[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
28 กรกฎาคม เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร

พุธ ที่ 8 เดือน กรกฏาคม พ.ศ.2563


 

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 
 
ไปยังการนำทางไปยังการค้นหา
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Rama X official.png
พระมหากษัตริย์ไทย
ครองราชย์ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 – ปัจจุบัน (3 ปี 267 วัน)
ราชาภิเษก 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562
ก่อนหน้า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ผู้สำเร็จราชการ เปรม ติณสูลานนท์
นายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สยามมกุฎราชกุมาร
ดำรงพระยศ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 – 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 (43 ปี 289 วัน)
สถาปนา 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515[1]
ก่อนหน้า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร
 
มเหสี สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
มเหสี-พระสนม
พระราชบุตร
วัดประจำรัชกาล
วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร[2]
ราชวงศ์ จักรี
พระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระราชมารดา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระราชสมภพ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 (67 พรรษา)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
ลายพระอภิไธย

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[3] (พระราชสมภพ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495) เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระองค์มีพระเชษฐภคินีและพระขนิษฐภคินีร่วมพระราชชนนีถึง 3 พระองค์

ปฐมวัย

พระราชสมภพ

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต[4] เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น.[5] ในเวลาดังกล่าว ปืนใหญ่บริเวณสนามเสือป่ากัมปนาทขึ้น 21 นัด ในเวลาเดียวกับ ร.ล. สุโขทัย ก็ได้ยิงสลุตเฉลิมพระเกียรติด้วยจำนวนนัดเท่ากัน ทั้งนี้ ตามโบราณราชประเพณี หากประสูติเจ้าฟ้าชายและเป็นเวลากลางวัน คือไม่เกิน 18.00 น. จะยิงปืนใหญ่เฉลิมพระเกียรติ 21 นัด หากเลยเวลา 18.00 น. จะเลื่อนเวลาการยิงสลุตไปในวันรุ่งขึ้น หากเป็นเจ้าหญิงจะไม่ยิง โดยมีบันทึกว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จนิวัติพระนคร ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 นั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ได้กราบบังคมทูลในนามของพระราชวงศ์ มีใจความตอนหนึ่งว่า “เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชธิดา เป็นพระองค์แรกแล้วเช่นนี้ ก็ทรงหวังว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ คงจะมีพระราชโอรสเป็นพระองค์ถัดไป” [6] พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระเชษฐภคินีคือทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินีสองพระองค์คือสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นทูลกระหม่อมเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ไม่มีชื่อเล่น อาจเป็นเพราะทรงเป็น “ทูลกระหม่อมชาย” เพียงพระองค์เดียว คำว่า “ชาย” จึงเป็นเสมือนชื่อที่ใช้แทนพระองค์[7]

ขณะพระชนมายุได้หนึ่งพรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชทานพระนาม สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนามถวายตามดวงพระชะตาว่า[8]

สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ   เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ   เทเวศรธำรงสุบริบาล
อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช   ภูมิพลนเรศวรางกูร
กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์   บรมขัตติยราชกุมาร

พระนาม "วชิราลงกรณ" นั้น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงตั้งถวาย มาจาก "วชิระ" พระนามฉายาทั้งในพระองค์เองและในขณะผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ "อลงกรณ์" จากพระนามเดิมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[9][10] มีความหมายว่า "ทรงเครื่องเพชรหรืออสนีบาต"[11]

เบื้องหลังการตั้งพระนาม

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงเป็นผู้ตั้งพระนาม สมเด็จพระสังฆราชทรงให้ภิกษุทรงสมณศักดิ์ 3 รูป ได้แก่ พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) พระโสภณคณาภรณ์ (เจริญ สุวฑฺฒโน) และพระครูสมุห์อนุวัฒน์ ไปช่วยกันคิด โดยคิดพระนามต้นส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อทรงเลือกในชั้นหนึ่งก่อน พระนามเหล่านั้นทรงแยกออกเป็น 5 ประเภท คือ[12]

  • 1. ลงท้ายด้วยคำ “ลงกรณ” มี ขัตติยลงกรณ คคนาลงกรณ คุณาลงกรณ กกุธาลงกรณ ขัตติยจกริยาลงกรณ
  • 2. ลงท้ายด้วยคำ “มงกุฏ” มีขัตติยมงกุฏ วชิรมงกุฏ
  • 3. ลงท้ายด้วยคำ “อดุลยเดช” มี กฤดาดุลยเดช ขัตติยาดุลยเดช ประดิพลดุลยเดช
  • 4. ลงท้ายด้วยคำ “วุธ” มี กฤตจักราวุธ ขัตติจักราวุธ
  • 5. ลงท้ายด้วยคำ “ประชานาถ” มี กฤดาภิพลประชานาถ ประดิพลประชานาถ ปฏิพลประชานาถ

โดยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ ทรงเลือก “วชิราลงกรณ”

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงศึกษาและเลือกเฟ้นพระราชทานแก่พระบรมราชปิโยรสด้วยพระองค์เอง โดยประกอบขึ้นมาจากคำอันเป็นสิริมงคล 2 คำ คือคำว่า “วชิระ” กับคำว่า “อลงกรณ”

พระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่

 
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในระหว่างวันที่ 14-15 กันยายน พ.ศ. 2495[13] โดยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2495[14]

เช้าวันรุ่งขึ้น (15 กันยายน) จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพิธี เริ่มด้วยพอถึงพระฤกษ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทองลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศตามประเพณีพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณีแล้ว พระมหาราชครูเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นพระอู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียนครบรอบตามประเพณี ได้แก่ บรรเลงเพลงมหาชัย บรรเลงเพลงบะหลิ่มและสระบุหร่ง บรรเลงเพลงขับไม้บัณเฑาะว์ และบรรเลงเพลงกราวรา สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย ในการนี้มีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ[13][15][16] นอกจากนี้ ในวันช่วงเช้าของวันที่ 6 เมษายน 2497 อันเป็นวันที่ระลึกมหาจักรี ประชาชนต่างพากันหลั่งไหลมายังท้องสนามหลวง เนื่องจากได้มีประกาศทางวิทยุกระจายเสียงและหนังสือพิมพ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีจะทรงพาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ออกให้ประชาชนเฝ้าเป็นครั้งแรกอีกด้วย[17]

การศึกษา

เมื่อทรงพระเจริญมีพระชนมายุได้ 4 พรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เริ่มการถวายพระอักษร ได้ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 โรงเรียนจิตรลดา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 ในขณะนั้นโรงเรียนนี้ยังตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต ต่อมาจึงได้ย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐานสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อที่จะได้ทรงดูแลการศึกษาของทูลกระหม่อมเจ้าฟ้าทุกพระองค์ได้อย่างใกล้ชิด[18]เหตุผลในการตั้งโรงเรียนจิตรลดาเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๙) ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระอักษรในบรรยากาศของโรงเรียน ที่มีบุตรธิดาของข้าราชบริพาร ซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันร่วมศึกษาด้วย ไม่โปรดที่จะให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอทรงพระอักษรเฉพาะองค์กับพระอาจารย์ ถ้าโรงเรียนอยู่ในลักษณะเช่นนี้ เมื่อทรงมีพระราชประสงค์จะทรงแนะนำสิ่งใด โรงเรียนจะได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ได้ง่ายกว่าที่จะต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายของโรงเรียนอื่นที่เขามีแนวปฏิบัติอย่างอื่นมาก่อนแล้ว อีกประการหนึ่ง ทรงทราบว่าโรงเรียนทั่วไปจะไม่กล้าปฏิบัติต่อสมเด็จพระเจ้าลูกเธออย่างนักเรียนอื่น ทรงเกรงจะได้อภิสิทธิ์ ซึ่งไม่ตรงกับพระราชประสงค์ในการอบรมสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สำหรับกิจวัตรนั้น มีบันทึกว่าพระองค์ตื่นบรรทมเวลาประมาณ 7.00 น. เสด็จออกกำลังกายวิ่งเล่น ทรงจักรยาน ทรงเล่นหมากฮอส จนเวลาประมาณ 8.00 น. จึงสรงน้ำ เสวย โดยทูลกระหม่อมฟ้าชาย (พระอิสริยยศ) ทรงโปรดเสวยข้าวตุ๋นกับเนย โจ๊ก แกงจืด บวบ และเครื่องไทยมากที่สุด [19] และเสด็จไปโรงเรียนซึ่งตรงเวลาตลอด[20]

ในส่วนของผลการเรียน พระองค์ทรงทำคะแนนวิชาคำนวณได้คะแนนเต็มเสมอ รองลงมาคือวิชาภาษาอังกฤษ วิชาที่โปรดมากอีกอย่างคือวาดเขียนและปั้นรูป นอกเหนือจากนั้น วิชาที่ทรงโปรดมากอีกวิชาคือวิชาลูกเสือ เพราะนอกจากจะได้ทรงออกกำลังกายกลางแจ้งแล้วยังทรงได้ฟังนิทานและได้ทรงร้องเพลงที่สนุกสนานอีกด้วยวันใดที่มีการฝึกลูกเสือสำรองจะทรงตื่นบรรทมเช้ากว่าปกติ เตรียมฉลององค์ลูกเสือด้วยพระองค์เอง สิ่งแรกที่จะทรงทำหลังจากตื่นพระบรรทมก็คือ ขัดหัวเข็มขัดและรองพระบาทสำหรับเครื่องแบบลูกเสือ ทำความสะอาดพระนขาพร้อมสำหรับรับการตรวจอยู่ตลอดเวลา [21] ทูลกระหม่อมฟ้าชายยังทรงเรียนหัดโขน โดยทรงเล่นเป็นตัวลิง ยักษ์ วิรุฬจำบังแปลง และทศกัณฑ์ และทรงโปรดฝึกฝนการขี่ม้า ซึ่งพระองค์ทรงฝึกฝนการขี่ม้าทุกเช้าวันอาทิตย์ เวลา 7.30 น. และบ่ายวันพฤหัสบดี เวลา 16.00 น.[22] นอกจากนี้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ในเดือนธันวาคม ๒๕๐๗ ทูลกระหม่อมฟ้าชายฯ ทรงแสดงโขนเป็นตัวทศกัณฐ์ ทรงรำและทำท่าทางได้แข็งขันสวยงาม นับเป็นการแสดงโขนออกโรงให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก [23] ทั้งนี้ พระบรมราชชนกไม่มีพระราชประสงค์ให้เสด็จฯ ต่างประเทศก่อนพระชนม์ 14–15 ปี เนื่องจากมีพระราชประสงค์จะรอให้ทูลกระหม่อมฟ้าชายเรียนรู้ภาษาไทยได้ดี รู้จักขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และซาบซึ้งในศาสนาพุทธเสียก่อน[24] ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนจิตรลดาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อ ณ โรงเรียนคิงส์ มีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ประเทศอังกฤษ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2509 ทั้งนี้ในคืนวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เวลา ๒๐.๐๐ น. สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ทรงปราศรัยกับประชาชนชาวไทย ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อทรงอำลาประชาชนชาวไทย [25] ต่อจากนั้นเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซอมเมอร์เซท เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2509 จนถึงปี พ.ศ. 2513 ซึ่งเดิมทีนั้นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณเสด็จไปทรงศึกษาต่อในชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนรักบี้ตามที่กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงจัดหาไว้ให้แต่ทรงเปลี่ยนพระทัยเมื่อครั้งเสด็จเยี่ยมสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอฯ และผู้อำนวยการโรงเรียน คิงส์ มีด ได้ถวายการแนะนำให้ไปทรงศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ซึ่งมีความ ทันสมัยมากกว่า [26] โดยในระหว่างที่ทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ พระองค์ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า “ทรงทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นการซักฉลองพระองค์ หรือขัดรองพระบาท โดยไม่มีบุคคลอื่นให้ความช่วยเหลือ เฉกเช่นสามัญชนทั่วไป[27] พระองค์มีพระลักษณะพิเศษด้วยทรงสนพระทัยในกิจการเกี่ยวกับกองทัพอยู่เสมอตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ พระบรมราชชนกมีพระราชดำริเห็นว่า การศึกษาวิชาทหารในประเทศออสเตรเลียมีหลักสูตรสอนกว้างขวางและเข้มงวด ซึ่งหลักสูตรของคิงส์สคูลไม่เหมือนกับที่ได้ทรงศึกษามาในอังกฤษเลย จึงเท่ากับว่าพระองค์จะต้องทรงศึกษาวิชาใหม่ทั้งหมดในชั้นปีสุดท้ายแห่งโรงเรียนคิงส์ ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี แต่พระองค์ก็ทรงมีความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว และได้รับสั่งออกมาว่า “ต้องสู้เขาให้ได้” ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2513 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์ทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศออสเตรเลีย[28] ทรงเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2514 โดยในระหว่างการศึกษาพระองค์ทรงได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าบ้านแมคอาเธอร์เฮาส์ ประจำกองร้อย The Sovering Gompany [29] นอกจากนี้ในด้านกิจกรรมอื่น ๆ ทูลกระหม่อมฟ้าชายทรงโปรดกีฬาฟุตบอลเป็นอย่างมาก ทรงเล่นได้ทุกตำแหน่งในทีมและเล่นได้ดีมากด้วย ทรงเคยเป็นดารายิงประตูให้กับทีมถึง 5 ประตู ทำให้โรงเรียนคิงส์ได้รับชัยชนะในคราวแข่งขันฟุตบอลชิงชนะเลิศ พระองค์ยังเคยได้รับถ้วย ซอวอเรน ของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธจากการแข่งขันฟุตบอลมาแล้ว และยังเป็นหัวหน้าบ้านมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านต่าง ๆ เช่น เป็นผู้ตรวจตรา ดูแลรับผิดชอบในด้านความเรียบร้อยและระเบียบต่าง ๆ ทั่วไป และในตอนเช้าจะมีนักเรียนมาชุมนุมกันเพื่อรายงานกิจกรรมที่ได้กระทำไปแต่เมื่อวันก่อนให้ทราบ โดยเวลาอยู่ในสถานศึกษาพระองค์ทรงปฏิบัติพระองค์เช่นเดียวกับสามัญชนทั่วไป ไม่มีการถือพระองค์แม้แต่น้อย จึงทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระสหายทั่วหน้าไม่โปรดการที่จะทรงใช้สิทธิพิเศษใด ๆ เลย เพราะทรงเห็นว่าการใช้อภิสิทธิ์เป็นการเอาเปรียบผู้อื่นและแสดงความอ่อนแอ และความไม่มีความสามารถของตนเองพระองค์เคยรับสั่งแก่ผู้ใกล้ชิดเสมอว่า “คนเราต้องทำงานเพื่อแลกกับสิ่งที่ตนต้องการไม่ควรรับหรือแสวงหาสิ่งอันใด อันเป็นการได้เปล่าโดยไม่ต้องทำงาน”[30]หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2515 ทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงเคนเบอร์รา ในการสอบไล่ในปี พ.ศ. 2515 พระองค์ทรงสอบได้เป็นที่ 7 จาก นักเรียน ทั้งหมด 125 คน [31]นอกจากหลักสูตรทางการทหาร ในวิทยาลัยการทหารดันทรูน นักศึกษาจะต้องเรียนวิชาสามัญด้วย โดยมีวิชาให้เลือก 3 แผนก คือ แผนกวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และอักษรศาสตร์และประวัติศาสตร์ ในหลักสูตรสามัญทรงเลือกศึกษาต่อในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ ทรงสนพระทัยในวิชาประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก พันตรีสำเริงได้เขียนหนังสือบรรยายถึงพระอิริยาบถของพระองค์ โดยในข้อความตอนหนึ่งระบุว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดทำอาหารเสวยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารไทยประเภทเนื้อและผักสด พระองค์ทรงเจียวไข่และปรุงสะเต๊กได้รสดีมาก และโปรดร้องเพลงมาก โดยเฉพาะเพลงของสุเทพ และ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี โดยในระหว่างศึกษาที่วิทยาลัยการทหารดันทรูนนั้น พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระนามว่า staff cadet V. Mahidol หรือ นักเรียนนายร้อย วี. มหิดล [32] จนสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2519[33]

