กรณีศึกษานางฝา คนซาไกไร้รัฐแห่งภูเขาบรรทัด อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง : สิทธิในสัญชาติไทยของบุตร
ข้อเท็จจริง
ปรากฏตามแบบสอบถามที่บันทึกโดยนายชุมพล โพธิสาร นักวิจัยแห่งสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยมหิดลว่า นางฝาเป็นบุตรของนายสังหรือที่เรียกกันว่า “เฒ่าสัง” กับนางบ๊ะ ซึ่งเป็นคนเผ่าซาไกหรือมานิกซึ่งอาศัยอยู่มาแต่ดั้งเดิมบนภูเขาบรรทัด ซึ่งทอดยาวในภาคใต้ของประเทศไทย บุพการีบอกว่า นางฝาเกิดที่หมู่บ้านควนไม้ดำ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่า เกิดเมื่อไหร่ บิดาเป็นผู้ทำคลอดให้แก่นางฝา ดังนั้น นางฝาจึงไม่มีเอกสารที่ออกโดยรัฐเพื่อรับรองการเกิดของนางฝา
เดิมบิดามารดาของนางฝามีวิถีชีวิตด้วยการหาเผือกหามันและล่าสัตว์เล็กๆ มาเป็นอาหาร ตามแนวทางสืบทอดที่บรรพบุรุษดำเนินมานับร้อยปี และค่อนข้างที่จะตัดขาดจากโลกภายนอก ชาวซาไกหรือมานิกลุ่มนี้เพิ่งเข้ามาติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนบริเวณใกล้เคียง ในระยะเวลาประมาณ ๓๐ – ๔๐ ปีมานี้ ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวนั้น ชนกลุ่มนี้เป็นที่รู้จักและถูกรบกวนค่อนข้างน้อย เนื่องจากความทุรกันดารของเส้นทางและสภาพป่าทึบที่เป็นปัจจัยสำคัญในการติดต่อสัมพันธ์กับสังคมภายนอก
ข้อมูลจากแบบสอบถามดังกล่าวระบุอีกว่า นางฝาเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้องทั้งหมดซึ่งมี ๗ คน และเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ นางฝาอยู่กินฉันสามีภริยากับนายประดิษฐ์หรือ “นายดำ” ปักษี โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกัน
ปรากฏตามทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยที่ออกโดยอำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรังว่า นายประดิษฐ์ ปักษี เป็นคนสัญชาติไทย
เดิมนายดำเป็นพรานป่าล่าสัตว์ และได้มาพบกับชาวมานิก (ซาไก) กลุ่มของนายสัง บิดาของนางฝา ณ ทุ่งหญ้าคา หมู่ ๒ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ในปัจจุบัน ครอบครัวของนายประดิษฐ์ประกอบอาชีพเกษตรกรรม อันได้แก่ ทำสวนยางพารา หาของป่า
นายประดิษฐ์และนางฝามีบุตรรวมกันทั้งหมด ๙ คน ดังนี้ (๑) นายศักดา ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๙ (๒) นางวรรณดี ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๑ (๓) นางสาวราตรี ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ (๔) นางสาวอำพัน ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ (๕) นายวัฒนา ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ (๖) นางสาวจันทิมา ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๗ (๗) ด.ญ.สาวิตรี ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ (๘) ด.ช.ธวัชชัย ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ และ (๙) ด.ญ.ไพลิน ปักษี ซึ่งเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑
ในปัจจุบัน ครอบครัวของนายประดิษฐ์และนางฝาทั้งหมดอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ ๔๐๑ หมู่ ๒ คานไม้ดำ ตำบลปะเหลียน อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง
แบบสอบถามของนายชุมพลระบุอีกว่า บุตร ๔ คนหลังยังประสบปัญหาความไร้รัฐเพราะไม่ได้รับการแจ้งเกิดในทะเบียนราษฎรแต่อย่างใด เฉพาะแต่บุตร ๕ คนแรกของนางฝาและนายประดิษฐ์ได้รับการแจ้งเกิดและการเพิ่มชื่อในสถานะ “คนสัญชาติไทย” ในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๖ ด้วยความช่วยเหลือของอาจารย์สุรินทร์ ภู่ขจร
ในส่วนของนางฝานั้น แบบสอบถามของนายชุมพลระบุด้วยว่า ไม่สามารถหาผู้ที่สามารถเป็นพยานรับรองการเกิดได้ เนื่องจากนางฝาเกิดอยู่ในป่า และ “เฒ่าสัง” บิดาผู้ทำคลอดได้เสียชีวิตแล้ว ซึ่งเฒ่าสังและนางบ๊ะ บุพการีทั้งสองของนางฝาก็ประสบความไร้สถานะตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเช่นกัน อย่างไรก็ดี มีบุคคลหลายคนที่อาจเป็นพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือได้สำหรับประเด็นการอาศัยอยู่ในประเทศไทยของนางฝา ตลอดจนชาวซาไกหรือมานิกลุ่มของนางฝา
http://www.learners.in.th/blogs/posts/364680
เข้าชม : 824
|