีกด้วย
การศึกษา
เมื่อทรงพระเจริญมีพระชนมายุได้ 4 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการถวายพระอักษร ได้ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนจิตรลดา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 ในขณะนั้นโรงเรียนนี้ยังตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต ต่อมาจึงได้ย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อที่จะได้ทรงดูแลการศึกษาของทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าทุกพระองค์ได้อย่างใกล้ชิด[18]เหตุผลในการตั้งโรงเรียนจิตรลดาเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระอักษรในบรรยากาศของโรงเรียน ที่มีบุตรธิดาของข้าราชบริพาร ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันร่วมศึกษาด้วย ไม่โปรดที่จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระอักษรเฉพาะองค์กับพระอาจารย์ ถ้าโรงเรียนอยู่ในลักษณะเช่นนี้ เมื่อทรงมีพระราชประสงค์จะทรงแนะนำสิ่งใด โรงเรียนจะได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้ง่ายกว่าที่จะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายของโรงเรียนอื่นที่เขามีแนวปฏิบัติอย่างอื่นมาก่อนแล้ว อีกประการหนึ่ง ทรงทราบว่าโรงเรียนทั่วไปจะไม่กล้าปฏิบัติต่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธออย่างนักเรียนอื่น ทรงเกรงจะได้อภิสิทธิ์ ซึ่งไม่ตรงกับพระราชประสงค์ในการอบรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สำหรับกิจวัตรนั้น มีบันทึกว่าพระองค์ตื่นบรรทมเวลาประมาณ 7.00 น. เสด็จออกกำลังกายวิ่งเล่น ทรงจักรยาน ทรงเล่นหมากฮอส จนเวลาประมาณ 8.00 น. จึงสรงน้ำ เสวย โดยทูลกระหม่อมฟ้าชาย (พระอิสริยยศ) ทรงโปรดเสวยข้าวตุ๋นกับเนย โจ๊ก แกงจืด บวบ และเครื่องไทยมากที่สุด และเสด็จไปโรงเรียนซึ่งตรงเวลาตลอด
ในส่วนของผลการเรียน พระองค์ทรงทำคะแนนวิชาคำนวณได้คะแนนเต็มเสมอ รองลงมาคือวิชาภาษาอังกฤษ วิชาที่โปรดมากอีกอย่างคือวาดเขียนและปั้นรูป นอกเหนือจากนั้น วิชาที่ทรงโปรดมากอีกวิชาคือวิชาลูกเสือ เพราะนอกจากจะได้ทรงออกกำลังกายกลางแจ้งแล้วยังทรงได้ฟังนิทานและได้ทรงร้องเพลงที่สนุกสนานอีกด้วยวันใดที่มีการฝึกลูกเสือสำรองจะทรงตื่นบรรทมเช้ากว่าปกติ เตรียมฉลององค์ลูกเสือด้วยพระองค์เอง สิ่งแรกที่จะทรงทำหลังจากตื่นพระบรรทมก็คือ ขัดหัวเข็มขัดและรองพระบาทสำหรับเครื่องแบบลูกเสือ ทำความสะอาดพระนขาพร้อมสำหรับรับการตรวจอยู่ตลอดเวลา ทูลกระหม่อมฟ้าชายยังทรงเรียนหัดโขน โดยทรงเล่นเป็นตัวลิง ยักษ์ วิรุฬจำบังแปลง และทศกัณฑ์ และทรงโปรดฝึกฝนการขี่ม้า ซึ่งพระองค์ทรงฝึกฝนการขี่ม้าทุกเช้าวันอาทิตย์ เวลา 7.30 น. และบ่ายวันพฤหัสบดี เวลา 16.00 น. นอกจากนี้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ในเดือนธันวาคม ๒๕๐๗ ทูลกระหม่อมฟ้าชายฯ ทรงแสดงโขนเป็นตัวทศกัณฐ์ ทรงรำและทำท่าทางได้แข็งขันสวยงาม นับเป็นการแสดงโขนออกโรงให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ พระบรมราชชนกไม่มีพระราชประสงค์ให้เสด็จฯ ต่างประเทศก่อนพระชนม์ 14–15 ปี เนื่องจากมีพระราชประสงค์จะรอให้ทูลกระหม่อมฟ้าชายเรียนรู้ภาษาไทยได้ดี รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และซาบซึ้งในศาสนาพุทธเสียก่อน ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนคิงส์ มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2509 ทั้งนี้ในคืนวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เวลา ๒๐.๐๐ น. