[x] ปิดหน้าต่างนี้
 

                                
 
 

    คำขวัญเมืองกันตัง

กันตังเมืองประวัติศาสตร์             บ้านพระยารัษฎาฯ
แหล่งกำเนิดยางพารา                          เด่นสง่าควนตำหนักจันทน์
สุดทางรถไฟอันดามันที่กันตัง           รำลึกความหลังที่วัดตรังคภูมิพุทธาวาส
 
 
พิพิธภัณฑ์พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี 

     อยู่ห่างจากเทศบาลกันตังประมาณ 200 ม. ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 1 ถนน ค่ายพิทักษ์ ตำบลกันตังเป็นที่ตั้งของสถานีประวัติศาสตร์ที่สำคัญแห่งหนึ่ง คือ "จวนเก่าเจ้าเมืองตรัง" หรือบ้านพักอดีตเจ้าเมืองตรังพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็นเรืองไม้ 2 ชั้น มีรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งและเครื่มือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ของพระยารัษฎาฯ อย่างครบถ้วน โดยทายาทตระกูล ณ ระนอง เป็นผู้ดูแลรักษา และเปิดโอกาสในให้ผู้สนใจเข้าชมทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ (ถ้าตรงกับวันหยุดราชการเปิดตามปกติ และหยุดชดเชยในวันต่อไป) ผู้เข้าชมเป็นคณะที่ต้องการวิทยากรบรรยาย กรุณาแจ้งล่วงหน้าที่ โรงเรียนกันตังพิทยากร โทร. (075) 251100




 

ศาลหลักเมืองตรัง

    ในปี พ.ศ. 2354 มีการตั้งเมืองตรังและมีการตั้งศาลหลักเมืองตรังปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลตวนธานี อำเภอกันตัง สถานที่ตั้งตรงจุดนี้อยู่บริเวณที่ตั้งเมืองเก่าหลักฐานการสร้างศาลหลักเมืองตรังเป็นเพียงการบอกเล่าของเชิงตำนานที่ถ่ายกันมาในหมู่ชาวตรังรุ่นเก่าๆว่าศาลหลักเมืองแห่งนี้มีวิญญาณอภิบาลเป็นสตรีจึงเรียกกันว่าศาลเจ้าแม่หลักเมืองเนื่องจากในพิธีตั้งศาลหลักเมืองนั้น พระอุภัย(บางแห่งว่าพระอุไทย) เจ้าเมืองให้ทหารตีฆ้องร้องป่าวไปตามบ้านต่างๆ ถ้าผู้ใดขานรับให้นำตัวมาฝังในการตั้งศาลหลักเมือง ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้เรื่องเข้าจึงไม่ยอมขาน แต่หญิงมีครรภ์ผู้หนึ่งชื่อนางบุญมากลังทำอาหารเย็นอยู่ในครัวเกิดพลั้งเผลอขานรับจึงนำตัวไปฝังพร้อมพิธีฝังเสาหลักเมือง

    ที่ตั้งศาลหลักเมืองเดิมเป็นเพิงเล็กๆหลังคามุงสังกะสีเสาหลักเมืองมีจอมปลวกขึ้นจนมองไม่เห็นตัวเสา เมื่องถึง พ.ศ. 2504-2505 ทางจังหวัดได้ตั้งศาลาจัตุรมุขขึ้นแทนเพิงหลังคาเก่า พ.ศ. 2530 สร้างรั้วและพ.ศ. 2532 ลาดพื้นรอบๆศาลา

    ศาลหลักเมืองตรังนับเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวตรังทั่วไปจนเกิดความเชื่อถือศรัทธาในทางความศักดิ์สิทธิ์มีการบนบานศาลกล่าวอยู่เสมอ เล่ากันว่าคณะหนังตะลุง มโนราห์ที่เดินทางผ่านศาลหลักเมืองนี้จะต้องตีกลองหรือบรรเลงดนตรีสักการะทุกครั้งที่ผ่าน เพื่อมิให้เกิดข้อขัดข้องในการเดินทางและการแสดง อีกเรื่องหนึ่งคือตามประเพณีถือศีลกินเจของคนไทยเชื่อสายจีนในจังหวัดตรังซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เมื่อขบวนแห่พระผ่านศาลหลักเมืองก็ต้องแวะหยุดสักการะ นอกจากนี้ชาวบ้านก็ได้ร่วมกันจัดพิธีถือศีลกินเจที่บริเวณศาลหลักเมืองขึ้นเป็นครั้งแรกใน พ.ศ.2511 และจัดต่อมาจนถึง พ.ศ.2533 จึงเลิกไปเพราะทางจังหวัดเตรียมการบูรณะ

