[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 

 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
วันเยาวชนแห่งชาติ 20 กันยายน 2557

พฤหัสบดี ที่ 18 เดือน กันยายน พ.ศ.2557


 
20 กันยายน วันเยาวชนแห่งชาติ
วันเยาวชนแห่งชาติ 2557 ประวัติความเป็นมาความสำคัญ
ภาพกิจกรรมวันเยาวชนแห่งชาติ


ประวัติความเป็นมาความสำคัญของวันเยาวชนแห่งชาติ

       วันเยาวชนแห่งชาติได้เริ่มมีขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2528 หลังจากที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ปี พ.ศ. 2528 เป็นปีเยาวชนสากลดังนั้น เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2528 คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติกำหนดให้วันที่ 20 กันยายน ของทุกปีเป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทรงพระราชสมภพเมื่อ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 และพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ได้ขึ้นครองราชสมบัติขณะยังทรงพระเยาว์
 
     เยาวชน หมายถึง คนในวัยหนุ่มสาว คือผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 - 25 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2528 เยาวชนของชาติ ได้รับการส่งเสริม และพัฒนาให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองพัฒนาชุมชนและพัฒนาประเทศได้อย่างต่อเนื่อง
            
     นอกจากนี้ยังได้มีการส่งเสริมให้เยาวชนที่กระจายกันทั่วประเทศ ได้ตระหนักว่าเยาวชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาชาติให้มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง โดยเริ่มจากการพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีค่านิยมที่ถูกต้อง ภูมิใจและหวงแหนและอนุรักษ์ไว้ซึ่งความเป็นไทย อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย รู้จักการอดออมและประหยัดรวมทั้งการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ ยึดมั่นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข



 นอกจากหน่วยงานของรัฐแล้ว หน่วยงานภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมให้เยาวชนของชาติเป็นทรัพยากรบุคคลมีคุณภาพ และสถาบันทีมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการพัฒนา คือ สถาบันครอบครัว ซึ่งหากผู้ปกครองมีความเข้าใจ เอาใจใส่ ดูแล ทนุถนอม ให้ความรักความอบอุ่นแก่เยาวชนที่อยู่ในความปกครองอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการที่จะนำพาเยาวชนให้เป็นบุคคลที่มีทั้งคุณภาพและคุณธรรม ซึ่งจะพาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในภายภาคหน้า

เป้าหมายของวันเยาวชนแห่งชาติ มี 3 ประการ คือ

        1. เพื่อให้เยาวชนช่วงอายุ 15 - 25 ปี ได้ตระหนักนึกความสำคัญในการพัฒนาตนเอง พัฒนาชุมชน พัฒนาประเทศ
 
        2. เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อประเทศชาติทั้งในด้านคุณภาพคุณธรรม
 
        3. เพื่อให้นโยบายส่งเสริมและพัฒนาเยาวชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่องสัมฤทธิ์ผล



กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเยาวชนแห่งชาติ

        1. จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่ความสำคัญ หน้าที่ ของเยาวชนเพื่อให้เยาวชน และประชาชนทั่วไปได้ตระหนักและเข้าใจ
 
        2. ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมสาธารณประโยชน์กิจการเพื่อการกุศล กิจกรรมในชุมชน ฯลฯ

คำขวัญวันเยาวชนแห่งชาติ

     องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้ปี 2528 เป็นปีเยาวชนสากล โดยใช้คำขวัญ “Participation, Development and Peace” ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบให้วันที่ 20 กันยายนของทุกปี เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ และมอบคำขวัญที่ถอดความเป็นภาษาไทยว่า “ร่วมแรงแข็งขัน ช่วยกันพัฒนา ใฝ่หาสันติ” ซึ่งมีความหมายละเอียดลึกซึ้งต่อเยาวชนทุกคน สามารถยึดถือและนำไปปฏิบัติดังนี้
 
     ร่วมแรงแข็งขัน (participation) หมายถึง การยอมรับในศักยภาพของแต่ละบุคคล ที่จะสามารถวินิจฉัยและตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับตนเอง และตระหนักว่าตนมีโอกาส ได้ใช้โอกาสและพึงพอใจที่ได้ใช้โอกาสด้วยตนเองอย่างเกิดคุณค่าโดยไม่ตกเป็น เครื่องมือของผู้ใด การที่เยาวชนสามารถมีส่วนร่วมและมีบทบาทต่อชาติบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ นั้น เป็นความสำเร็จของสังคมและประเทศชาติที่สำคัญ
 
