สุดยอด 9 โครงการจากพ่อหลวง ร.9 สู่ประชาชน
ตลอดระยะเวลา 70 ปี ในการขึ้นครองราชย์ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 พระองค์มีโครงการมากมายที่ช่วยพัฒนาประเทศ พัฒนาความเป็นอยู่ของพสกนิกรชาวไทยให้ทุกคนได้อยู่ดีมีสุข
1.โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตลดา เกิดขึ้นตั้งแต่งปี พ.ศ. 2504 ซึ่งอยู่ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นราชฐานที่ประทับ เพื่อดำเนินงานเพื่อศึกษาทดลองและวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อให้พสกนิกรอยู่ดีมีสุขตามสมควรแก่อัตภาพ
ในการดำเนินงานโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ โครงการไม่ใช่ธุรกิจ คือโครงการที่พัฒนาด้านเกษตรควบคู่กับการอนุรักษ์ อย่างการทำนาข้าวทดลอง การเพาะพันธุ์ปลานิล ระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานลม และ โครงการอีกประเภทคือโครงการกึ่งธุรกิจ คือโครงการที่นำวัตถดิบทางการเกษตรที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย ผลิตภัณฑ์ที่เรามักพบได้บ่อยอย่าง เช่น นมอัดเม็ดสวนดุสิต ที่ได้จากโรงนมเม็ดสวนดุสิต น้ำผึ้งสวนจิตรลดา จากโรงน้ำผึ้ง และผลไม้อบแห้งต่างๆ จากโรงผลไม้อบแห้ง
นอกจากนี้ โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดายังเป็นพื้นที่ศึกษาทดลองโครงการต่างๆ หลายโครงการ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการดำเนินงานโดยยึดแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรอย่างยั่งยืน
2.โครงการฝนหลวง
ด้วยน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลเดช จากที่พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อปี พ.ศ. 2498 และได้ทรงทราบถึงความแห้งแล้ง การแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรนี้ พระองค์จึงได้ศึกษาค้นคว้าด้านอุตุนิยมวิทยา การดัดแปรสภาพอากาศและทำการทดลองทำฝนเทียม
ต่อมาในปี พ.ศ.2521 ได้เกิดเป็นโครงการ “ฝนหลวง” ขึ้น ในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ด้วยความสำเร็จของ โครงการ จึงได้ตราพระราชกฤษฎีการก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี พ.ศ. 2518 ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเป็นหน่วยงานรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวงต่อไป
ด้วยพระอัจฉริยภาพ พระองค์ทรงอธิบายวิธีการทำ “ฝนหลวง” ไว้ในรูปแบบของการวาดภาพ พร้อมข้อความประกอบ ที่เข้าใจง่าย ซึ่งเป็นตำราฝนหลวง พระราชทานจากฝีพระหัตถ์ของพระองค์เอง
นอกจากนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงได้มีการยกย่องให้พระองค์ทรงเป็น “พระบิดาแห่งฝนหลวง” และกำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันพระบิดาแห่งฝนหลวง
3.เกษตรทฤษฎีใหม่
เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เกี่ยวกับการจัดพื้นที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยจัดสรรพื้นที่ดินและน้ำในอัตราส่วน 30-30-30-10 คือ ขุดสระร้อยละ 30 ปลูกข้าวร้อยละ 30 ปลูกพืชไร่ พืชสวน ร้อยละ 30 ที่อยู่อาศัยร้อยละ 10 ของพื้นที่ทั้งหมด
ในหลักการทฤษฎีใหม่นี้ เป็นการเกษจรแบบผสมผสาน และโดยเฉลี่ยเกษตรกรของไทย จะมีพื้นที่โดยเฉลี่ยครอบครัวละประมาณ 15 ไร่ ซึ่งในการกำหนดการแบ่งพื้นที่อัตรา 30-30-30-10 คือ
1.สระน้ำ 3 ไร่ ลึก 4 เมตร (30 %) สร้างสระขนาดเล็กประมาณ 3 ไร่ ลึก 4 เมตร สำหรับกักเก็บน้ำ เลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำและปลูกพืชรอบขอบสระ
2.พื้นที่ทำนาปลูกข้าว ประมาณ 5 ไร่ (30 %)
3.พื้นที่ปลูกผลไม้และพืชไร่ต่างๆ ตามความเหมาะสม ประมาณ 5 ไร่ (30 %)
4.พื้นที่สร้างบ้านที่อยู่อาศัย คอกสัตว์ เก็บวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ และอื่นๆ ประมาณ 2 ไร่ (10 %)
ซึ่งในโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่นี้ เป็นโครงการที่ช่วยแก้ปัญหาให้ผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และมีความพอเพียง