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงปราศรัยกับประชาชนชาวไทย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อทรงอำลาประชาชนชาวไทย ต่อจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 จนถึงปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเดิมทีนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณเสด็จไปทรงศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนรักบี้ตามที่กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงจัดหาไว้ให้แต่ทรงเปลี่ยนพระทัยเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ และผู้อำนวยการโรงเรียน คิงส์ มีด ได้ถวายการแนะนำให้ไปทรงศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ซึ่งมีความ ทันสมัยมากกว่า [26] โดยในระหว่างที่ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ พระองค์ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ทรงทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นการซักฉลองพระองค์ หรือขัดรองพระบาท โดยไม่มีบุคคลอื่นให้ความช่วยเหลือ เฉกเช่นสามัญชนทั่วไป”[27] พระองค์มีพระลักษณะพิเศษด้วยทรงสนพระทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพอยู่เสมอตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระบรมราชชนกมีพระราชดำริเห็นว่า การศึกษาวิชาทหารในประเทศออสเตรเลียมีหลักสูตรสอนกว้างขวางและเข้มงวด ซึ่งหลักสูตรของคิงส์สคูลไม่เหมือนกับที่ได้ทรงศึกษามาในอังกฤษเลย จึงเท่ากับว่าพระองค์จะต้องทรงศึกษาวิชาใหม่ทั้งหมดในชั้นปีสุดท้ายแห่งโรงเรียนคิงส์ ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี แต่พระองค์ก็ทรงมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว และได้รับสั่งออกมาว่า “ต้องสู้เขาให้ได้” ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2513 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย[28] ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2514 โดยในระหว่างการศึกษาพระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าบ้านแมคอาเธอร์เฮาส์ ประจำกองร้อย The Sovering Gompany นอกจากนี้ในด้านกิจกรรมอื่น ๆ ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงโปรดกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างมาก ทรงเล่นได้ทุกตำแหน่งในทีมและเล่นได้ดีมากด้วย ทรงเคยเป็นดารายิงประตูให้กับทีมถึง 5 ประตู ทำให้โรงเรียนคิงส์ได้รับชัยชนะในคราวแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศ พระองค์ยังเคยได้รับถ้วย ซอวอเรน ของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธจากการแข่งขันฟุตบอลมาแล้ว และยังเป็นหัวหน้าบ้านมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ เช่น เป็นผู้ตรวจตรา ดูแลรับผิดชอบในด้านความเรียบร้อยและระเบียบต่าง ๆ ทั่วไป และในตอนเช้าจะมีนักเรียนมาชุมนุมกันเพื่อรายงานกิจกรรมที่ได้กระทำไปแต่เมื่อวันก่อนให้ทราบ โดยเวลาอยู่ในสถานศึกษาพระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับสามัญชนทั่วไป ไม่มีการถือพระองค์แม้แต่น้อย จึงทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระสหายทั่วหน้าไม่โปรดการที่จะทรงใช้สิทธิพิเศษใด ๆ เลย เพราะทรงเห็นว่าการใช้อภิสิทธิ์เป็นการเอาเปรียบผู้อื่นและแสดงความอ่อนแอ และความไม่มีความสามารถของตนเองพระองค์เคยรับสั่งแก่ผู้ใกล้ชิดเสมอว่า “คนเราต้องทำงานเพื่อแลกกับสิ่งที่ตนต้องการไม่ควรรับหรือแสวงหาสิ่งอันใด อันเป็นการได้เปล่าโดยไม่ต้องทำงาน” ]หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงเคนเบอร์รา ในการสอบไล่ในปี พ.