เมื่อนิวัติประเทศไทยทรงรับราชการทหารแล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และ พ.ศ. 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักร[34]

พระจริยาวัตรขณะประทับอยู่ออสเตรเลีย

พันตรี สำเริง ไชยยงค์ พระอภิบาลของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่ประทับอยู่ออสเตรเลียได้เล่าถึงพระจริยาวัตรขณะประทับอยู่ที่ออสเตรเลียว่า โดยปกติในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ จะเสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถที่บ้านพักของพันตรี สำเริง ไชยยงค์ ซึ่งเป็นพระอภิบาล ที่บ้านเลขที่ 47 กิลโมร์ เครสเซนต์ กาแรน กรุงแคนเบอร่า ทรงซักรีดฉลองพระองค์ ทรงทำความสะอาดรถยนต์พระที่นั่งโฟลคสวาเกน ทรงต่อโมเดลรถถัง รถรบ เครื่องบินทหารแบบต่างๆ ทรงการบ้าน หรือทรงพระสำราญกับการฟังแผ่นเสียงหรือเทปเพลงไทย ทรงร้องเพลง ทรงแต่งละครย่อย แต่งบทเสภาแล้วทรงอัดเทปไว้ส่วนใหญ่ทรงพรรณนาถึงพระองค์ในออสเตรเลีย และความคิดถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ [35] [36] สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงห่วงใยประชาชนผู้ยากจนอยู่เป็นเนืองนิตย์ จะเห็นได้ว่าระหว่างที่ประทับอยู่ในออสเตรเลีย เวลาเสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ใดได้ทอดพระเนตรเห็นความเจริญ และความอยู่ดีกินดีของชาวออสเตรเลียมักจะทรงรับสั่งเสมอว่าทรงคิดถึงประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะพวกที่ลำบากยากจนต้องอาศัยอยู่ตามแหล่งสลัม พระองค์ทรงดำริอยู่เสมอว่าพระองค์จะหาทางช่วยเหลือประชาชนที่กำลังทุกข์ยากเหล่านี้ให้มีความสุข จะทรงใช้เวลาว่างพินิจพิจารณาเพื่อหาทางแก้ไขด้วยพระองค์เองให้จงได้ [37]

สำหรับพระกิจวัตรในวันศุกร์ ซึ่งเป็นวันที่โรงเรียนจะปล่อยให้นักเรียนนายร้อยมีนัดเที่ยวกับเพื่อนหญิงได้ แต่ต้องกลับเข้าโรงเรียนก่อนเที่ยงคืน แต่ทูลกระหม่อมไม่เสด็จไปไหน มักทรงอักษรหรือไม่ก็ค้นคว้าอยู่ในห้องสมุดของโรงเรียน บางครั้งก็ทรงออกกำลังกาย [38]

ในเรื่องการเล่าเรียนนั้น พระองค์ต้องการเรียนรู้ด้วยพระองค์เองว่า นักเรียนนายร้อยที่เรียนเก่งที่สุดของโรงเรียนปฏิบัติตัวและฝึกฝนอย่างไรบ้างเขาจึงเรียนได้เก่ง พระองค์จึงมักจะไปเยือนนักเรียนที่เรียนเก่งถึงบ้านและทรงใช้เวลาอยู่ร่วมกันเป็นวัน ๆ เพื่อขอทราบเคล็ดลับและคำแนะนำต่างๆ จากนักเรียนเก่งเหล่านั้น [39] “พระองค์ทรงตรัสเสมอว่า “วันที่สำคัญที่สุดของพระองค์คือวันที่สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2518”[40]สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ทรงตั้งพระทัยอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะเรียนให้ดีที่สุด หรือได้ที่ 1 อย่างพระสหายยากจนของพระองค์จากความอุตสาหะพากเพียรอย่างแรงกล้าทำให้พระองค์สอบวิชาทหารได้เป็นที่ 7 ทูลกระหม่อมยังไม่ทรงยอมท้อถอย พระองค์ยังตั้งพระทัยศึกษาวิชาอื่นอย่างหนัก หลังจากเลิกเรียนแล้ว พอเสวยพระกระยาหารเสร็จพระองค์จะทรงศึกษากับครูพิเศษเพิ่มเติม[41]

พระองค์ยังทรงมีปณิธานในการศึกษาวิชาทหารของออสเตรเลียโดยละเอียด เพื่อที่จะหาวิธีช่วยเหลือให้ทหารตำรวจของพระองค์ได้รับความเป็นธรรมสมกับภาระหน้าที่ที่ต้องเสียสละทั้งความสุขและชีวิต [42]

สยามมกุฎราชกุมาร

 
พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

เมื่อพระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษา 20 พรรษา และทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ทรงดำรงพระราชอิสริยยศขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต[43] มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์
วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช
จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร

นับเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 ของไทย[44][45] ทั้งนี้ได้ทรงถวายสัตย์ปฏิญาณสาบานพระองค์ ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “ข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอิสริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานไว้เสมอด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติ บ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่างโดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถและโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญ ความสงบสุข และความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศชาติไทยจนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่[46]

ผนวช

ต่อมาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารมีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา[47] โดยได้ทรงพยายามหาโอกาสในวันหยุดเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชและทรงเยี่ยมพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ทรงสนทนาศึกษาธรรมะคำสั่งสอนของสมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า[48]พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.37 น. ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม[49] โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปทำทัฬหีกรรม ณ พระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน เมื่อเวลา 16.59 น. โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์[50] เสร็จแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร[51] พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาล[52] “ตลอดระยะเวลาแห่งการผนวชนั้นทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานาประการ เช่น ทรงร่วมทำวัตรเช้าเย็น ทำสังฆกรรม สดับพระธรรม เทศนา และทรงศึกษาพระธรรมวินัย ร่วมกับพระภิกษุอื่น ๆ เสด็จพระราช ดำเนินไปทรงรับภัตตาหารบิณฑบาต จากพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการ และประชาชน ณ สถานที่ต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงสักการะสมเด็จ พระสังฆราช และพระเถระชั้นผู้ใหญ่ ณ พระอาราม ต่าง ๆ เสด็จพระราชดำเนินไปทรง สักการะพระพุทธรูปสำคัญ เจดียสถาน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในส่วนภูมิภาค และเสด็จออกให้คณะสงฆ์และคณะบุคคลต่าง ๆ เข้าเฝ้าถวายสักการะ เป็นต้น” 16 พฤศจิกายน 2521 ทรงมีพระราชดำรัสตอบต่อที่ประชุมสงฆ์ วัดพระมหาธาตุจังหวัดนครศรีธรรมราช อันมีใจความตอนหนึ่งว่า “การบวชของกระผมในครั้งนี้เป็นการบวชด้วยศรัทธาอันแรงกล้าที่จะศึกษาพระธรรมอันมีค่าสูงสุด โดยมุ่งหวังที่จะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป” [53] [54] ผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช ณ พระตำหนักปั้นหย่า ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 10.15 น.[55]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงลาสิกขา เมื่อวัน ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 10.30 น. จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปถวายสักการะทูลลาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์ วาสโน) ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และเสด็จพระราชดำเนินกลับพระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต ในตอนบ่ายวันเดียวกันเสด็จพระราชดำเนินโดยเครื่องบินพระที่นั่งไปยังพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เพื่อเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ถวายพระราชกุศลแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ [56]

การทหาร

 
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงปฏิบัติการฝึกเครื่องบินรบแบบเอฟ-5

ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ พระองค์ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยในกิจการกองทัพ และขณะประทับอยู่ในประเทศไทยได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมที่ตั้งทหารหลายแห่ง[57] หลังทรงสำเร็จการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลีย รวมถึงทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรอื่น ๆ แล้ว ทรงเคยเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการกำเริบคอมมิวนิสต์ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ทั้งยังเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมให้กำลังใจแก่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่ อส. บริเวณพื้นที่อันตราย[58]

เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2508 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตาแหน่งพระยศทางการทหาร คือ ร้อยตรีเหล่าทหารราบ เรือตรีเหล่าทหารนักบิน พรรคนาวิน และ เรืออากาศตรี แห่งกองทัพทั้งสาม และนายทหารพิเศษประจากรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์[59] จากนั้นได้ทรงเข้ารับการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรการกระโดดร่มภาคพื้นดิน ณ ค่ายนเรศวร ได้รับพระราชทานปีกนักโดดร่มชั้น 1 กิตติมศักดิ์ในเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2514 และได้ทรงพระกรุณาฯ โปรดเกล้าฯ เลื่อนขึ้นเป็น ร้อยโท เรือโท และเรืออากาศโท [60] ทรงดำรงตำแหน่งทางทหารตั้งแต่ระดับรองผู้บังคับกองพัน ,ผู้บังคับกองพัน, ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และองค์ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ทรงดำรงพระองค์เป็นแบบอย่างและพระราชทานคำสั่งสอนแก่ข้าราชบริพารทุกหมู่เหล่าด้วยพระองค์เอง และมีการเทิดทูนยกย่องพระองค์เป็น “บรมครูทางการทหาร”[61]