4.มูลินิธิโครงการหลวง
โครงการหลวง ก่อตั้งขึ้นในปี 2512 ด้วยพระราชประสงค์ของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวให้ชาวเขาในพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อเป็นการหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น
มูลนิธิโครงการหลวงนี้ นอกจากจัดหาพืชให้ชาวเขาแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์ป่าไม้ต้นน้ำไม่ให้ถูกทำลาย และทำลายต้นตอของยาเสพติดที่เป็นปัญหาสำคัญ โดยให้ชาวเขาได้ปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างผักปลอดภัยสารพิษ สมุนไพร ถั่วและธัญพืช ผลไม้ต่างๆ และเกิดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปในชื่อการค้า โครงการหลวง และดอยคำ ทำให้ชาวเขาอยู่ดีกินดีและมีอาชีพที่ดูแลตนเองได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันศูนย์พัฒนาโครงการหลวงนี้ได้มีทั้งหมด 38 แห่ง ในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือ และมีความก้าวหน้ามากขึ้น และเพื่อส่งเสริมอาชีพการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพสิ่งแวดล้อม ปละเป็นที่การศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้ต่างๆ สำหรับทั้งภายในประเทศและในระดับนานาชาติ
5.โครงการฝายแม้ว
ฝายแม้ว เป็นเขื่อนหรือฝายขนาดเล็กชะลอ ซึ่งเป็นชื่อเรียกโครงการตามแนวพระราชดำริ เกี่ยวกับวิศวกรรมแบบพื้นบ้าน โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่นกิ่งไม้ ก้อนหิน เพื่อกั้นชะลอน้ำในลำธาร ให้ไหลช้าลง
ประโยชนืของการสร้างฝายแม้วนั้น นอกจากช่วยกักเก็บน้ำแล้ว ยังช่วยลดการพังทลายของหน้าดิน ช่วยฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้เป็นป่าที่สมบูรณ์ขึ้น ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นอาศัยของสัตว์น้ำ และสามารถใช้เป็นแหล่งน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคได้
โครงการตามแนวพระราชดำรินี้ได้มีการทดลองใช้ที่โครงการห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในปัจจุบัน ได้ประสบผลสำเร็จจนเป็นศูนย์กลางการอบรมและเผยแพร่การศึกษาในการพัฒนาแหล่งน้ำ ป่าไม้ การประมง เกษตรกรรมและอุตสาหกรรม และเป็นตัวอย่างให้กับโครงการอื่น ๆ ต่อมา
6.โครงการแกล้งดิน
โครงการแกล้งดิน เป็นแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่เสด็จเยี่ยมราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาส เมื่อปี พ.ศ. 2524 ทรงพบว่าสภาพดินมีปัญหาดินเปรี้ยวจัดทำให้เพาะปลูกไม่ได้ผล จึงเกิดเป็นโครงการแกล้งดินขึ้น
การแกล้งดิน เป็นการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวหรือดินเป็นกรด โดยกระบวนการเร่งปฏิกิริยาเคมีในดิน ให้เปรี้ยวรุนแรงมีกรดจัด จากนั้นจึงปรับปรุงโดยเติมปูนขาวหรือด่าง ร่วมกับการใช้ระบบชลประทานนำน้ำมาเจือจางดินเปรี้ยวจนสามารถเพาะปลูกได้ พระองค์ทรงได้ศึกษาทดลองที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อสำเร็จพระองค์จึงนำไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ ที่ประสบปัญหา เช่น พรุในจังหวัดนราธิวาส และพื้นที่ดินเปรี้ยวในจังหวัดนครนายก
ซึ่งในการปรับปรุงดิน สามารถเลือกใช้ได้ 3 วิธีการตามแต่สภาพของดินและความเหมาะสม คือ การใช้น้ำชะล้างความเป็นกรด การแก้ไขดินเปรี้ยวด้วยการใช้ปูนผสมคลุกเคล้ากับหน้าดิน และการใช้ปูนควบคู่ไปกับการใช้น้ำชะล้างและควบคุมระดับน้ำใต้ดิน
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์คิดค้นและดำเนินโครงการแกล้งดินนี้ ทำให้พื้นที่แถบนั้นสามารถใช้เป็นพื้นที่ทำกินจนทำให้ราษฎรของพระองค์สามารถดำเนินชีวิตไปสู่ชีวิตที่ดีขึ้นได้
7.โครงการไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์