   ใน พ.ศ.2535 ทางจังหวัดเริ่มโครงการบูรณะศาลหลักเมืองตรังเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยสร้างอาคารศาลหลักเมืองเป็นทรงไทยจัตุรมุขและจัดทำยอดเสาหลักเมืองใหม่ นำขึ้นน้อมเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงพระสุหร่ายและทรงเจิมในวันอังคารที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2536 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และอันเชิญยอดเสาหลักเมืองกลับจังหวัดตรัง ต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จฯแทนพระองค์ทรงเปิดศาลหลักเมืองตรังในวันที่ 8 เมษายน  พ.ศ.2538

    ทุกวันนี้ ความเชื่อถือศรัทธาต่อศาลหลักเมืองตรังยังคงสืบทอดต่อๆมาผู้คนที่ผ่านไปมามักยกมือไหว้คาระวะ หรือแวะสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะศาลหลักเมืองเป็นที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองตรังมานานกว่า 100 ปี

                                       

ตั้งอยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวเมืองอำเภอกันตัง
หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้นยางไม่โตสักเท่าไหร่เลย
เขาเล่าว่านี่คือหนึ่งในต้นยางชุดแรกที่ ท่านพระยารัษฎาฯ นำมาปลูก
แต่เผอิญต้นนี้ปลูกอยู่บนชั้นหินทำให้ต้นไม้ไม่โตเท่าที่ควร

 

ยางพาราเป็นพืชที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เริ่มจากการเดินทางไปพบทวีปอเมริกาของโคลัมบัส ในราวปี พ.ศ.2036 หรือเป็นเวลาประมาณ 510 ปีมาแล้ว ต่อมาได้มีการสำรวจหลายคณะเดินทางไปภายหลัง พบเห็นชาวอินเดียแดงซึ่งเป็นคนพื้นเมืองในอเมริกาใต้ นำลูกบอลล์ยางเล็กๆ มาเล่นเกมส์และเห็นเป็นของแปลกที่มีวัตถุกระดอนเต้นขึ้นลงได้ ชาวอินเดียแดงเรียกต้นยางว่า "คาอุห์ชุค" (Caoutchoue) แปลว่า "ต้นไม้ที่ร้องไห้" เพราะเมื่อต้นยางถูกของมีคมจะมีน้ำยางหยดไหลคล้ายหลั่งน้ำตา ชาวอินเดียแดงนำยางมาทำของใช้ต่างๆ เช่น ขวดหรือภาชนะที่ทำจากยาง และรองเท้ายางที่ทำง่ายๆ โดยใช้เท้าจุ่มลงในน้ำยางแล้วยกมาปล่อยให้แห้ง ทำหลายๆ ครั้งจะได้รองเท้ายางที่แนบสนิทเหมือนสวมถุงเท้า คณะนักสำรวจจากยุโรปเดินทางกลับได้มีผู้นำยางจากเมืองพารา (PARA) ซึ่งเป็นเมืองท่าแถบลุ่มน้ำอะเมซอนอเมริกาใต้ และเมื่อถึงยุโรปแล้วได้พบโดยบังเอิญว่า ถ้านำยางมาถูรอยดินสอจะลบรอยดินสอได้ (Rubber) ชื่อ "ยางพารา" หรือ PARA RUBBER จึงเป็นชื่อที่ติดปากคนทั่วโลกตั้งแต่นั้นมา

การค้นคว้าพัฒนายางทางอุตสาหกรรมในยุโรปขยายตัวอย่างรวดเร็ว เริ่มจากนำน้ำยางสดไปเคลือบผ้าทำผ้ายางกันฝนได้ นำไปผลิตทำที่รองรับความยืดหยุ่นของเครื่องยนต์ ใช้ทางการแพทย์ ทำอุปกรณ์กีฬาและของเล่นต่างๆ แต่ที่สำคัญแล้วใช้เป็นปริมาณมากที่สุด คือ ใช้ในอุตสาหกรรมทำยางรถยนต์ และใช้เทคโนโลยีสูดสุด ได้แก่ การทำล้อเครื่องบิน นอกจากนี้ยังใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ พวกโซฟา ที่นอนฟองน้ำ ทำให้เราได้นั่งได้นอนที่นุ่มๆ แสนสบาย ยางพาราจึงเป็นต้นไม้ที่สวรรค์ประทานมา เพื่อความผาสุขของมวลมนุษย์ชาติ