เนื่องด้วย 18 มกราคม ของทุกปีตรงกับวันสถาปนากองทัพไทย โดยในปี 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จฯ ในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณตนของกองกำลังผสม เนื่องในวันกองทัพไทย ประจำปี 2563 การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสเนื่องในวันกองทัพไทย ความว่า “ข้าพเจ้าและพระราชินีมีความชื่นชมยิ่งนักที่ได้มาอยู่ในท่ามกลางเหล่าทหารและตำรวจ ในพิธีสวนสนามถวายสัตย์ปฏิญาณครั้งนี้ ขอขอบใจในคำอำนวยพรและไมตรีจิตของทุก ๆ คน และขอสนองพรทั้งน้ำใจไมตรีนั้นด้วยใจจริงเช่นกัน ประเทศ ชาติจะเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ก็ด้วยคนไทยทุกหมู่เหล่า พร้อมเพรียงกันปฏิบัติหน้าที่ของตน โดยมีอุดมคติและจุดมุ่งหมายอย่างเดียวกันคือ ประโยชน์สุขของทุกคนในชาติ ข้าพเจ้าจึงยินดีมากที่ได้เห็นความพร้อมเพรียงของทหารและตำรวจในวันนี้ ทั้งได้ฟังคำปฏิญาณแสงความจงรักภักดีและเจตนาอันแน่วแน่ที่จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติและประชาชน ขอให้นายทหาร นายตำรวจทุกคน รักษาคำปฏิญาณที่ได้ให้ไว้อย่างเคร่งครัด และตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงตรง เข้มแข็งและเสียสละ พร้อมทั้งหมั่นศึกษาและฝึกฝนตนเองให้มีความจัดเจนคล่องแคล่วในหน้าที่และในการปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่น ฝ่ายอื่นอยู่เสมอ ทุกคน ทุกฝ่ายจะได้สามารถร่วมมือร่วมใจกันสร้างสรรค์ความวัฒนาผาสุกให้แก่ประชาชนและประเทศชาติได้ตามอุดมคติที่ตั้งมั่นไว้ตลอดไป ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมทั้งอำนาจแห่งความภักดีโดยบริสุทธิ์ใจต่อบ้านเมือง จงบันดาลให้ท่านทั้งหลายประสบแต่ความสุข ความเจริญและความสามัคคี สวัสดีมีชัยโดยทั่วกัน” จากนั้นประทับพระราชอาสน์ทอดพระเนตรกองกำลังสวนสนามภาคอากาศและกำลังภาคพื้น พร้อมทั้งยุทโธปกรณ์ที่นำมาสวนสนามในส่วนของกองทัพบก ถือเป็นการสวนสนามครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในรัชสมัยนี้ โดยเหล่าทัพได้นำยุทโธปกรณ์เกือบทุกแบบที่มีประจำการเข้าร่วม ไม่ต่างจากสวนสนามแสนยานุภาพ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ที่ลานพระราชวังดุสิต ในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว [62]

พระนิพนธ์

ครั้นยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงสืบสายพระโลหิตจากพระบรมราชวงศ์ศิลปิน เนื่องแต่องค์พระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ทรงเป็นศิลปินมาตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารโปรดการปั้น การแกะสลัก และการวาดรูปมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงหัดโขนเป็นตัวทศกรรฐ์ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ ในด้านวรรณศิลป์ [63] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระอัจฉริยะทางการประพันธ์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ โดยได้ทรงพระนิพนธ์ เรื่อง “น้ำท่วม” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ การรับผิดชอบต่อหน้าที่ การตระหนักถึงประโยชน์ส่วนใหญ่มากกว่าการเล่นสนุกตั้งแต่มีพระชนม์เพียง 12 พรรษา [64] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศสยามมกุฎราชกุมาร ทรงใช้เวลาส่วนพระองค์ที่เหลือจากงานราชการและการศึกษาซึ่งมีอยู่ไม่มากนัก ด้วยการทรงงานอดิเรก เช่น ทรงแต่งบทกลอนและบทละครสั้น ๆ แล้วอัดเทปไว้ฟัง ทรงฝึกการขับเสภา ส่วนมากมักจะทรงพระนิพนธ์บทกวี พรรณาชีวิตของพระองค์ในต่างแดน ทรงบริหารพระวรกาย เช่น ทรงวิ่ง ทรงฟุตบอล โดยเฉพาะงานพระนิพนธ์บทกลอนนั้น ทรงมีความสามารถเป็นพิเศษ ดังบทพระนิพนธ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ซึ่งได้ทรงไว้ในหลายโอกาส เช่น ระหว่างการฝึกทหาร เช่น บทพระนิพนธ์ถวายบังคมทูลพระกรุณาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสที่ทรงเข้าศึกษา ณ โรงเรียนนายร้อยดันทรูน ออสเตรเลีย ความตอนหนึ่งว่า “เมื่อสิบสองมกรา หนึ่งห้า ลูกคลาคลาด ต้องนิราศ จากไป ไกลนักหนา จำใจจาก แม่พ่อ คลอน้ำตา นึกขึ้นมา คราใด ใจอาวรณ์ ลูกจากไป ครานี้ มีจิตมั่น จะขยัน และทำตาม คำพร่ำสอน ถึงลำบาก อย่างไร ไม่อุทธรณ์ สู้ทุกตอน ตามประสงค์ จำนงใจ”[65] และบทพระนิพนธ์ที่ทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม พ.ศ. 2515 “แม่รักชาย ห่วงชาย ชายก็รู้ ชายจะสู้ สุดชีวิตอย่าสงสัย จะทำตัวให้สมแม่วางใจ จะรักไทย กู้ศักดิ์ศรีจักรีวงศ์ จะรักหญิงที่เขาเข้าใจแม่ จะแน่วแน่พุทธศาสน์ถือพระสงฆ์ การสวดมนต์ไหว้พระจะดำรง จะมั่นคงรักชาวไทยไม่เสื่อมคลาย [66] ยิ่งไปกว่านั้น ครั้งหนึ่ง วารสารวัฒนธรรมไทย ได้อัญเชิญบทพระราชนิพนธ์เรื่อง แม่ ของพระองค์เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารมาลงเผยแพร่ให้เด็กๆ และประชาชนไทยได้อ่านกัน บทพระราชนิพนธ์ดังกล่าวทำให้เด็กไทยได้แนวทางปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดี และแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงตระหนักในหน้าที่ของลูกได้อย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ดังกล่าวตอนหนึ่งทรงกล่าวไว้ว่า “...หน้าที่ของเราที่จะต้องสนองพระคุณท่านให้ดีที่สุด โดยสุดกำลังความสามารถ มิใช่แต่เฉพาะเลี้ยงดูบำรุงรักษาท่านตามที่มักพูดกัน แต่หากด้วยการประพฤติปฏิบัติอันเหมาะอันควร อันเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ทุกประการด้วย เป็นการบูชาพระคุณท่านด้วยปฏิบัติบูชา ”[67] นอกจากนี้ในบทพระนิพนธ์ในหลายโอกาสได้แสดงให้เห็นถึงความรักชาติของพระองค์ เช่น การที่พระองค์เข้าร่วมพิธีวัน Australian and New Zealand Army Corps ซึ่งเป็นวันที่ระลึกถึงทหารที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ทรงพระนิพนธ์กลอนเกี่ยวกับวันดังกล่าว ส่วนหนึ่งว่า “ถ้าชาติเรามีวันนี้จะดีมาก คนลำบากเสียสละได้ศักดิ์ศรี เป็นตัวอย่างเป้าหมายให้ทำดี ชาติทวีวีรบุรุษสุดนิยม” [68]

กิจกรรมปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติ

 
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารทรงปั่นนำขบวน Bike for Mom ปั่นเพื่อแม่

ในปี พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารมีพระราชปณิธานที่จัดกิจกรรมจักรยานถวายพระเกียรติและถวายความจงรักภักดีเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยได้ทรงจักรยานพระที่นั่งนำประชาชนทั่วประเทศปั่นจักรยานในกิจกรรม Bike for Mom - ปั่นเพื่อแม่ จัดกิจกรรมวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2558 และกิจกรรม Bike for Dad - ปั่นเพื่อพ่อ จัดกิจกรรมวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 ในกิจกรรมประชาชนได้ร่วมใจกันแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดเส้นทางมีพสกนิกรเฝ้ารับเสด็จอย่างเนืองแน่น[69]

พระจริยวัตร

 
พระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณที่ถนนราชดำเนิน ครั้งดำรงพระยศสยามมกุฎราชกุมาร

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ห้ามวิพากษ์วิจารณ์รัชทายาท ทว่า พระชนมชีพส่วนพระองค์ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ชนอย่างกว้างขวาง [70] บีบีซีไทยอ้างว่า พระองค์มักตกเป็นข่าวโดยเฉพาะในเรื่องสตรี การพนัน และเรื่องผิดกฎหมายจนเป็นที่กังขาเกี่ยวกับความเหมาะสมของพระองค์[11] เดือนตุลาคม พ.ศ. 2524 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีของพระองค์ ทรงกล่าวโดยนัยเปรียบเปรยพระราชโอรสผู้นี้ว่าทรงเหมือนดอน ควน ที่โปรดการใช้เวลาว่างสุดสัปดาห์ไปกับหญิงงามมากกว่าการประกอบพระราชกรณียกิจ[11][71]

 

ฉันจำต้องจริงใจให้มาก ลูกชายของฉัน, มกุฎราชกุมารเป็นดอนฮวนบ้างเหมือนกัน เมื่อฉันให้สัมภาษณ์ฉันต้องแสดงความจริงใจ เขา (องค์มกุฎราชกุมาร) เป็นนักเรียนที่ดีเป็นลูกชายที่ดี บรรดาหญิงสาวต่างชื่นชอบในตัวเขา และเขาก็เป็นคนชอบผู้หญิงเสียด้วย ดังนั้นครอบครัวของเขาถึงไม่ราบรื่นนัก[71][72]

 

วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2545 นิตยสาร ฟาร์อิสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว (Far Eastern Economic Review) ลงบทความว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารทรงมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี[73] อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2553 หลังจากที่ พันตำรวจโท ทักษิณพ้นจากตำแหน่งไปโดยการรัฐประหารแล้ว พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี ยอมรับว่า "...แน่นอนว่า เจ้าฟ้าชายยังทรงรักษาสัมพันธภาพบางอย่างกับอดีตนายกฯ ทักษิณเอาไว้ พระองค์ทรงพบกับทักษิณเป็นช่วง ๆ..."[74] วันที่ 12 ธันวาคม ปีเดียวกัน บิลาฮารี เคาสิกัน (Bilahari Kausikan) ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ แถลงว่า พระองค์ทรงติดการพนัน และมีอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ คอยสนับสนุนการเงินให้พระองค์[75] โอกาสเดียวกัน พลเอก เปรม เสริมว่า "...ทักษิณกำลังเสี่ยงที่จะทำลายตัวเอง เขาอาจคิดว่า เจ้าฟ้าชายจะทรงปฏิบัติกับเขาเหมือนดังเขาเป็นพระสหายหรือผู้สนับสนุน เพียงเพราะเขาส่งเสริมการเงินให้แก่พระองค์ แต่เจ้าฟ้าชายไม่ทรงชอบพระทัยความสัมพันธ์แบบนั้นสักเท่าไร"[76]

ในปี พ.ศ. 2551 ราล์ฟ แอล.บอยซ์ (Ralph L. Boyce) นักการทูตชาวสหรัฐอเมริกา รายงานต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรเมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เคยตรัสปฏิเสธกับเขา เกี่ยวกับข่าวที่พระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กับ พันตำรวจโท ทักษิณ บอยซ์กล่าวว่า[77]

"...[สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรง] เห็นเป็นเรื่องตลกร้าย ที่นายกรัฐมนตรีทักษิณสามารถทำตัวเป็นเผด็จการได้ ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง...ในช่วงแรก ๆ ของรัฐบาลทักษิณ ดูเหมือนเขาจะลงทุนอย่างหนักเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับมกุฎราชกุมาร ทั้งสองมีเรื่องผิดใจกันอย่างสังเกตเห็นได้ในเวลาต่อมา เป็นเหตุให้มกุฎราชกุมารละทิ้งพระตำหนักนนทบุรี ที่ทักษิณซื้อและตกแต่งถวายให้ แล้วย้ายมาประทับ ณ วังศุโขทัยซึ่งตั้งอยู่ในย่านกลางเมือง

"มีเรื่องเล่ากันไปต่าง ๆ นานา เกี่ยวกับการพบปะระหว่างทักษิณกับมกุฎราชกุมาร เกี่ยวกับการพบปะระหว่างทักษิณกับมกุฎราชกุมาร ที่ลอนดอนเมื่อช่วงต้นปีนี้ [พ.ศ. 2551] ซึ่งเรื่องที่เราพิจารณาว่า น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือ ทักษิณเข้าเฝ้ามกุฎราชกุมาร และเมื่อไม่ได้รับอนุญาต เขาจึงไปร่วมเข้าแถวรับเสด็จ ณ โรงแรมที่มกุฎราชกุมารประทับ และได้สนทนาอย่างไม่มีสาระสำคัญอะไร เพียงสี่สิบห้าวินาที"

อย่างไรก็ดี ผู้แปลโทรเลขดังกล่าวเป็นภาษาไทยในนิตยสาร ฟ้าเดียวกัน ระบุไว้ว่า “ความสำคัญของโทรเลขทูตที่เผยแพร่จากวิกิลีกส์จึงอาจจะไม่ใช่ข้อเท็จจริง ที่ส่งไปยังสหรัฐอเมริกา"[78]