การศึกษาค้นคว้าวิจัยพลังงานไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ เริ่มขึ้นตั้งแต่ในปี 2528 เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นว่าในอนาคตว่าอาจเกิดการขาดแคลนน้ำมัน พระองค์จึงได้ศึกษาการนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ และนำแอลกอฮอล์มาผลิตเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์
พระองค์ได้ศึกษาวิจัยภายในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา โดยเริ่มตั้งแต่ทดลองปลูกและคัดเลือกพันธุ์อ้อย และรับซื้ออ้อยจากเกษตรกรเพื่อนำมาเป็นวัตถุดิบอีกด้วย และนอกจากนี้ยังมีการผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ อาทิ กากน้ำตาล และมันสำปะหลัง ซึ่งล้วนแต่สามารถจัดหาและปลูกขึ้นได้ใหม่ในเวลาอันสั้น และได้ปรับปรุงทั้งคุณภาพมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง พ.ศ. 2543 พระองค์ทรงได้ทดลองใช้น้ำมันปาล์มกับเครื่องยนต์ดีเซลของกองงานส่วนพระองค์ และไม่ส่งผลกระทบในทางลบต่อเครื่องยนต์ดีเซล
โครงการตามพระราชดำริพลังงานไบโอดีเซลและแก๊สโซฮอล์ แสดงให้เห็นพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลของพระองค์ จึงทำประเทศไทยมีน้ำมันแก๊สโซฮอล์เป็นพลังงานทดแทนใชในปัจจุบัน
8.โครงการแก้มลิง
โครงการแก้มลิง เป็นแนวคิดในพระราชดำริของพระบาทสมพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ตามแนวทางการบริหารจัดการด้านน้ำท่วมล้น และเมื่อปี พ.ศ.2538 จึงมีพระราชดำริ “โครงการแก้มลิง” ขึ้น
โครงการแก้มลิง เป็นแนวคิดที่เกิดจากการที่ลิงอมกล้วยไว้ในกระพุ้งแก้มไว้ได้คราวละมากๆ จึงมีพระราชกระแสอธิบายว่า “ลิงโดยทั่วไป ถ้าเราส่งกล้วยให้ ลิงจะรีบปอกเปลือก เอาเข้าปากเคี้ยว แล้วนำไปเก็บไว้ที่แก้มก่อน ลิงจะทำอย่างนี้จนกล้วยหมดหวีหรือเต็มกระพุ้งแก้ม จากนั้นจะค่อยๆ นำออกมาเคี้ยวและกลืนกินภายหลัง”
โครงการแก้มลิง เป็นการจัดการปัญหาน้ำถ่วมโดยให้มีบึงพักน้ำสำหรับรองรับน้ำช่วงคราวในช่วงหน้าฝน ก่อนจะระบายลงทางระบายน้ำสาธารณะ นอกจากวัตถุประสงค์เพื่อการระบายน้ำแล้ว แนวพระราชดำริแก้มลิงยังผสานแนวคิดในการอนุรักษ์น้ำและสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย โดยน้ำที่ถูกกักเก็บไว้ เมื่อถูกระบายสู่คูคลอง จะไปบำบัดน้ำเน่าเสียให้เจือจางลง และในที่สุดน้ำเหล่านี้จะผลักดันน้ำเสียให้ระบายออกไปได้
9.โครงการหญ้าแฝก
โครงการหญ้าแฝก เป็นโครงการที่ป้องกันการชะล้างพังทลายของดินเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนี่งของประเทศ ที่มีผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน พระบาทสมพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช จึงพระราชทานพระราชดำริให้มีการนำหญ้าแฝกมาใช้ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขี้น
หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลหญ้าชนิดหนึ่ง สามารถพบได้ทั่วไปตามพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งในประเทศไทยมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ กลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกลุ่มและกลุ่มพันธุ์หญ้าแฝกดอน ลักษณะพิเศษของหญ้าแฝกที่นำมาใช้ปลูกในการอนุรักษ์ดินและน้ำนั้น เนื่องจากมีการแตกหน่อรวมเป็นกอ เบียดกันแน่น ไม่แผ่ขยายด้านข้าง ไม่ต้องดูแลมาก ควบคุมการแพร่ขยายได้ แข็งแรงและทนต่อการย่อยสลาย รากยาว สานกันแน่น และช่วยอุ้มน้ำ เป็นที่อาศัยของจุลินทรีย์ ทนทานต่อโรคพืชทั่วไปและอยู่รอดได้ดีในสภาพต่าง ๆ
ด้วยพระวิริยะอุตสาหะและพระปรีชาของพระบาทสมพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ที่ให้กำเนินโครงการหญ้าแฝก เพื่อแก้ปัญหาหน้าดินพังทลายและป้องกันการเสื่อมโทรม สร้างความสมดุลให้ป่าไม้ ทั้งยังช่วยรักษาความสมดุลของระบบนิเวศน์ เป็นแนวทางการปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของพระพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ถือเป็นคำมั่นที่พระองค์มอบให้แก่ปวงชนชาวไทยที่ทำให้เกิดเป็นโครงการมากมายจากพ่อหลวง สู่ประชาชน ให้ประชาชนของพระองค์มีชีวิตที่ดีจนกระทั้งปัจจุบัน
เข้าชม : 160
|