ศ. 2515 พระองค์ทรงสอบได้เป็นที่ 7 จาก นักเรียน ทั้งหมด 125 คน นอกจากหลักสูตรทางการทหาร ในวิทยาลัยการทหารดันทรูน นักศึกษาจะต้องเรียนวิชาสามัญด้วย โดยมีวิชาให้เลือก 3 แผนก คือ แผนกวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และอักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์ ในหลักสูตรสามัญทรงเลือกศึกษาต่อในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสนพระทัยในวิชาประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก พันตรีสำเริงได้เขียนหนังสือบรรยายถึงพระอิริยาบถของพระองค์ โดยในข้อความตอนหนึ่งระบุว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดทำอาหารเสวยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทยประเภทเนื้อและผักสด พระองค์ทรงเจียวไข่และปรุงสะเต๊กได้รสดีมาก และโปรดร้องเพลงมาก โดยเฉพาะเพลงของสุเทพ และ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี โดยในระหว่างศึกษาที่วิทยาลัยการทหารดันทรูนนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระนามว่า staff cadet V. Mahidol หรือ นักเรียนนายร้อย วี. มหิดล [32] จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2519
เมื่อนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และ พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร[34]
พระจริยาวัตรขณะประทับอยู่ออสเตรเลีย
พันตรี สำเริง ไชยยงค์ พระอภิบาลของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ประทับอยู่ออสเตรเลียได้เล่าถึงพระจริยาวัตรขณะประทับอยู่ที่ออสเตรเลียว่า โดยปกติในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่บ้านพักของพันตรี สำเริง ไชยยงค์ ซึ่งเป็นพระอภิบาล ที่บ้านเลขที่ 47 กิลโมร์ เครสเซนต์ กาแรน กรุงแคนเบอร่า ทรงซักรีดฉลองพระองค์ ทรงทำความสะอาดรถยนต์พระที่นั่งโฟลคสวาเกน ทรงต่อโมเดลรถถัง รถรบ เครื่องบินทหารแบบต่างๆ ทรงการบ้าน หรือทรงพระสำราญกับการฟังแผ่นเสียงหรือเทปเพลงไทย ทรงร้องเพลง ทรงแต่งละครย่อย แต่งบทเสภาแล้วทรงอัดเทปไว้ส่วนใหญ่ทรงพรรณนาถึงพระองค์ในออสเตรเลีย และความคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยประชาชนผู้ยากจนอยู่เป็นเนืองนิตย์ จะเห็นได้ว่าระหว่างที่ประทับอยู่ในออสเตรเลีย เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ใดได้ทอดพระเนตรเห็นความเจริญ และความอยู่ดีกินดีของชาวออสเตรเลียมักจะทรงรับสั่งเสมอว่าทรงคิดถึงประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะพวกที่ลำบากยากจนต้องอาศัยอยู่ตามแหล่งสลัม พระองค์ทรงดำริอยู่เสมอว่าพระองค์จะหาทางช่วยเหลือประชาชนที่กำลังทุกข์ยากเหล่านี้ให้มีความสุข จะทรงใช้เวลาว่างพินิจพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขด้วยพระองค์เองให้จงได้ [37]
สำหรับพระกิจวัตรในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่โรงเรียนจะปล่อยให้นักเรียนนายร้อยมีนัดเที่ยวกับเพื่อนหญิงได้ แต่ต้องกลับเข้าโรงเรียนก่อนเที่ยงคืน แต่ทูลกระหม่อมไม่เสด็จไปไหน มักทรงอักษรหรือไม่ก็ค้นคว้าอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียน บางครั้งก็ทรงออกกำลังกาย
ในเรื่องการเล่าเรียนนั้น พระองค์ต้องการเรียนรู้ด้วยพระองค์เองว่า นักเรียนนายร้อยที่เรียนเก่งที่สุดของโรงเรียนปฏิบัติตัวและฝึกฝนอย่างไรบ้างเขาจึงเรียนได้เก่ง พระองค์จึงมักจะไปเยือนนักเรียนที่เรียนเก่งถึงบ้านและทรงใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นวัน ๆ เพื่อขอทราบเคล็ดลับและคำแนะนำต่างๆ จากนักเรียนเก่งเหล่านั้น “พระองค์ทรงตรัสเสมอว่า “วันที่สำคัญที่สุดของพระองค์คือวันที่สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518” สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงตั้งพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะเรียนให้ดีที่สุด หรือได้ที่ 1 อย่างพระสหายยากจนของพระองค์จากความอุตสาหะพากเพียรอย่างแรงกล้าทำให้พระองค์สอบวิชาทหารได้เป็นที่ 7 ทูลกระหม่อมยังไม่ทรงยอมท้อถอย พระองค์ยังตั้งพระทัยศึกษาวิชาอื่นอย่างหนัก หลังจากเลิกเรียนแล้ว พอเสวยพระกระยาหารเสร็จพระองค์จะทรงศึกษากับครูพิเศษเพิ่มเติม
พระองค์ยังทรงมีปณิธานในการศึกษาวิชาทหารของออสเตรเลียโดยละเอียด เพื่อที่จะหาวิธีช่วยเหลือให้ทหารตำรวจของพระองค์ได้รับความเป็นธรรมสมกับภาระหน้าที่ที่ต้องเสียสละทั้งความสุขและชีวิต
เข้าชม : 503
|