ปัญหาการสืบราชสันตติวงศ์ หลังจากรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็เป็นที่กล่าวถึงมากในสังคม นักวิชาการตั้งข้อสังเกตว่า ตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้มีอยู่สามสิ่ง คือ องคมนตรี, กองทัพ และความเหมาะสมของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ[79] ใน พ.ศ. 2545 นิตยสาร ดิอีโคโนมิสต์ (The Economist) ลงข้อความว่า "ผู้คนเคารพเจ้าฟ้าชายวชิราลงกรณ์น้อยมาก (กว่ากษัตริย์ภูมิพล) ชาวกรุงเทพมหานครพากันร่ำลือเรื่องชีวิตส่วนพระองค์อันมัวหมอง...ไม่มีผู้สืบราชบัลลังก์พระองค์ใด จะประสบความสำเร็จอย่างที่กษัตริย์ภูมิพลทรงได้รับมา ในช่วงเวลาทรงราชย์หกสิบสี่ปี..." และรัฐบาลไทยได้สั่งห้ามจำหน่ายนิตยสารฉบับดังกล่าว ใน พ.ศ. 2553 ดิอีโคโนมิสต์ ลงบทความว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ นั้น "ทรงเป็นที่เดียดฉันท์และหวั่นเกรงอย่างกว้างขวาง" และ "ทรงผิดแปลกอย่างคาดไม่ถึง" และฉบับนี้ก็มิได้จำหน่ายในประเทศไทยเช่นกัน[80] ครั้นวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2553 นิตยสารออนไลน์ เอเชียเซนทิเนล (Asia Sentinel) ลงว่า พระองค์ "ถือว่าทรงเอาแน่นอนไม่ได้ และทรงไม่สามารถปกครองได้โดยแท้"[81] เว็บไซต์นี้ถูกสกัดกั้นในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว[82] อนึ่ง มีผู้คนเห็นว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ชอบที่จะได้สืบราชสมบัติมากกว่า[83] พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ และองคมนตรีคนอื่น ๆ มีความเห็นค่อนข้างลบ เกี่ยวกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ส่วน ราล์ฟ แอล.บอยซ์ นักการทูตชาวสหรัฐอเมริกา เคยรายงานต่อรัฐบาลของตนว่า "...[พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ] ดูอึดอัดพระทัยอย่างเห็นได้ชัด ต่อคำถามธรรมดา ๆ เกี่ยวกับเจ้าฟ้าสิรินธร ซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งของมกุฎราชกุมาร..."[84] ทั้งนี้ทั้งนั้น ตามกฎหมายไทยขณะนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะสืบราชบัลลังก์โดยชอบ นับแต่ทรงได้รับสถาปนาเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 แล้ว[85]

วันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2552 แฮร์รี นิโคไลดส์ (Harry Nicolaides) ชาวออสเตรเลีย ถูกศาลไทยจำคุกสามปี เพราะเผยแพร่หนังสือวิพากษ์วิจารณ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารความตอนหนึ่งว่า "ถ้าเจ้าฟ้าชายทรงรักใคร่ชอบพออนุภรรยานางใด และต่อมาเธอทรยศพระองค์ เมื่อนั้นเธอและครอบครัวก็จะหายไปจากโลกนี้ สาบสูญไปทั้งชื่อเสียงเรียงนาม เทือกเถาเหล่ากอ และบรรดาเงื่อนเค้าร่องรอย เกี่ยวกับชีวิตของพวกเขาตลอดกาล" และต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานอภัยโทษให้เขา ต่อมาเขาให้สัมภาษณ์ฮัฟฟิงตันโพสต์ ว่าหนังสือดังกล่าวเป็นนวนิยายทั้งสิ้น[86] [87][88][89]

พระองค์ทรงทราบปัญหา และข่าวที่กล่าวมาแล้วเป็นเบื้องต้น เป็นอย่างดี[90] และเคยพระราชทานสัมภาษณ์ ในนิตยสาร ดิฉัน แก่ ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ผู้ใกล้ชิดพระองค์ว่า[91]

"บางทีในชาติปางก่อน เราอาจไม่ได้ทำบุญมากพอ หรือบางทีในบางครั้ง เราทำอะไรที่น่าตำหนิ เรายอมรับ...ถ้าหากสวรรค์คิดว่าเราไม่เหมาะสม หรือไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ในการทำหน้าที่ของเรา ก็หยุดและจบ ถ้าท่านคิดได้อย่างนี้ ท่านก็จะสบายใจ ท่านไม่ได้คิดเป็นอะไร หากสวรรค์ให้ท่านมีภารกิจต่อแผ่นดิน ก็ยอมรับ ถ้าเขาไม่ต้องการให้ทำงาน ก็โอเค"

วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553 อีริก จี.จอห์น (Eric G. John) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย รายงานไปยังรัฐบาลสหรัฐอเมริกาว่า เขาได้เปรยกับพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ว่า "เวลานี้ เจ้าฟ้าชายทรงอยู่ที่ใด" พลเอก เปรม ตอบว่า "คุณก็รู้ว่าทรงใช้ชีวิตส่วนพระองค์แบบไหน...เจ้าฟ้าชายพอพระทัยใช้เวลาลอบเสด็จไปยังมิวนิก เพื่อประทับอยู่กับภรรยาเก็บของพระองค์ มากกว่าจะประทับอยู่ในประเทศไทย กับพระวรชายาและพระโอรส"[92] พลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา องคมนตรีที่ร่วมวงสนทนา กล่าวเสริมว่า "...ข่าวเรื่องเมียน้อยของพระองค์ที่เป็นแอร์โฮสเตส มีอยู่เต็มเว็บไซต์ไปหมด...น่าเศร้าที่เดี๋ยวนี้ ท่านทูตไทยที่เยอรมนี ต้องออกจากเบอร์ลินไปมิวนิก เพื่อไปเข้าเฝ้าพระองค์เป็นประจำ..."[93]

 
พระตำหนัก “วิลล่า กราฟ ชโตลแบร์ก” ในเทศบาลทุทซิง ประเทศเยอรมนี

พระมหากษัตริย์

King''s Standard of Thailand.svg พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี
King Buddha Yodfa Chulaloke.jpg พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
King Buddha Loetla Nabhalai.jpg พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
King Nangklao.jpg พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
Thomson, King Mongkut of Siam (crop).jpg พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Chulalongkorn LoC.jpg พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Vajiravudh portrait photograph.jpg พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Prajadhipok portrait photograph.jpg พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Ananda Mahidol portrait photograph.jpg พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล
พระอัฐมรามาธิบดินทร
Anefo 911-6993 Aankomst Koning (cropped).jpg พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร
King Rama X official (crop).png พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยริ้วกระบวนพยุหยาตราสถลมารค ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 พระองค์จะสืบราชสมบัติต่อ ทั้งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่าพระองค์จะเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่[94] แต่ทรงขอผ่อนผันเนื่องจากทรงต้องการร่วมทุกข์โศกกับปวงชนชาวไทย จนกว่าจะผ่านพระราชพิธีพระบรมศพไประยะหนึ่ง[95] พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยตำแหน่งไปพลางก่อน[96]

จนกระทั่งได้มีการปฏิบัติตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 2 วรรค 2 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23 วรรค 1 ตามลำดับดังนี้

วันที่ 29 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีได้แจ้งเรื่องการอัญเชิญพระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ให้พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานรัฐสภาทราบ และได้เรียกประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นวาระพิเศษเพื่อรับทราบเรื่องดังกล่าว[97] จากนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม พรเพชรกราบบังคมทูลเชิญเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ[98] พรเพชรจึงได้ประกาศให้ประชาชนทราบในคืนวันเดียวกันผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย แต่ทั้งนี้ ในทางนิตินัยถือว่าพระองค์ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559[99] และโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระปรมาภิไธยว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร"[100] [วะชิราลงกอน บอดินทฺระเทบพะยะวะรางกูน]

ในปี พ.ศ. 2560 พระองค์ทรงตราพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์มีอำนาจตั้งผู้อำนวยการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัย[101] ในปี พ.ศ. 2561 มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ด้านสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ชี้แจงว่า เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจึงต้องมีการถวายทรัพย์สินในความดูแลคืนให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชวินิจฉัย และว่าทรัพย์สินที่พระองค์เป็นเจ้าของจะมีการเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป[102]

ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสกับพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา และมีพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี[103][104]

บรมราชาภิเษก

พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โดยทรงเฉลิมพระปรมาภิไธยตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการความว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"[105]

วันที่ 5 พฤษภาคม ปีเดียวกัน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยยศ และเฉลิมพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 10

ศาสนูปถัมภก

เนื่องในวันมาฆบูชา ประจำปี พ.ศ. 2563 ซึ่งตรงกับวันที่ 8 กุมภาพันธ์ เวลา 16.38 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยรถยนต์พระที่นั่ง ไปยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในวันมาฆบูชา นอกจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พลอากาศโทภักดี แสง-ชูโต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพระราชพิธี เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายเทียนชนวนทรงหยิบเทียนชนวนจุดไฟที่โคมไฟฟ้า แล้วพระราชทานเทียนชนวนที่ทรงจุดให้พลอากาศโทภักดี เชิญไปถวายเจ้าอาวาสพระอารามหลวง จุดเทียนรุ่งที่ทรงพระราชอุทิศ พระราชทาน 5 พระอาราม ประกอบด้วย วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร, วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร, วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร, วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร และวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา [106]

วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เสด็จลง ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงออกรับสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน ในโอกาสเสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 20 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562[107]

พระราชกรณียกิจ

ทางราชการ

ด้านการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

  • เพื่อสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2562 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี และนายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลงพื้นที่ ติดตามและขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการฯ ในเขตพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านพัฒนาแหล่งน้ำ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[110]
  • โดยได้ติดตามการขับเคลื่อนใน 2 โครงการ ได้แก่
  • 1. โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้าลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอบ้านเขว้า และอำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ
  • 2. โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำทำการเพาะปลูกและเพื่อการอุปโภคบริโภครวมถึงบรรเทาปัญหาอุทกภัย
  • พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคใต้ พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริในเขตพื้นที่ภาคใต้ เพื่อรับทราบความก้าวหน้า การดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 7 โครงการ และอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนโครงการ จำนวน 7 โครงการ ได้พิจารณา แนวทางการการขับเคลื่อนโครงการ ในระยะต่อไป เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการขับเคลื่อนไปได้ตามพระราชปณิธานพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับ ราษฎรต่อไป [111]
  • นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พลเอก กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดาริพื้นที่ภาคใต้ พร้อมคณะอนุกรรมการฯ เดินทาง ไปยังโครงการอ่างเก็บน้าคลองสังข์ อันเนื่องมาจากพระราชดาริ ตาบลกรุงหยัน อาเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดาเนินงานโครงการฯ โครงการที่พระบาท สมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ตั้งแต่ปี 2523 เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้สามารถทาการเพาะปลูกได้ตลอดปี และเป็นหนึ่งในโครงการที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา ต่อยอด

ด้านการบิน

  • 20 ธันวาคม พ.ศ. 2522 พระองค์ทรงเริ่มฝึกบินเฮลิคอปเตอร์แบบUH-1H และเฮลิคอปเตอร์แบบUH-1Nและหลักสูตรเฮลิคอปเตอร์โจมตีติดอาวุธ (Gunship) ของกองทัพบก[112]
  • 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2537 ทรงปฏิบัติหน้าที่ครูการบินเครื่องบินขับไล่แบบเอฟ-5 อี/เอฟ[44]
  • พ.ศ. 2552 ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 เครื่องบินโบอิ้ง 737–400 ในเที่ยวบินสายใยรักแห่งครอบครัว ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และจัดหาอุปกรณ์ด้านการแพทย์ สำหรับโรงพยาบาลใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, (เที่ยวบินที่ ทีจี 8870 (กรุงเทพมหานครถึงจังหวัดเชียงใหม่) และเที่ยวบินที่ ทีจี 8871 (จังหวัดเชียงใหม่ถึงกรุงเทพมหานคร)[113]

ด้านการต่างประเทศ

เมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร พระองค์สนพระราชหฤทัยในด้านกิจการเกี่ยวกับสัมพันธไมตรีเป็นอย่างมาก โดยได้ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงอยู่เสมอในพระราชกรณียกิจที่เกี่ยวกับคณะทูตานุทูตต่างประเทศ ครั้งหนึ่ง ทรงได้รับความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศญี่ปุ่น ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระราชวงศ์ญี่ปุ่น เมื่อเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 เพราะการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนั้นมีผลในทางกระชับสัมพันธไมตรี ระหว่าง พระราชวงศ์ และ ประชาชน ของทั้งสองประเทศให้ใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น[114] โดยในครานั้น เจ้าชายอากิฮิโตะ มกุฎราชกุมารญี่ปุ่น (ณ ขณะนั้น) เสด็จมาทรงต้อนรับและส่งเสด็จ ณ สนามบินฮาเนดะ กรุงโตเกียว ทั้งใน ตอนเสด็จถึง และเสด็จกลับอีกด้วย [115] รวมถึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนประเทศอิตาลี และทรงพบพระสันตะปาปา เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2525 ระหว่างวันที่ 23 กุมภาพันธ์ – 8 มีนาคม พ.ศ. 2530 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ ทรงพบนายเติ้งเสี่ยว ผิง ณ มหาศาลาประชาคม กรุงปักกิ่ง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนประเทศ ญี่ปุ่น ทรงพบ สมเด็จพระจักรพรรดิ และสมเด็จพระจักรพรรดินี เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2530[116]

