การจัดพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลวันปิยมหาราชครั้งแรกจัดขึ้นหลังจากปีที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวาย แล้วได้เสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์ ณ พระลานพระราชวังดุสิต หน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม หรือที่เรียกกันว่า “พระบรมรูปทรงม้า”
พระบรมรูปทรงม้า เป็นงานออกแบบของนายช่างชาวฝรั่งเศส สร้างขึ้นจากเงินที่ประชาชนสมทบทุนงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เนื่องในโอกาสที่รัชกาลที่ 5 เถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 40 ปี โดยพระองค์ได้เสด็จฯ ไปทำพิธีเปิดด้วยพระองค์เอง
พระบรมรูปทรงม้า หล่อที่ประเทศฝรั่งเศส โดยนำแบบอย่างมาจากการสร้างพระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส รัชกาลที่ 5 ทรงเลือกโลหะขณะประทับที่กรุงปารีส ในครั้งที่เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อปีพุทธศักราช 2450
องค์พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ยึดติดกับแท่นทองบรอนซ์ที่เป็นม้ายืน ประดิษฐานบนแท่นรองทำจากหินอ่อน สูง 6 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 5 เมตร บริเวณฐานมีจารึกชื่อช่างปั้นและโรงงานหล่อไว้
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นผู้ถวายพระสมัญญานาม “สมเด็จพระปิยมหาราช” อันหมายถึง พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครองสิริราชสมบัติ 42 ปี ทรงประกอบพระราชกรณียกิจสำคัญแก่ประเทศสยามหลายด้าน ได้แก่
พระราชกรณียกิจสำคัญของรัชกาลที่ 5
- พ.ศ.2416 ยกเลิกระบบหมอบกราบ และกำหนดการแต่งกายของทหาร
หลังจากกำหนดให้ทหารสวมเสื้อราชประแตน เพื่อให้ดูเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่สายตาชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยในพระนครมากขึ้น พระองค์ก็ทรงกำหนดยกเลิกการหมอบกราบกษัตริย์
- การเลิกทาส ยกเลิกระบบไพร่ และยกเลิกระบบหมอบกราบ
พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124 ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2448 และมีข้อกำหนดไม่ให้คนที่เป็นไทแล้วกลับไปเป็นทาสอีก
- พ.ศ.2417 สร้างสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน และสร้างโรงเรียนแห่งแรก
ก่อตั้ง โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ปัจจุบันคือ โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ภายในรัชสมัยของพระองค์ก็มีการก่อตั้งโรงเรียนอีกหลายแห่ง ตั้งโรงเรียนวัด และโรงเรียนสอนศาสนาอื่นๆ และประกาศให้มีการนับถือศาสนาโดยอิสระในประเทศไทย ในปีดังกล่าวยังมีประกาศใช้เหรียญที่ทำมาจากทองแดง และธนบัตร ซึ่งประชาชนเรียกว่า “อัฐกระดาษ”
- พ.ศ.2424 ทดลองใช้โทรศัพท์
ทดลองใช้โทรศัพท์สายกรุงเทพฯ-สมุทรปราการ ถือเป็นปีแรกที่ประเทศสยามมีโทรศัพท์ใช้
- พ.ศ.2426 ก่อตั้งกรมไปรษณีย์ โทรเลข
ก่อตั้งระบบไปรษณีย์ โทรเลข ในกรุงเทพฯ เพื่อการสื่อสารในพระนคร
- พ.ศ.2431 ตั้งระบบปกครองส่วนกลางใหม่ และสร้างโรงพยาบาล
ก่อตั้งระบบเขตการปกครอง มณฑล เทศาภิบาล อำเภอ และจังหวัด สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ภายหลังคือ “โรงพยาบาลศิริราช”
- พ.ศ.2433 คนไทยได้ใช้ไฟฟ้าครั้งแรก
ชาวพระนครได้ใช้ไฟฟ้าครั้งแรก หลังจากการสร้างโรงไฟฟ้าครั้งแรกในประเทศไทย
ก่อตั้ง กรมรถไฟ ก่อสร้างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา และเดินรถไฟเอกชนครั้งแรกในปี พ.ศ.2436
- พ.ศ.2436 ก่อตั้งสภากาชาดไทย
สภากาชาดไทย ได้มีส่วนร่วมช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดเหตุสงคราม
- พ.ศ.2452 คนไทยได้มีน้ำประปาใช้ครั้งแรก
ประชาชนได้ใช้น้ำประปาครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2452 จากการยกระดับการผลิตน้ำให้มีความสะอาดได้มาตรฐาน ผ่านการขุดคลองจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จ.ปทุมธานี เข้ามาทางสามเสน
นอกจากนี้ยังมีการสร้างสะพานตัดถนนสายหลักสำคัญในเขตพระนครอีกหลายแห่ง เพื่อขยายเส้นทางคมนาคม เปลี่ยนจากการเดินทางโดยสารทางเรือมาเป็นทางบก