     ช่วยกันพัฒนา (development) การพัฒนานั้นมองได้ 2 มิติ มิติหนึ่งคือ การพัฒนาตนเองของแต่ละบุคคล และอีกมินิหนึ่งคือ การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญ และอีกมิติหนึ่งคือการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ หากบุคคลพัฒนาตนเองได้ดีก็จะเป็นกำลังสำคัญและมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคมและ ประเทศชาติ ขณะเดียวกัน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติก็จะเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาของบุคคลด้วย กระบวนการพัฒนา 2 ส่วนนี้ จึงมีความต่อเนื่อง สัมพันธ์กัน และในสภาวะปัจจุบัน ความร่วมมือในระดับนานาชาติ จะมีผลอย่างสำคัญยิ่งต่อความก้าวหน้าในการพัฒนาประเทศ
 
     ใฝ่หาสันติ (peace) สันติภาพเป็นหลักการพื้นฐานของชีวิต ความต้องการสันติภาพ เป็นความต้องการของสากลโลก ซึ่งทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันเพื่อให้เกิดสันติภาพและดำรงคงไว้ คนหนุ่มสาวจึงต้องร่วมมือกันในเรื่องนี้ ผลักดันให้เกิดมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นในวิถีการพัฒนาด้วยสันติ และสร้างสำนึกสันติภาพ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกฝังสั่งสอนเยาวชนให้รู้จักเคารพในศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ และสิทธิมนุษยชน มีความอดกลั้น ความเป็นประชาธิปไตย และเสรีภาพพื้นฐาน

ความเป็นมาของเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ
      ในปี พ.ศ.2517 สำนักเยาวชนแห่งชาติ ได้เสนอต่อคณะกรรมการบริหารและประสานงานเยาวชนแห่งชาติว่า เพื่อประสิทธิภาพและความมั่นคงในการดำเนินงานเยาวชนแห่งชาติ สมควรที่ขอรับพระราชทาน “เครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ผูกพันพลังน้ำใจ และเป็นเครื่องยึดมั่นสักการบูชาร่วมกันของบรรดาเยาวชน กลุ่มเยาวชน และหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับเยาวชน จึงได้เสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งสำนักพระราชเลขาธิการได้นำความกาบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระ บาท แล้ไม่ทรงขัดข้อง จึงมีพระบรมราชานุญาตให้นำพระมหาพิชัยมงกุฎประดับบนส่วนยอดเครื่องหมายเยวชน แห่งชาติ
ความหมายเครื่องหมายเยาวชนแห่งชาติ
     เครื่องหมายเยาวชนนี้ได้รับพระราชทาน และพระบรมราชานุญาตให้ใช้พระมหาพิชัยมงกุฎบนส่วนยอดของเครื่องหมาย เพื่อเป็นมิ่งขวัญ กำลังใจ และศิริมงคลแก่ชีวิตของเยาวชน รูปลักษณะของเครื่องหมายนี้เป็นรูปโล่สีธงชาติ มีอักษรคำว่า “เยาวชน” สีขาวอยู่ในวงกลมพื้นสีเขียว เบื้องบนเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ มีรัศมีอุณาโลม เบื้องล่างมีอักษรสีแดงว่า พลังพัฒนาชาติ รองรับด้วยรวงข้าว 9 รวง แยกอยู่ทางด้านขวา 5 รวง ด้านซ้าย 4 รวง ซึ่งสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้อธิบายได้ดังนี้คือ
 
         1. พระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นเครื่องหมายแทนองค์พระมหากษัตริย์ องค์ประมุขสูงสุดของประเทศ ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะ และเป็นจุดรวมน้ำใจของคนทั้งประเทศ
 
         2. รัศมีที่พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง พระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งหมายความว่า เยาวชนไทยนั้นอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือได้รับพระบารมีปกเกล้าฯ
 
         3. อุณาโลม หมายถึง หว่างพระขนงของพระพุทธเจ้า ใช้เป็นเครื่องหมายแทนศาสนา
 
         4. อักษรเยาวชนสีขาวในพื้นวงกลมสีเขียวรูปโล่สีธงชาติ หมายถึง พลังอันบริสุทธิ์แห่งความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของเยาวชนไทย อันจะนำไปสู่ความสำเร็จ การเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาการกสิกรรม อันเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
 
         5. รวงข้าวทั้ง 9 รวง มีความหมายถึง เป้าหมายในการพัฒนาเยาวชนทั้ง 9 ประการ ตามนโยบายเยาวชนแห่งชาติ โดยที่รวงข้าวหมายถึง ความเติบโตงอกงาม ฉะนั้น คุณลักษณะ 9 ประการที่จะปลูกฝังให้เกิดขึ้นในตัวเยาวชน จึงเปรียบเสมือนคุณสมบัติที่จะงอดงามขึ้นตามตัวเยาวชน
 
         6. อักษรว่า พลัง พัฒนาชาติ เป็นคำขวัญ เพื่อเตือนใจเยาวชนให้ตระหนักว่า พวกเขานั้นมีพลังบริสุทธิ์อันหนักแน่น จริงจัง ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้มากในการช่วยพัฒนาประเทศชาติ


นโยบายเยาวชนแห่งชาติ
         1.  ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถาบันครอบครัวมีบทบาทหลักในการอบรมเลี้ยงดูเยาวชน ให้เกิดการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่อย่างเต็มที่
 