เมื่อวันที่ 31 ม.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความห่วงใยไปยังประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กรณีเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในนครอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และพื้นที่อื่นๆ ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ความว่า ฯ พณฯ ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน กรุงปักกิ่ง ข้าพเจ้ารู้สึกกังวลและห่วงใยอย่างยิ่งจากการระบาดอย่างกว้างขวางและรุนแรงของไวรัสโคโรนาในนครอู่ฮั่น ซึ่งขณะนี้ได้แพร่กระจายไปสู่จังหวัดและมณฑลต่างๆ ทั่วประเทศ ประชาคมโลกย่อมเกิดความประทับใจในความพยายามและความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างเต็มที่ของทางการจีน รวมทั้งมาตรการรอบด้านที่นำมาใช้ต่อสู้กับโรคระบาด ซึ่งเป็นภัยคุกคามอย่างยิ่งต่อเราทุกคน ข้าพเจ้าและประชาชนชาวไทยขอยืนยันถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับประชาชนชาวจีนทั้งมวล ทั้งขออำนวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จทุกประการในการต่อสู้ฟันฝ่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ด้วยความหวังว่าจะสามารถฟื้นฟูสถานการณ์ได้อย่างสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ข้าพเจ้าในนามของประชาชนชาวไทย ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งมายังท่านประธานาธิบดีและประชาชนชาวจีน ทั้งขอแสดงความห่วงใยต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต ที่ต้องประสบความทุกข์และความโศกเศร้าแสนสาหัสจากเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้ [117]

ด้านการศึกษา

 
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปลูกต้นปาริชาต ณ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

พระองค์พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ โดยในระยะแรกได้จัดการเรียนการสอนเฉพาะชั้นอนุบาล ต่อมา โรงเรียนได้ย้ายไปที่จังหวัดนนทบุรี และได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์[118] นอกจากนี้ ยังพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล กระทรวงศึกษาธิการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 15 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ได้แก่ [119]

1. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 1 จังหวัดนครพนม

2. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 2 จังหวัดกำแพงเพชร

3. โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา 3 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

4. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 1 จังหวัดอุดรธานี

5. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 2 จังหวัดสงขลา

6. โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา

7. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดน้อยใน) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร

8. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดโบสถ์) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร

9. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดประดู่) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสงคราม

10. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (ทวีวัฒนา) ในพระราชูปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร

11. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (มัธยมวัดหัตถสารเกษตร) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดปทุมธานี

12. โรงเรียนทีปังกรวิทยาพัฒน์ (วัดสุนทรสถิต) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จังหวัดสมุทรสาคร

13. โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จังหวัดระยอง

14. โรงเรียนอนุราชประสิทธิ์ จังหวัดนนทบุรี

15. โรงเรียนราชปิโยรสายุพราชานุสรณ์ จังหวัดน่าน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมเยาวชนในตำบลต่าง ๆ ทรงสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์เยาวชนตำบล รวมทั้งทรงเป็นประธานงานวันเยาวชนแห่งชาติ วันที่ 20 กันยายนของทุกปี[120]

ทั้งนี้พระองค์ได้ทรงอุปการะเด็กกำพร้า เช่น จักรกฤษณ์ และอนุเดช ชูศรี ที่ครอบครัวเสียชีวิตจากภูเขาถล่มเมื่อ พ.ศ. 2554[121] รวมทั้งครอบครัวของบูรฮาน และบุศรินทร์ หร่ายมณี ซึ่งบิดาถูกลอบสังหารจากเหตุความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้[122][123] เป็นต้น

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการทุนการศึกษาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2552

ทรงให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามพระราชปณิธานที่มุ่งสร้างความรู้ สร้างโอกาสแก่เยาวชนไทยที่มีฐานะยากจนลำบาก แต่ประพฤติดี มีความสามารถในการศึกษา ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่มั่นคง [124] โดยปี 2559 เป็นปีนักเรียนทุนรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยนักเรียนทุนพระราชทานต่างน้อมนำ ยึดมั่น ปฏิบัติตนตามแนวพระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานว่า“เรียนดี ความรู้ดี การงานดี ชีวิตสดใส ทำประโยชน์ให้กับ ประเทศชาติ” มาเป็นแนวทางในการดำรงตนด้วย ”[125]

โดยเป็นทุนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับปริญญาตรี ต่อมาใน พ.ศ. 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.)[126] เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 โดยพระองค์ทรงให้นำโครงการทุนการศึกษาฯ มาดำเนินการภายใต้ ม.ท.ศ. โดยสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ผู้ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ทั้งนี้ เป็นทุนให้เปล่าและเมื่อจบการศึกษาจะได้รับโอกาสให้สมัครเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ฯ[127][128][129][130]

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ม.ท.ศ. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร, คณะครูผู้ดูแลนักเรียนทุนการศึกษาพระราชทานฯ รุ่นที่ 11 และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด นำนักเรียนทุนการศึกษาพระราชทานฯ รุ่นที่ 11 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 187 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทาน, นักเรียนทุนการศึกษาพระราชทานฯ ดีเด่น รุ่นที่ 8 จำนวน 10 คน กับครูดีเด่น ประจำปี 2562 จำนวน 8 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติพร้อมทั้งนักเรียนทุนการศึกษาพระราชทานฯ รุ่นที่ 2 รุ่นที่ 3 และรุ่น ที่ 4 ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2561 จำนวน 104 คน เข้าเฝ้าฯ กราบพระบาทสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณ [131]

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ดำเนินโครงการกองทุนการศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง เพื่อเป็นกองทุนการศึกษาพระราชทานแก่เด็กยากจนแต่มีความตั้งใจที่จะเรียนด้วยมีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมืองและเป็นการยกระดับมาตรฐานการศึกษาโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลให้เกิดความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคกับโรงเรียนในชุมชนเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสำคัญและทรงสนับสนุนโครงการกองทุนการศึกษา เพื่อพัฒนาและปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป [132]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาว่า เป็นความมั่นคงของชาติ โดยพระบรมราโชบายผ่านการศึกษาคือ

1. การสร้างคนไทยที่มีคุณสมบัติที่พึงประสงค์

2. การนำองค์ความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่น ได้อย่างตรงเป้าหมายตามความต้องการของท้องที่

3. การพัฒนาระบบการเรียนการสอน คุณภาพครู และโรงเรียนเพื่อถ่ายทอดความรู้ และทัศนคติที่ดีสู่ผู้เรียน สร้างพื้นฐานชีวิตที่มั่นคงสู่การเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ

4. การบรรเทาปัญหา สังคมในปัจจุบัน [133]

เมื่อวันที่ 30 มกราคม พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เดินทางไปที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 อ.จุน จ.พะเยา เพื่อติดตามการดำเนินงานของโรงเรียน และเยี่ยม ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 พร้อมเป็นประธานมอบอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์พระราชทาน แก่นักเรียนและโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 ในส่วนของการส่งเสริมวิชาชีพ โรงเรียนได้จัดกิจกรรมส่งเสริมอาชีพ เพื่อการมีงานทำ ทั้งด้านเกษตรอุตสาหกรรม และหัตถกรรม โดยได้รับการสนับสนุนเงิน ตามลักษณะโครงการประกอบด้วย เงินทุนพระราชทาน ตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ จำนวน 5 โครงการ, เงินทุนดำเนินงานจากโครงการเรียนรู้ด้วยการทำงาน, โรงเรียนได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และงบจากมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่คอมพิวเตอร์จำนวน 25 เครื่อง โทรทัศน์จำนวน 30 เครื่อง ชุดดีแอลทีวีสำหรับการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม, DL TV TELETRAINING ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์จำนวน 9 ชุด และวัสดุในการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินชีวิต โดยผลการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ส่งผลให้นักเรียน มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่สูงขึ้น และนักเรียนได้รับรางวัล แข่งขันทักษะวิชาการระดับเขตพื้นที่การศึกษาจำนวน 90 เหรียญทองระดับประเทศจำนวน 11 เหรียญทอง [134]

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ พระองค์เสด็จทรงงาน โดยลำพังพระองค์เองครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ เป็นการเสด็จไปทรงพิธีเปิดป้ายสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ณ โรงพยาบาลเด็ก ในงานนั้นทูลกระหม่อมฟ้าชายได้ทรงแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระจิต ที่ปราศจากความเคอะเขินกระดากอาย อันเป็นธรรมดาของผู้เริ่ม “ออกงาน” ทั้งหลาย ผู้ที่ยังจำภาพเหตุการณ์ในวันนั้นได้ จะนึกถึงภาพอันองอาจ สง่างาม เมื่อเสด็จพระราชดำเนินมาถึงบริเวณงาน และเสด็จไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงลงนามในพระสมุดเยี่ยมแล้วจึงเสด็จไปประทับ ณ ที่ซึ่งจัดเตรียมไว้ ทรงปฏิบัติทุกอย่างอย่างเรียบร้อยด้วยพระองค์เอง โดยปราศจากการแนะนำของผู้ใด [135]

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โปรดให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชขึ้น เพื่อให้การรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยในถิ่นทุรกันดาร พระองค์ทรงเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช[136]

นอกจากพระองค์จะทรงอุปถัมภกโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชแล้ว พระองค์ยังทรงเอาพระทัยใส่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง พระองค์ทรงมีต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งทรงสนพระทัยการดำเนินงานของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญที่บำบัดรักษาและป้องกันโรคมะเร็ง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ในปี ๒๕๒๗พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมผู้ป่วยมะเร็งเป็นครั้งแรก ณ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และพระราชทานสิ่งของให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ยังความปลาบปลื้มและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้ป่วยมะเร็งเป็นอย่างยิ่ง และภายหลังการดำเนินงานของสถาบันมะเร็งได้ก้าวหน้ามาตามลำดับ มีการขยายหน่วยงานตามจังหวัดต่างๆ พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินเปิดศูนย์ด้วยพระองค์เองบ้าง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอเสด็จฯ แทนพระองค์เองบ้าง [137] โดยพระองค์ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำรัสแก่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล มีความส่วนหนึ่งว่า “ทุกคนที่ทำงานให้แก่โรงพยาบายสมเด็จพระยุพราชจะต้องไม่ลืมว่าโรงพยาบาลแห่งนี้กำเนิดขึ้นมาจากความมุ่งปรารถนำอันแรงกล้าของคนไทยทั่วราชอาณาจักร ที่ต้องการจะเห็นผู้ที่อยู่ในท้องถิ่นทุรกันดารทุกหนแห่งได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ให้ปลอดภัยจากความเจ็บไข้โดยทั่วถึงเสมอหน้ากัน

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเอาพระทัยใส่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งยังคงเป็นโรคร้ายแรงนำความพลัดพรากมาสู่สังคมไทยเป็นจำนวนมาก ดังที่ทรงมีพระราชดำรัส เนื่องในพิธีเปิดการประชุมวิชาการโรคมะเร็วภาคพื้นแปซิฟิก ครั้งที่ ๑๑ ณ กรุงเทพฯ ‘เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายแรงที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์อย่างยิ่ง และอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ก็ยังไม่มีทีท่าจะลดลง ไม่ว่าในประเทศที่เจริญแล้ว หรือประเทศที่กาลังพัฒนา จึงเป็นการแน่นอนว่า มะเร็งนั้น ไม่แต่จะเป็นโรคร้าย ทำลายชีวิตมนุษย์ หากยังเป็นตัวการทำลายความสุข ความเจริญ ทุกสิ่งของมนุษย์ชาติพร้อมกันไปด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศทั้งหลาย จะร่วมมือกันป้องกันและลดอัตราการป่วยด้วยโรคนี้ลงให้ได้’

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินจำนวน 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากการจำหน่ายสมุดไดอารี่ภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ เพื่อสมทบทุนสร้างอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[138]

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินจำนวน 2,407 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อเครื่องมือครุภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แก่โรงพยาบาล วิทยาลัยแพทย์และพยาบาล และสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยเป็นเงินที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 และเงินรายได้จากการจัดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว “สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์”[139]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้แต่งตั้ง คณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ อันเนื่องมาจากมีพระราชดำริที่จะพระราชทานความช่วยเหลือโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ในเรื่องการจัดหาอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ตลอดจนการให้จิตอาสา พระราชทาน ๙๐๔ วปร. ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือ ทั้งทางด้าน การแพทย์ การพยาบาล การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น การปฐม พยาบาลเบื้องต้น [140]