ยางพาราเข้าสู่ไทย
ประมาณปี พ.ศ.2442 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองตรัง ได้นำยางพาราจากมาเลเซียเข้ามาปลูกที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรังเป็นแห่งแรก และต้นยางต้นดังกล่าวปัจจุบันก็ยังอยู่ ซึ่งตั้งอยู่ริมถนนก่อนเข้าสู่ตัวเมืองอำเภอกันตัง นับจากเริ่มปลูกครั้งแรกถึง พ.ศ.2548 ยางพาราไทย อายุครบ 106 ปี

เหตุใดต้องมีสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.)
ต้นยางแก่ที่ปลูกมา 20-25 ปี หน้ากรีดจะเสียหายและให้ผลผลิตน้อยไม่คุ้มค่า และไม่สามารถจะยึดถือเป็นอาชีพต่อไปได้ เจ้าของสวนยางส่วนใหญ่ 80-90 เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของสวนยางขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีทุนรอนที่จะไปทำการโค่นปลูกใหม่ได้ ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้าน คือ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ได้จัดตั้งกองทุนสงเคราะห์ช่วยเหลือเจ้าของสวนยางในประเทศของเขา ในการแก้ปัญหาดังกล่าว จากแนวคิดนี้รัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้ออกพระราชบัญญัติกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางขึ้นในปี พ.ศ.2503 ให้ สกย.เป็นองค์กรของรัฐประเภทไม่แสวงหาผลกำไรเชิงธุระกิจ โดยให้ทำการเก็บเงินสงเคราะห์ (Cess) จากผู้ส่งยางออกนอกราชอาณาจักรแล้วนำเงินทุนดังกล่าวมาบริหารงาน 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ จ่ายให้กรมวิชาการเกษตร เพื่อค้นคว้าทดลองเกี่ยวกับยาง และ 85 เปอร์เซ็นต์ ต้องนำมาเพื่อให้การสงเคราะห์ปลูกแทน การให้ทุนสงเคราะห์ปลูกแทนนั้น นอกจากให้ปลูกยางพันธุ์ดีแล้ว สกย.ยังให้ทำการปลูกแทนด้วยไม้ผลและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ได้อีกประมาณ 30 ชนิด และที่นิยมขอทุนปลูกแทนกันกว้างขวางขณะนี้ คือ ขอปลูกแทนด้วยปาล์มน้ำมัน ปาล์มน้ำมันจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มาแรง มีการขอทุนกันมากขึ้นทุกปี

ปัจจุบันประเทศไทยผลิตยางพาราธรรมชาติได้มากที่สุดในโลก เนื้อที่ปลูกประมาณ 12.3 ล้านไร่ มีผลผลิตส่งออกปีละประมาณ 2.4 ล้านตัน มูลค่า 100,000 ล้านบาท/ปี ส่งออกไปในรูปน้ำยางข้น (Concentrate Latex) ยางแผ่นรมควัน (Ribbed Smoke Sheet : RSS) ยางอบแห้ง (Air Dried Sheet : ADS) และยางแท่ง (Standard Thai Rubber : STR) และที่ตลาดต้องการมากที่สุดคือยางแผ่นรมควันชั้น 3 (RSS 3) และยางแท่งเบอร์ 20 (STR 20) เพราะยางทั้งสองชนิดนี้นำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทำยางรถยนต์


          ก่อนจะเข้าเมืองกันตังคุณจะเห็นป้ายบอก "ต้นยางพารา" ต้นแรกของประเทศไทย ตระหง่าน เชิญชวนให้คุณแวะเยี่ยมชมเมือง หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้นยางไม่โตสักเท่าไหร่เลย เขาเล่าว่า นี่คือหนึ่งในต้นยางชุดแรกที่ ท่านพระยารัษฎาฯ นำมาปลูกจากมลายู และเผอิญต้นนี้ปลูกอยู่บนชั้นหินทำให้ต้นไม้ไม่โตเท่าที่ควร

