23 ตุลาคม วันปิยมหาราช
ความสำคัญของวันปิยมหาราช
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับสยามประเทศเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการประปา คมนาคม สาธารณสุข ไฟฟ้า ไปรษณีย์ และด้วยพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่งอย่างการเลิกทาส จึงทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า “สมเด็จพระปิยมหาราช”
โดยเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคต ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับปวงชนชาวไทยอย่างมาก เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของราษฎร มีพระมหากรุณาธิคุณ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขให้แก่ประชาชน
ต่อมาในรัชสมัยของรัชกาลที่ 6 ทางราชการจึงได้ประกาศให้ วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นเป็น “วันปิยมหาราช” และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ โดยในวันดังกล่าวหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและภาคเอกชน รวมถึงประชาชนจะมาวางพวงมาลาดอกไม้สักการะ และถวายบังคมที่พระบรมรูปทรงม้า (พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งสร้างตั้งแต่ พ.ศ.2451)
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และทำบุญตักบาตรอุทิศเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในหน่วยงานและโรงเรียน มหาวิทยาลัย จะจัดนิทรรศการเผยแพร่พระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อันเป็นการประกาศเกียรติคุณให้ไพศาลสืบไปอีกด้วย
พระราชกรณียกิจที่สำคัญของรัชกาลที่ 5
- การไปรษณีย์ โปรดให้เริ่มจัดขึ้นในปี พ.ศ.2424 รวมอยู่ในกรมโทรเลข ซึ่งได้จัดขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2412 โดยโทรเลขสายแรกคือ ระหว่างจังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) กับจังหวัดสมุทรปราการ
- การสาธารณสุข เนื่องจากการรักษาแบบยากลางบ้านไม่สามารถช่วยคนได้อย่างทันท่วงที จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200 ชั่ง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลศิริราช เปิดทำการรักษาประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2431
- การไฟฟ้า พระองค์ทรงมอบหมายให้กรมหมื่นไวยวรนาถ เป็นแม่งานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2433
- การคมนาคม วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปขุดดินก่อพระฤกษ์ เพื่อประเดิมการสร้างทางรถไฟไปนครราชสีมา แต่ทรงเปิดทางรถไฟกรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา ก่อน จึงนับว่าเส้นทางรถไฟสายนี้เป็นทางรถไฟแห่งแรกของไทย
- การศึกษา โปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวังคือ “โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ต่อมาโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก คือ “โรงเรียนวัดมหรรณพาราม” และในที่สุดได้โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2435 (ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการ)
- การเลิกทาส เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่ง ที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้รับพระสมัญญาว่าสมเด็จพระปิยมหาราช ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่ามีทาสในแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และลูกทาสในเรือนเบี้ยจะสืบต่อการเป็นทาสไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์จึงได้ประกาศเลิกทาสไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2448
- การประปา ทรงให้กักเก็บน้ำจากแม่น้ำเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี และขุดคลองเพื่อส่งน้ำเข้ามายังสามเสน พร้อมทั้งฝังท่อเอกติดตั้งอุปกรณ์สำหรับการทำน้ำประปาขึ้นในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2452
กิจกรรมและพิธีวางพวงมาลา 23 ตุลาคม 2561 วันปิยมหาราช
1. จุฬาฯ จัดพิธีวางพวงมาลาถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า หน้าหอประชุมจุฬาฯ และลานพระราชวังดุสิต พิธีบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ห้องรับรอง หอประชุมจุฬาฯ ผู้สนใจเข้าร่วมพิธีสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริหารกลาง โทร. 0-2218-3286 หรือ www.cca.chula.ac.th
2. ส่วนกลาง : เวลา 06.45 น. พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ และสามเณร จำนวน 570 รูป ณ พระลานพระราชวังดุสิต เวลา 08.00 น. พิธีวางพวงมาลาและถวายบังคมหน้า พระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ พระลานพระราชวังดุสิต เวลา 19.00 น. พิธีถวายบังคมและจุดเทียน เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ณ ท้องสนามหลวง นอกจากนี้จัดพิธีสวดมนต์ ณ วัดทุกวัดทั่วกรุงเทพมหานคร โดยจะเชิญชวนประชาชนแต่งกายด้วยเสื้อโทนสีชมพูและจัดทำบุญตักบาตร จุดเทียนในสถานที่และบ้านเรือนตามความเหมาะสม
3. ส่วนภูมิภาค : ทุกจังหวัดจะจัดพิธีทำบุญตักบาตร พิธีวางพวงมาลา พิธีถวายบังคมและจุดเทียน เพื่อน้อมรำลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมกับส่วนกลาง ณ ศาลากลางจังหวัด หรือสถานที่ที่เหมาะสม รวมทั้งจัดพิธีสวดมนต์ ณ วัดทุกวัดทั่วประเทศ โดยเชิญชวนให้ประชาชนแต่งกายด้วยเสื้อโทนสีชมพู และจัดทำบุญตักบาตร และจุดเทียนในสถานที่และบ้านเรือนตามความเหมาะสม
4. ต่างประเทศ : สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลไทยในต่างประเทศ จะจัดกิจกรรมตามความเหมาะสม
5. เชิญชวนประชาชนและจิตอาสาทั่วประเทศ ร่วมทำกิจกรรมบำเพ็ญกุศลสาธารณะประโยชน์ ในกิจกรรมจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ อาทิ การทำความสะอาดคูคลอง ถนน สถานที่สาธารณะ กำจัดขยะ แหล่งน้ำที่เพาะพันธ์ยุงลาย และจัดกิจกรรมปลูกป่าทั่วประเทศ เพื่อน้อมรำลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เข้าชม : 722
|