โดยเมื่อ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงเปิดการดำเนินงานตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ณ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ถนนงามวงศ์วาน เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ กราบบังคมทูลรายงานการเปิดโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความ ดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเบิกผู้เข้ารับพระราชทานเครื่องมือแพทย์ รับพระราชทานรถเอกซเรย์เคลื่อนที่ รับพระราชทานสัญลักษณ์การ Kick Start กราบบังคมทูลเชิญเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทอดพระเนตรเครื่องมือแพทย์พระราชทาน กราบบังคมทูลเชิญเปิดห้องสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุข และทอดพระเนตรภายใน ห้องสุขภาพ ราชทัณฑ์ ปันสุขนิทรรศการต่าง ๆ ที่จัดแสดงภายในทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีทรงพระดาเนินเยี่ยม และพระราชทานถุงพระราชทานแก่ผู้ต้องขังป่วยที่เตียงอีกด้วย [141]

เมื่อวันที่ ๖ เม.ย. ๒๕๖๓ ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และมาตรการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชบายและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ความว่า "มีอะไรที่จะมีส่วนช่วยเหลือที่จะแก้ปัญหาเราก็ยินดี เพราะว่าก็เป็นปัญหาของชาติ ซึ่งเรื่องโรคระบาดนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของใคร แล้วสิ่งที่เกิดขึ้น คือเรามีหน้าที่ที่จะดูแลแก้ไขดูแลให้ดีที่สุดอย่างที่เคยพูดไว้ว่า ถ้าเกิดมีความเข้าใจในปัญหา มีความเข้าใจ ไม่ใช่หมายความว่ายอมรับตามบุญตามกรรมแต่มีความเข้าใจในสถานการณ์มีความเข้าใจในปัญหา และมีความรู้เกี่ยวกับโรค ก็คือเข้าใจในปัญหานั่นเอง อันแรกก็เป็นอย่างนี้ อันที่ ๒ ก็คือจากข้อที่ ๑ ก็คือการมีการบริหารจัดการ มีแผนเผชิญเหตุ มีระบบในการปฏิบัติ แก้ไขให้ถูกจุด รู้ปัญหาแก้ไขให้ถูกจุด โดยมีการบริหารจัดการ แล้วก็ในเวลาเดียวกันก็ต้องให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวิธีปฏิบัติที่ถูกต้อง และเหตุผลที่จะต้องปฏิบัติ เพราะว่าการมีระบบหรือแผน และการปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ตามความเป็นจริง ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แก้ถูกจุดก็จะลดปัญหาลงไปจะแก้ได้ในที่สุดฉะนั้นก็เชื่อแน่ว่าจะต้องแก้ไขและก็เอาชนะอันนี้ได้ เพราะว่าประเทศของเรา นี่ก็นับว่าทำได้ดี ประเทศของเรานี่น่าภูมิใจว่าทำได้ดี และทุกคนก็ร่วมใจกัน และก็ดีกว่าที่อื่นอีกหลายที่ แต่บางทีก็ต้องเน้นเรื่องการทำงานมีระบบด้วยความเข้าใจ และการมีระเบียบวินัยในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายว่าเราจะต้องต่อสู้ให้โรคนี้สงบลงไปได้ในที่สุด เพราะว่าโรคมาได้ โรคก็ไปได้โรค แต่โรคจะไม่ไปถ้าเราไม่แก้ไขปัญหาเราไม่แก้ไขให้ถูกจุด หรือเราไม่มีความขันติอดทนที่จะแก้ไข บางทีก็ต้องเสียสละในความสุขส่วนตัวบ้าง หรือเสียสละในการสร้าง กล้าพอที่จะสร้างนิสัยหรือสร้างวินัยในตัวเอง ที่จะแก้ไขเพื่อตัวเอง เพื่อส่วนรวม อันนี้เราก็ขอเป็นกำลังใจให้" [142]

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จิตอาสาพระราชทานเป็นผู้เชิญถุงพระราชทานไปมอบให้แก่ชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร จำนวน ๖๔๒ ชุมชน กว่า ๑๓๐,๐๐๐ ครัวเรือน ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๕ เม.ย. ๖๓ และคาดว่าจะมอบแล้วเสร็จภายใน เม.ย. ๖๓ [143] รวมทั้งได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานถุงพระราชทานแก่ประชาชนในพื้นที่รอบเขตพระราชฐานทั้งเขตกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา สกลนคร และนราธิวาส ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) [144]

อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จได้เป็นการส่วนพระองค์ไปทอดพระเนตรโครงการพระราชทานความช่วยเหลือประชาชน ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ณ กรมทหารรักษาวังมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ [145] ซึ่งประกอบด้วย

• การทอดพระเนตรการเย็บถุงพระราชทาน โดยกำลังพลกองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์และครอบครัว

• การทอดพระเนตรการสาธิตทำเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ โดยวิทยากรกระบวนการหลักสูตร Cloning โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน

ด้านการเกษตร

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระยศในขณะนั้น ได้เสด็จพระราชดำเนินสร้างขัวญกำลังใจแก่เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพทำนา และเพื่อให้เกษตรกรได้มีพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้เพาะปลูกอย่างทั่วถึงในพื้นที่ชนบทตามจังหวัดต่าง ๆ โดยในปี ๒๕๒๗ เสด็จอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ปี ๒๕๒๙ และ ปี ๒๕๓๗ เสด็จแปลงนาสาธิต อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี พระองค์ได้พระราชทานปุ๋ยหมักและเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อเพิ่มผลผลิตในการทำนา เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้กับพสกนิกร[146]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงดำรงพระยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้พระราชทานที่ดิน ส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ให้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อดำเนินการในลักษณะคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชนเป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่ อันก่อให้เกิดประโยชน์เป็นส่วนรวมต่อหน่วยราชการ สถานศึกษา และราษฎร และพระราชทานนามว่า "เกษตรวิชญา" แปลว่า ปราชญ์แห่งการเกษตร

ในปี 2543 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นประธานพิธีหว่านข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 ณ แปลงนา บ้านนาป่า หมู่ที่ 5 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ในวันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นสิริมงคลและสร้างขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรผู้ประกอบอาชีพอำนา และเพื่อให้เกษตรกรได้มีพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้เพาะปลูกอย่างทั่วถึง และหลังจากวันนั้น พันธุ์ข้าวปทุมธานีที่ทรงหว่านได้เจริญเติบโตจนถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเกี่ยวข้าวดังกล่าวในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2543

การแอบอ้างพระนาม

ในปี พ.ศ. 2557 มีพระราชบัณฑูรให้มีการจับกุมและดำเนินคดีกับพลตำรวจเอก พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี อดีตพระวรชายาในพระองค์ ฐานแอบอ้างสถาบันเบื้องสูงเพื่อแสวงหาผลประโยชน์[147] รวมไปถึงกฎหมายฟอกเงิน

ด้านสังคม

วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2554 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ โปรดให้ พลอากาศโท ภักดี แสงชูโต นำผ้าห่มกันหนาว 20,000 ผืน ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ พ.ศ. 2554 ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีนายกษิต ภิรมย์ เป็นผู้รับมอบ[148] และเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (พระราชอิสริยยศในขณะนั้น) ได้พระราชทานสิ่งของ ประกอบด้วย น้ำดื่มพระราชทาน 10,000 ขวด ผ้าเช็ดตัวพระราชทาน 2,000 ผืน เครื่องกรองน้ำพระราชทาน 49 เครื่อง อาหารและยาพระราชทานอีกจำนวนหนึ่ง รวมทั้งถุงยังชีพในนามรัฐบาลไทย 5,000 ชุดไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจากเหตุเขื่อนทรุดตัวที่ สปป.ลาว[149]

ในปี พ.ศ. 2549 สมเด็จพระบรมโอสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนที่ ถนนภูผาภักดี จ.นราธิวาส เป็นระยะทางกว่า 600 เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งของร้านข้าวต้มอั้งม้อ ซึ่งเคย ถูกลอบวางระเบิดและได้รับความเสียหายอย่างหนักเมื่อปี พ.ศ. 2547 พระองค์ได้ทรงเข้าไปประทับ ในร้าน และได้พระราชทานกำลังใจให้แก่ครอบครัวของนายภักดี พรมเมน เจ้าของร้านข้าวต้ม สร้างความปลาบ ปลื้มและสร้างกำลังใจให้กับครอบครัว นายภักดี และชาวนราธิวาส เป็นอย่างยิ่ง[150][151]

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เชิญดอกไม้ และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ ดาบตำรวจ ณรงค์ชัย กิมาคม ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากเหตุระเบิด ขณะออกปฏิบัติหน้าที่ตั้งจุดตรวจ จุดสกัดในเขตพื้นที่รับผิดชอบ บริเวณริมถนนบ้านบือแนนยาโมง หมู่ที่ 2 ตำบลรือเสาะนอก อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาสเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 และเข้ารักษาพยาบาล ณ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา [152]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับโครงการพัฒนาชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกและอุทยานแห่งชาติ จังหวัดกาญจนบุรี ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์[153]

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานเปิดการประชุมโครงการฯ ดังกล่าว ณ อาคาร บก. หน่วยราชการในพระองค์ 904 (อาคาร 2) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต โดยมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงสาริณีพัชร มหาวัชรราชธิดา องค์ประธานกรรมการโครงการ พร้อมด้วยคณะกรรมการโครงการและกรรมการชุมชนจากพื้นที่โครงการในตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เฝ้าฯ รับเสด็จ [154]

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดการประชุมคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์ช้างป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ในภาคตะวันออก "โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์" ตามพระบรมราโชบายที่จะให้อนุรักษ์ป่าและช้าง และการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้าง อย่างมีสุขและทรงสืบสาน รักษาต่อยอดแนวพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร [155]

เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2563 เวลา 10.30 น. พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ร่วมกับ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน จำนวน 1,500 ผืน มอบแก่ราษฎรผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดอำนาจเจริญ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับราษฎรผู้ประสบภัยหนาวในเบื้องต้น โอกาสนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวถ่ายทอดแก่ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากภัยหนาวให้ได้รับทราบถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงต้องการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พสกนิกรของพระองค์ [156]

11 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่หอประชุมที่ว่า การอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน จำนวน 1,500 ผืน ไปมอบแก่ราษฎร์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยหนาว ในพื้นที่อำเภอ บ่อเกลือ สำหรับในเขตพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ แบ่งเขตการปกครอง ออกเป็น 4 ตำบล รวม 39 หมู่บ้าน เพื่อช่วยบรรเทาความหนาวเย็น และเพื่อเป็น ขวัญกำลังใจ ให้แก่ราษฎรโดยองคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแส ความห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าวให้กับราษฎรที่ได้รับ ผลกระทบได้รับทราบ และทรงพระ กรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานอาหารให้แก่ราษฎรที่ เดินทางมารับผ้าห่มกันหนาวกับลงพื้นที่เชิญผ้าห่มกันหนาวพระราชทาน ไปมอบแก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาวที่ เป็นผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ ในพื้นที่ อำเภอบ่อเกลือ จำนวน 3 ราย และ พื้นที่อำเภอทุ่งช้าง จำนวน 3 ราย ราษฎรต่างปลื้มปีติ และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ พร้อมทั้งพูดคุยให้กำลังใจแก่ ราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากภัยหนาว [157] พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ เนื่องจากทรงมีพระราชดำริว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์เป็นโรงพยาบาล แห่งเดียวในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ต้องให้บริการแก่ผู้ต้องขัง ในกรณีเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นจำนวนมากยังขาดแคลนบุคลากรเครื่องมือแพทย์ และเวชภัณฑ์การดูแลสุขภาพของผู้ต้องขัง ถือเป็นหน้าที่สำคัญของกรมราชทัณฑ์ ในการที่จะให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม ตามหลักมนุษยธรรม ทั้งนี้ เมื่อพ้นโทษจะได้มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งกายและใจ ออกมาสู่สังคมภายนอกและประกอบอาชีพสุจริตได้อย่างมีคุณภาพ โดยจะพระราชทานความช่วยเหลือ ในเรื่อง การจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทาง การแพทย์ ตลอดจนการให้จิตอาสาพระราชทาน ๙๐๔ วปร. ได้เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเหลือทั้งทางด้านการแพทย์ การพยาบาล การอบรมให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้การ ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการ ประสบผลสำเร็จตามพระบรมราโชบาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อม แต่งตั้งคณะกรรมการ โครงการราชทัณฑ์ ปันสุข ทำความดี ด้วยหัวใจ ชุดใหม่ ดังนี้ องค์ประธานที่ปรึกษา 1.พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 2.สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี องค์ประธานกรรมการ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา [158]

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2543 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงมีพระกรุณาธิคุณให้มีการจัดตั้งโครงการกีฬาพระราชทาน “โครงการกีฬา ล้างอบายมุขด้วยลูกฟุตบอล” โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการกีฬาแก่ เยาวชนไทย โดยมีกีฬาฟุตบอลเป็นหลัก [159]