         2.  สนับสนุนให้องค์กรสำคัญอื่น ๆ ของสังคม เช่นสถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันวิชาชีพ สถาบันการเมืองการปกครองทุกระดับ โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การภาคเอกชน และสถาบันสื่อมวลชนมีบทบาท และประสานร่วมมืออย่างจริงจังและต่อเนื่องในกระบวนการพัฒนาและในการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตของเยาวชนอย่างสร้างสรรค์
 
         3.  สนับสนุนให้บริการแก่เยาวชนทั้งภาคราชการและนอกภาคราชการได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ ทำงานอย่างโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้
 
         4.  สนับสนุนการออกกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเยาวชน
 
         5.  สนับสนุนให้มีการติดตามและประเมินผลการพัฒนาเยาวชนโดยมีดัชนีชี้วัดอย่างเป็นระบบ
 
         6.  ส่งเสริมให้เยาวชนในแต่ละวัย ได้รับบริการตามสิทธิและความต้องการพื้นฐานตามมาตรฐานสากลทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ
 
         7. สนับสนุนให้เยาวชนรู้จักการวิเคราะห์ข้อมูล มีความคิด ความรับผิดชอบ และกล้าตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุผล คุณธรรม จริยธรรม ในกระบวนการปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีความเปลี่ยนแปลง ได้อย่างมีความสุข
 
         8.  สนับสนุนให้เยาวชนสามารถใช้ความรู้ด้านวิทยาการสมัยใหม่บนพื้นฐานภูมิปัญญา หลักธรรมทางศาสนาและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพ
 
         9.  สนับสนุนให้เยาวชนแต่ละวัย มีส่วนร่วมในการส่งเสริมสังคมอย่างสร้างสรรค์ในกิจการของชุมชน และการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างประเทศ
 
 1. ธนากิต. วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541.
2. วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์,2528.
 
"เยาวชน คืออนาคตของโลก สันติภาพโลกจะเกิดขึ้นได้อย่างไร หากเยาวชนเติบโตขึ้นมาสร้าง ปัญหาให้โลกเสียเอง"
 

 ด้วยดำริของพระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) ซึ่งมุ่งมั่นตั้งใจพัฒนาเยาวชนผู้เป็นต้นกล้า แห่งสันติภาพ สู่การเป็นผู้นำเยาวชนต้นแบบด้านศีลธรรมและคุณธรรม หรือ V-Star (The Virtuous Star) ด้วยการปลูกฝังนิสัยดีๆ บนพื้นฐาน 3 ประการ คือ วินัย เคารพ อดทน ผ่านกิจวัตรประจำวันของเด็กๆ โดยร่วมมือกับ 3 สถาบันหลักของสังคมไทย คือ บ้าน วัด โรงเรียน จึงเป็นที่มาของโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก
 
     โครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลกครั้งที่ 1 โดยความทุ่มเทชีวิตและจิตวิญญาณของคุณครูผู้ร่วมบุกเบิกโครงการฯ ทุกๆ ท่าน ประสบความสำเร็จอย่างงดงามในการปั้นเด็กดี V-Star หลายแสนคนขึ้นมาเป็นพลังขับเคลื่อนความดีให้ขยายสู่ครอบครัว และชุมชน อันนำมาซึ่งความชื่นชมยินดีของพ่อแม่ ชุมชน และแม้แต่คุณครูผู้ดูแลโครงการฯ เอง


เข้าชม : 1424


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      (พระราชสมภพ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495) 5 / ก.ค. / 2561
      วันที่ 26 มิถุนายน\" ของทุกปีคือ \"วันสุนทรภู\" 28 / มิ.ย. / 2561
      งานการศึกษาตามอัธยาศัยกับแหล่งเรียนรู้ 5 / มิ.ย. / 2561
      อำเภอยิ้ม...เคลื่อนที่ 4 / มิ.ย. / 2561
      นางสาวมนธญา แสงสิทธิ์ ผอ.กศน.อำเภอวังวิเศษ มอบหมายให้นางอุบลรัตน์ ฤทธิ์รัตน์ บรรณรักษ์ชำนาญการ นางสาวฉวีวรรณ เอียดชูทอง ครู กศน.ตำบลอ่าวตง นายประสิทธิ์ พูดเพราะ ครู ศรช.ตำบลวังมะปราง ได้นำรถโมบายเคลื่อนที่ ส่งเสริมการอ่านให้กับเด็ก - เยาวชนและประชาชนทั่วไ 27 / ธ.ค. / 2560


 
ห้องสมุดประชาชนอำเภอวังวิเศษ  จังหวัดตรัง
ถนนเพชรเกษม ตำบลวังมะปรางเหนือ อำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง 92220  โทรศัพท์ 075-262064 โทรสาร 075-262147
trang@trang.nfe.go.th
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05