นอกจากนี้ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เสด็จไปยังพื้นที่ตั้งชุมชนคนไทยเชื้อสายจีนเพื่อ ทรงเปิดนิทรรศการ “ใต้ร่มพระบารมี สดุดีมหาจักรีวงศ์” และทรงเยี่ยม เยียนราษฎรชาวไทยเชื้อสายจีนใน บริเวณถนนเยาวราช ถนนราชวงศ์ ถนนเจริญกรุง ถนนพระรามที่ 4 และ ถนนมิตรภาพไทย - จีน ซึ่งนับเป็นการเพิ่มความทรงจำที่ดี สำหรับชาวเยาวราชและยังช่วย กระชับความสัมพันธ์ที่มีต่อชาวไทย เชื้อสายจีน และผู้ที่อยู่อาศัยใน บริเวณเยาวราชได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น [160]

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยสุขภาพ และขวัญกำลังใจของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดนด้วยความเสียสละ ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และ ตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในโอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เชิญสิ่งของพระราชทาน เนื่องในโอกาสปีใหม่ไปมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจ โดย ได้มอบ 3 พื้นที่ ได้แก่

  1. เจ้าหน้าที่ ทหาร ทหารพราน และตำรวจตระเวน ชายแดน ที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ หน่วย เฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 12 กอง กำลังบูรพา อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว
  2. ฐานปฏิบตัการช้างศึก (กองร้อย ตชด.135) กองกำลังสุร สีห์ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี
  3. หน่วยเฉพาะกิจทัพพระยาเสือ กองกำลังสุรสีห์ อำเภอสวนผึ้ง [161]

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2562 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยสุขภาพ และขวัญกำลังใจ ของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัด ชายแดนภาคใต้ ด้วยความเสียสละ ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ และตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประเทศชาติในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เชิญสิ่งของ พระราชทานมอบแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติ หน้าที่ในพื้นที่ เนื่องในโอกาสปีใหม่ โดยที่จังหวัดนราธิวาส เชิญสิ่งของ พระราชทาน จำนวน 500 ชุด จังหวัด ปัตตานี จำนวน 600 ชุด จังหวัดยะลา จำนวน 500 ชุด และจังหวัดสงขลา จำนวน 150 ชุด นอกจากนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปกล่าว กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รับทราบ ยังความปลื้มปีติให้แก่เจ้าหน้าที่ทุกคน และต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นล้นพ้น [162]

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก, พลเอก ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ, พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง องคมนตรี เชิญแจกันดอกไม้และตะกร้าสิ่งของพระราชทาน ไปมอบแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์คนร้ายทำร้ายเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย และเข้าพักรักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาล 30 ราย ดังนี้ โรงพยาบาลมหาราช 20 ราย โรงพยาบาลกรุงเทพ-นครราชสีมา 4 ราย โรงพยาบาล ป.แพทย์ 1 ราย โรงพยาบาลค่ายสุรนารี 1 ราย และโรงพยาบาลเซนต์ แมรี 2 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บกลับบ้านแล้ว 25 ราย การนี้ องคมนตรี ได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยไปกล่าวแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บ และญาติเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ และทรงชื่นชมให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครกู้ภัย ตลอดจนแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้ร่วมปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยคลี่คลายสถานการณ์ ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณทรงรับผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมดไว้เป็นคนไข้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และทรงรับศพผู้เสียชีวิตไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ด้วย นำความปลื้มปิติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณแก่ผู้บาดเจ็บและญาติอย่างหาที่สุดมิได้ [163]

ด้านอื่น ๆ

ทรงเป็นนายกองค์อุปถัมภ์และสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมต่างๆ เช่น [164]

• ๘ ตุลาคม ๒๕๐๘ - ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมจักรยานสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

• ๑๔ กันยายน ๒๕๑๒ - ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

• ๑๖ กันยายน ๒๕๑๓ - ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สามัคคีสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

• ๒๔ สิงหาคม ๒๕๑๓ - ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ราชยานยนต์สมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

• ๒๘ ตุลาคม ๒๕๑๓ - ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์คณะลูกเสือแห่งชาติ

• ๑๐ มกราคม ๒๕๑๔ - ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมฟันดาบสมัครเล่นแห่งประเทศไทย

• ๖ มิถุนายน ๒๕๑๕ - ทรงเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ยุวสมาคมแห่งประเทศไทย

พระบรมราโชบาย

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายมอบหมายให้สำนักงานตารวจแห่งชาติกำหนดแนวทางอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเดินทางได้ โดยเกิดผลกระทบน้อยที่สุด จากพระบรมราโชบายดังกล่าว สำนักงานตารวจแห่งชาติ จึงกำหนดแนวทางดังต่อไปนี้ โดยยึดหลัก 3 ประการ คือ เพื่อเป็นไปตามหลักการถวายความปลอดภัยของพระบรมวงศานุวงศ์ เพื่อให้การดำเนินงานอย่างสมพระเกียรติ และเพื่อให้เป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [165]

1. ไม่ให้ทำการปิดการจราจร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ

2. ในเส้นทางเสด็จฯ ให้จัดช่องทางเสด็จฯ และช่องทางประชาชนโดยใช้อุปกรณ์เช่นกรวยยาง ป้ายไฟ เพื่อความสะดวก

3. เส้นทางฝั่งตรงข้ามเส้นทางเสด็จฯ กรณีที่มีเกาะกลางถนน เส้นทางฝั่งตรงข้ามสามารถใช้ได้ตามปกติทุกเส้นทาง กรณีไม่มีเกาะกลางถนนให้ใช้อุปกรณ์ เช่น กรวยยางวาง โดยประชาชนสามารถวิ่งตามเส้นทางที่จัดไว้ได้ตามปกติ

4. กรณีทางร่วมทางแยกให้ประชาชนใช้เส้นทางได้ตามปกติ ใช้วิธีการควบคุมรถ เช่น ใช้กรวยยางวางควบคุมกระแสรถ

5. สำหรับสะพานกลับรถหรือสะพานข้ามผ่านเส้นทางเสด็จฯ ให้ประชาชนใช้ได้ตามปกติ

6. กรณีทางพิเศษที่มีด่านเก็บเงินให้วางแนวกรวยยางด้านซ้ายให้ประชาชนเดินรถได้ โดยให้เหลือช่องทางสำหรับขบวนเสด็จฯ อย่างน้อย 2 ช่องทาง

7. กรณีเส้นทางร่วมทางแยก ไม่ให้บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนเส้นทาง ให้คำนึงความตั้งใจของประชาชนเป็นหลัก

8. เน้นย้ำในการวางอุปกรณ์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม ให้คำนึงเวลากระทบประชาชนน้อยที่สุด

9. ใช้มาตรการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับทั้งประชาชนและผู้ปฏิบัติหน้าที่

10. ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ต้องลงไปกำกับดูแลด้วยตนเอง สำหรับผู้ปฏิบัติให้ใช้วาจา กิริยาท่าทางด้วยความสุภาพ ไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกบังคับ

โครงการจิตอาสา

ความเป็นมาของจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หน่วยราชการในพระองค์ 904 ร่วมกันจัดโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความ สมัครสมานสามัคคี มีความสุขและประเทศชาติมีความมั่นคงอย่างยั่งยืน โดยมีหน่วยราชการในพระองค์ 904 เป็นผู้กำกับดูแลการปฏิบัติงานร่วมกับ หน่วยงาน ภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชน และให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการใหญ่โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ มีหน้าที่ควบคุม อำนวยการและประสานการ ปฏิบัติเพื่อให้การจัดกิจกรรมจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ เป็นไปอย่างต่อเนื่องถูกต้องตามพระราโชบาย และสมพระเกียรติ [166] การแบ่งประเภทของจิตอาสา มี 3 ประเภท ดังนี้

  • 1. จิตอาสาพัฒนา ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการดำรงชีวิตประจำวัน การประกอบอาชีพ รวมทั้งการสาธารณสุข ฯลฯ โดยแบ่งภารกิจงานเป็น ๘ กลุ่มงาน ดังนี้[167]
    • ๑) จิตอาสาพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง
    • ๒) จิตอาสางานประดิษฐ์และเผยแพร่งานศิลปาชีพ
    • ๓) จิตอาสาฝ่ายกิจกรรมการแสดงและนิทรรศการ
    • ๔) จิตอาสาฝ่ายแพทย์และสาธารณสุข
    • ๕) จิตอาสาฝ่ายทะเบียนและข้อมูล
    • ๖) จิตอาสาฝ่ายส่งกำลังบำรุงและสนับสนุน
    • ๗) จิตอาสาฝ่ายประชาสัมพันธ์
    • ๘) จิตอาสาฝ่ายรักษาความปลอดภัยและจราจร

www.royaloffice.th/จิตอาสา/เรื่องควรรู้/หลักสูตรจิตอาสา-904/

  • 2. จิตอาสาภัยพิบัติ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเฝ้าตรวจ และเตรียมการรองรับภัยพิบัติ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และที่เกิดจากสาเหตุอื่น ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่โดยรวม และการช่วยเหลือบรรเทาการเดือดร้อนของประชาชนจากภัยพิบัติดังกล่าวเช่น อุทุกภัย วาตภัย อัคคีภัย เป็นต้น
  • 3. จิตอาสาเฉพาะกิจ ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสาพระราชทานที่มีวัตถุประสงค์ให้ปฏิบัติในงานพิธี หรือการรับเสด็จในโอกาสต่างๆ เป็นการใช้กำลังพลจิตอาสาปฏิบัติกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือหรืออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาร่วมงาน รวมทั้งการเตรียมการ การเตรียมสถานที่ และ การฟื้นฟูสถานที่ภายหลังการปฏิบัติในพระราชพิธี และการเสด็จนั้น ๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ตัวอย่างโครงการที่สำคัญ ดังนี้[168]

3.1 โครงการจิตอาสาพัฒนาคลองแม่ข่ารอง ผบ.มทบ.33 นำกำลังพลจิตอาสา ของหน่วยดำเนินกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาคลองแม่ข่า ณ ชุมชนศรีมงคล แขวงนครพิงค์ อ.เมือง จว.ช.ม. โดยมีส่วนราชการจาก จังหวัดเชียงใหม่ สภ.จว.ช.ม., ตร.ท่องเที่ยว, สำนักชลประทาน, เทศบาลนครเชียงใหม่ หน่วยทหารในพื้นที่ จว.ช.ม. และ ประชาชนชุมชนศรีมงคล จำนวน 300 นาย ได้ดำเนินพัฒนารวมระยะทาง 500 เมตร [169]

3.2 โครงการจิตอาสาพัฒนา คลองเปรมประชากร

3.3 โครงการท่อลอด ถนนวิภาวดีรังสิต

ประสบการณ์ทางทหาร

[170]

  • เดือนมกราคม ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติม และศึกษางานด้านการทหาร ณ เครือรัฐออสเตรเลีย
  • ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษ การทำลายและยุทธวิธีรบนอกแบบ หลักสูตรต้นหนชั้นสูง หลักสูตรการลาดตระเวน และต้นหนชั้นสูง รวมทั้งหลักสูตรส่งทางอากาศ
  • พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2523 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอซ–1 เอซ ของบริษัท เบลล์ รวมชั่วโมงบิน 59.36 ชั่วโมง
  • เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2523 ทรงเข้ารับการฝึกตามโครงการช่วยเหลือทางทหาร กองทัพบกสหรัฐอเมริกา รวม 6 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรอาวุธประจำกายและเครื่องยิงลูกระเบิด หลักสูตรการปฏิบัติการพิเศษ หลักสูตรการต่อต้านการก่อการร้าย หลักสูตรการสงครามแบบกองโจร หลักสูตรการฝึกการดำรงชีพ และหลักสูตรส่งทางอากาศ (ทางบกและทางทะเล)
  • เดือนมิถุนายน ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2523 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอซ–1 เอซ กับเฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ ยู เอซ–1 เอ็น ของบริษัทเบลล์ รวมชั่วโมงบิน 259.560 ชั่วโมง
  • เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2523 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเฮลิคอปเตอร์โจมตี ติดอาวุธ แบบ ยู เอซ–1 เอซ ของบริษัทเบลล์ จากกองทัพไทย รวมชั่วโมงบิน 54.50 ชั่วโมง
  • เดือนธันวาคม พ.ศ. 2523 ถึง พ.ศ. 2524 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Sial–Marchetti SF 120 MT รวมชั่วโมงบิน 172.20 ชั่วโมง
  • เดือนมีนาคม ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2524 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเครื่องบินปีกติดลำตัว แบบ Cessna T–37 รวมชั่วโมงบิน 240 ชั่วโมง
  • เดือนตุลาคม ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2524 เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรกิจการทางทหารและตำรวจ ณ สหราชอาณาจักร ราชอาราจักรเบลเยียม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สาธารณรัฐฝรั่งเศส และเครือรัฐออสเตรเลีย
  • เดือนตุลาคม พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2526 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการฝึกบินเปลี่ยนเป็นเครื่องบินขับไล่ แบบ เอฟ–5 (พิเศษ) รุ่นที่ 83 (พุทธศักราช 2526) เอ ที ดับเบิลยู และหลักสูตรเครื่องบินขับไล่ชั้นสูง รุ่นที่ 83 (พุทธศักราช 2526) เอ วี ดับเบิลยู ณ ฐานทัพอากาศวิลเลียมส์ รัฐอริโซนา สหรัฐอเมริกา รวนชั่วโมงบิน 2,000 ชั่วโมง ซึ่งในขณะนั้น พระองค์นับว่าเป็นองค์รัชทายาทพระองค์เดียวในโลกที่ทรงสามารถขับเครื่องบินขับไล่ไอพ่นที่มีความเร็วสูงกว่าเสียงได้
  • พ.ศ. 2532 ทรงผ่านการฝึกบินด้วยเครื่องบินใบพัด แบบมาร์คเคตตี้ของฝูงขั้นปลาย โรงเรียนการบิน กองทัพอากาศ และการฝึกบิน ด้วยเครื่องบินไอพ่น แบบ ที 33 และหลักสูตรนักบินขับไล่ไอพ่นสมรรถนะสูงกับเครื่องบิน ขับไล่ แบบ เอฟ 5 อี/เอฟ ของกองบิน 1 ฝูงบิน 102 โดยทรงทำชั่วโมงบิน 200 ชั่วโมง ในเบื้องต้น และทรงทำชั่วโมงบินสูงสุด 1,000 ชั่วโมง และทรงเข้าร่วมการแข่งขันการใช้อาวุธทางอากาศประจำปี ซึ่งทรงทำคะแนนได้สูงตามกติกา กองทัพอากาศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเครื่องหมายความสามารถในการใช้อาวุธทางอากาศชั้นที่ 1 ประเภทอาวุธระเบิดสี่ดาว อาวุธจรวดสี่ดาว และอาวุธปืนสี่ดาว ในศกเดียวกัน[171]
  • เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรการในฐานะนักบินโบอิ้ง 737–400 จากบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน), และทรงผ่านการตรวจสอบจากการขนส่งทางอากาศ กับทรงได้รับใบอนุญาตนักบินพาณิชย์เอก
  • เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 ทรงเข้ารับการฝึกหลักสูตรกัปตัน จากบริษัท การบินไทย จำกัด และทรงรับการทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายตำแหน่งนักบินที่ 1 ใน พ.ศ. 2549 ทั้งนี้ ทรงปฏิบัติหน้าที่นักบินที่ 1 อย่างดีเยี่ยมสม่ำเสมอ รวมชั่วโมงบิน 3,000 ชั่วโมง

เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2552 กรมการขนส่งทางอากาศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใบรับรองในตำแหน่งครูฝึกภาคอากาศกับตำแหน่งครูฝึกเครื่องช่วยฝึกบิน สำหรับเครื่องบินโบอิง 737–400[172]

พระบรมราชอิสริยยศและพระเกียรติยศ

ธรรมเนียมพระยศของ
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
King''s Standard of Thailand.svg
ธงประจำพระอิสริยยศ
Royal Monogram of King Rama X.svg
ตราประจำพระองค์
Royal Flag of King Rama X.svg
ธงประจำพระองค์
การทูล ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
การแทนตน ข้าพระพุทธเจ้า
การขานรับ พระพุทธเจ้าข้าขอรับ/เพคะ
ลำดับโปเจียม 1
ตราประจำพระองค์ในขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร (ภาพซ้าย) และดำรงพระบรมราชอิสริยยศเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ภาพขวา)   ตราประจำพระองค์ในขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร (ภาพซ้าย) และดำรงพระบรมราชอิสริยยศเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ภาพขวา)
ตราประจำพระองค์ในขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร (ภาพซ้าย) และดำรงพระบรมราชอิสริยยศเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ภาพขวา)

พระบรมราชอิสริยยศ

  • สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร (28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 — 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515)
  • สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร (28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 — 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559)
  • สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร[100] (1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 — 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562)
  • พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว[3] (4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 — ปัจจุบัน)

พระราชลัญจกรประจำรัชกาล

 
พระราชลัญจกรประจำพระองค์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์[173]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย

พระองค์ทรงเป็นประธานของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จาก พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ดังนี้

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

 มาเลเซีย พ.ศ. 2543 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ผู้ป้องกันราชอาณาจักร ชั้นประถมาภรณ์ MY Darjah Yang Mulia Pangkuan Negara (Defender of the Realm) - SMN.svg
 เยอรมนี พ.ศ. 2527 เครื่องอิสริยาภรณ์คุณธรรมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ชั้นตติยาภรณ์ GER Bundesverdienstkreuz 9 Sond des Grosskreuzes.svg
 เนปาล พ.ศ. 2529 เครื่องราชอิสริยาภรณ์โอชัสวี ราชันย์เนปาล ชั้นเบญจมาภรณ์ Ord.Rajanya.Nepal-Ribbon.gif
 สเปน พ.ศ. 2530 เครื่องราชอิสริยาภรณ์พระเจ้าการ์โลสที่ 3 ชั้นประถมาภรณ์ ESP Charles III Order GC.svg
 บรูไน พ.ศ. 2533 Family Order of Brunei 2nd Class - Darjah Kerabat Seri Utama Yang Amat Dihormati - D.K. (Seri Utama) BRU Family Order of Brunei 2nd Class.svg
 ญี่ปุ่น พ.ศ. 2534 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันสูงส่งยิ่งดอกเบญจมาศ JPN Daikun''i kikkasho BAR.svg
 สหราชอาณาจักร พ.ศ. 2539 เครื่องราชอิสริยาภรณ์รอยัลวิกตอเรียน ชั้นอัศวินสูงสุด Royal Victorian Order UK ribbon.png
 เดนมาร์ก พ.ศ. 2544 เครื่องราชอิสริยาภรณ์ช้าง ชั้น อัศวิน Orderelefant ribbon.png
 เนเธอร์แลนด์ พ.ศ. 2547 เครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎ ชั้นประถมาภรณ์ NED Kroonorde A1 BAR.png
 รัฐตรังกานู   Most Distinguished Family Order of Terengganu ชั้นที่สอง MY-TER Family Order of Terengganu 2nd class - DK II.svg

พระยศทหาร[184]

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
รับใช้ กองทัพบกไทยกองทัพเรือไทยกองทัพอากาศไทย และ กองอาสารักษาดินแดน
ประจำการ
  • Flag of the Royal Thai Army.svg พ.ศ. 2535–ปัจจุบัน
  • Flag of the Royal Thai Navy.svg พ.ศ. 2535–ปัจจุบัน
  • Flag of the Royal Thai Air Force.svg พ.ศ. 2535–ปัจจุบัน
ชั้นยศ

สิ่งอันเนื่องมาด้วยพระบรมนามาภิไธย

สถาบันการศึกษา

การคมนาคม

ศาสนสถาน

สถานที่ราชการ

สถานที่

พระราชสันตติวงศ์

พระมเหสี และพระสนม

พระภรรยาเจ้า ตำแหน่งพระบรมราชินี
พระบรมฉายาลักษณ์ พระนาม พระสกุลวงศ์ พระราชบุตร
Queen Suthida, Royal ploughing ceremony 2019.jpg สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี
(สุทิดา ติดใจ)
บุตรีของ คำ ติดใจ และ คุณหญิงจั่งเฮียง ติดใจ ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา
อดีตพระภรรยาเจ้า
พระฉายาลักษณ์ พระนาม พระสกุลวงศ์ พระราชโอรส/พระราชธิดา
Soamsavali Kitiyakara.jpg พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ
(หม่อมหลวงโสมสวลี กิติยากร)
พระธิดาใน หม่อมราชวงศ์อดุลกิติ์ กิติยากร และ ท่านผู้หญิงพันธุ์สวลี กิติยากร (เดิม หม่อมเจ้าพันธุ์สวลี ยุคล)
HRH Srirasmi (Cropped).jpg ท่านผู้หญิง ศรีรัศมิ์ สุวะดี
เดิม พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
บุตรีของ อภิรุจ สุวะดี และ วันทนีย์ สุวะดี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร
อดีตหม่อม
รูป ชื่อ ชาติตระกูล พระราชโอรส/พระราชธิดา
  สุจาริณี วิวัชรวงศ์
เดิม หม่อมสุจาริณี มหิดล ณ อยุธยา
(ยุวธิดา ผลประเสริฐ)
บุตรีของ ธนิต ผลประเสริฐ และ เยาวลักษณ์ โกมารกุล ณ นคร
อดีตพระสนมเอก
รูป ชื่อ ชาติตระกูล พระราชบุตร
Sineenat Wongvajirapakdi during the royal cremation ceremony.jpg สินีนาฏ วงศ์วชิราภักดิ์
เดิม เจ้าคุณพระสินีนาฏ พิลาสกัลยาณี
(นิรมล อุ่นพรม)
บุตรีของ วิรัตน์ อุ่นพรม และ ปราณี อุ่นพรม ไม่มีพระราชโอรส-ธิดา

เหรียญที่ระลึก และเหรียญเฉลิมพระเกียรติ

เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

 
แพรแถบย่อ

เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร มีลักษณะ ดังนี้[207]

  • ลักษณะ เป็นเหรียญเงิน รูปกลมแบน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.1 เซนติเมตร ด้านหน้ามีพระรูปของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ทรงหันพระพักตร์ทางเบื้องขวา ริมขอบมีอักษรจารึกว่า "สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร" ด้านหลังมีอักษรพระนามาภิไธยย่อ "ว ก" เหนือพระนามาภิไธยย่อมีรูปจุลมงกุฎมีรัศมี ที่ริมขอบมีอักษรจารึกว่า "ที่ระลึกพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร 28 ธันวาคม 2515"
  • การประดับ ใช้ห้อยแพรแถบสีขาวริมเหลือง สำหรับบุรุษให้แพรแถบมีความกว้าง 3.1 เซนติเมตร สำหรับสตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากไม่ประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สามารถห้อยคอหรือประดับด้วยวิธีอื่น ๆ ตามสมควรโดยไม่มีแพรแถบก็ได้

เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555

 
แพรแถบย่อ

เหรียญที่ระลึกพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 มีลักษณะ ดังนี้

  • ลักษณะ เป็นเหรียญเงิน รูปกลมแบน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร
  • ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระรูปสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ริมขอบเหรียญโดยรอบประดับด้วยลายไทยประดิษฐ์
  • ด้านหลัง กลางเหรียญมีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555"
  • การประดับ ใช้ห้อยแพรแถบพื้นสีเหลือง ริ้วสีขาวจำนวน 5 ริ้ว สำหรับบุรุษให้แพรแถบมีความกว้าง 3.1 เซนติเมตร สำหรับสตรีห้อยแพรแถบผูกเป็นรูปแมลงปอ ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากไม่ประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สามารถห้อยคอหรือประดับด้วยวิธีอื่น ๆ ตามสมควรโดยไม่มีแพรแถบก็ได้

เหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562

 
แพรแถบย่อ

เหรียญเฉลิมพระเกียรติ ในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 4 พฤษภาคม 2562 มีลักษณะ ดังนี้[208]

  • ลักษณะ เป็นเหรียญเงินกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 32 มิลลิเมตร
  • ด้านหน้า กลางเหรียญมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ผินพระพักตร์ทางเบื้องขวา ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในวงขอบเหรียญเบื้องล่างมีข้อความว่า "พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว"
  • ด้านหลัง กลางเหรียญมีรูปตราพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายในวงขอบเหรียญเบื้องบนมีข้อความว่า "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" เบื้องล่างมีข้อความว่า "๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒"
  • ริมขอบเหรียญโดยรอบ ประดับด้วยลายไทยประดิษฐ์ ด้านหน้าขอบนอกเหรียญเบื้องบน มีเลข "๑๐" ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ ด้านหลังขอบนอกเหรียญมีห่วงสำหรับบุรุษใช้ห้อยกับแพรแถบกว้าง 32 มิลลิเมตร มีริ้วสีขาวนวลกับริ้วสีเหลืองสลับกัน
  • การประดับเหรียญนี้ ให้ประดับได้อย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากไม่ประดับอย่างเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จะประดับโดยใช้ห้อยคอหรือโดยใช้เป็นเข็มกลัดเสื้อโดยไม่มีแพรแถบก็ได้

รถยนต์พระที่นั่ง

 
รถยนต์พระที่นั่งในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทะเบียน ร.ย.ล.4

สังกัดกองพระราชพาหนะ พระราชวังดุสิต






                 ร่วมลงนามถวายพระพรออนไลน์


 


เข้าชม : 791


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      วันตรุษจีน 2566 24 / ม.ค. / 2566
      วันลอยกระทง 2565 9 / พ.ย. / 2565
      ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงา ๙๐ พรรษา 10 / ส.ค. / 2565
      28 กรกฎาคม 2565 วันเฉลิมพระชนมพรรษา \"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว\" 26 / ก.ค. / 2565
      วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา 7 / ก.ค. / 2565


 
ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอย่านตาขาว  ถนนสุนทรนนท์  อำเภอย่านตาขาว  จังหวัดตรัง 92140  โทร.075-281232
กศน.อำเภอย่านตาขาว  อำเภอย่านตาขาว  จังหวัดตรัง 92140 โทรศัพท์ 075-281769  
92140
yantakhao92140@gmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05