 
วัดตรังคภูมิพุทธาวาส, ตรัง
 

ประวัติ

เดิมชื่อวัดกันตัง สร้างเป็นวัดคู่เมืองกันตัง เมื่อพ.ศ. 2436 ในครั้งที่ย้ายเมืองจาก ต.ควนธานี มากันตัง ต่อมา พ.ศ. 2455 สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานชื่อให้ใหม่เป็นวัดตรังคภูมิพุทธาวาส
เมื่อคราวสร้างวัด พระยารัษฎาฯ ได้อัญเชิญพระพุทธรูปหินอ่อนจากพม่า มาเป็นพระประจำวัด ชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อขาวต่อมามีการทาสีทองทับองค์พระ และเพิ่มพระเกตุมาลาเป็นรูปเปลวเพลิงแบบพระพุทธรูปของไทย ในปี พ.ศ. 2534 มีการปฏิสังขรณ์และขัดสีทองที่องค์พระกลับมาเป็นสีขาวของหินอ่อนดังเดิม

วัดตรังคภูมิพุทธาวาสเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปหินอ่อนที่ อัญเชิญมาจากประเทศพม่า ตั้งแต่ครั้งสร้างเมืองกันตังและนับเป็นพระพุทธรูปหินอ่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ จ. ตรัง
ที่ตั้งและการเดินทาง
308 บ้านกันตัง ต.กันตัง อ.กันตัง
รถยนต์ส่วนตัว
ใช้ทางหลวงหมายเลข 403 ตรัง-กันตัง อยู่ซ้ายมือก่อนถึงเมืองกันตังประมาณ 1 กม. เยื้องกับต้นยางพาราต้นแรก

 


สวนสาธารณะควนตำหนักจันทร์หรือสวนตำหนักจันทร์

มีเนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ เป็นสถานที่ที่สร้างขึ้นเป็นตำหนักรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธสยามมงกุฎราชกุมาร เสด็จประทับ ณ ตำหนัก-จันทน์แห่งนี้ปัจจุบันได้รับการปรับปรุงและตกแต่งสภาพภูมิทัศน์ให้เป็นสวนสาธารณะและเนื่องจากสถานตั้งของตำหนักจันทน์อยู่บนเนิน จึงได้รับการขนานนามใหม่ว่า “สวนสาธารณควนตำหนักจันทน์” (ควนเป็นภาษาถิ่นหมายถึง เนิน) รอบบริเวณร่มรื่นด้วยต้นไม้ทั้งไม้ดอกไม้ประดับ มีศาลาพักผ่อน สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของทะเล และอำเภอกันตังได้กว้างไกล



สถานีรถไฟกันตัง


บทความน่ารู้ : เรื่องสถานีรถไฟกันตัง
ที่นี่คือศูนย์รวมบทความที่น่าสนใจและให้ความรู้จากทุกมุมโลก เพื่อเป็นแหล่งความรู้สำหรับคนไทยทุกคน

 


อาทิตย์นี้ขอนำท่านผู้อ่านไปทัศนาสถาปัตย์โดยทางรถไฟ ซึ่งหลายคนคงยังไม่ลืมบรรยากาศของการนั่งรถไฟ หากมีโอกาสได้พาลูกหลานนั่งรถไฟบ้าง ก็นับเป็นการเที่ยวแบบประหยัดน้ำมันไม่เลว

เป้าหมายของเราไม่ได้อยู่เพียงแค่บรรยากาศของการนั่งรถไฟเท่านั้น แต่อยู่ที่ปลายทางรถไฟสายใต้ฝั่งทะเลอันดามัน ณ สถานีรถไฟกันตัง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

สถานีรถไฟกันตัง เปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456 ในอดีตถูกใช้เป็นที่รับส่งสินค้ากับต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีรางรถไฟต่อไปเป็นระยะทางประมาณ 500 เมตร จากตัวสถานีถึงท่าเทียบเรือกันตัง ซึ่งเป็นท่าเรือเก่าแก่ตั้งแต่โบราณ ปัจจุบันทางรถไฟส่วนนี้ถูกชาวบ้านรุกล้ำที่ และไม่มีรางรถไฟส่วนนี้แล้ว

จากความทรงจำของ อดีตวิศวกรรถไฟ ทำให้ได้ทราบว่าสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งที่ขนส่งเข้ามา มีความหมายยิ่งต่อวงการรถไฟไทยยุคแรก ๆ นั่นคือหัวรถจักรรุ่นต่าง ๆ ตลอดจนโบกี้รถไฟที่ผลิตในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ หรืออินเดีย โดย จะมาทางเรือและขึ้นเทียบท่าที่กันตัง ก่อนออกวิ่งบนรางรถไฟต่อมายังกรุงเทพฯ อีกที

เมื่อกาลเวลาผ่านไปเส้นทางในการส่งสินค้าแปรเปลี่ยนไปตามแหล่งผลิต เช่นการที่รถไฟหันไปสั่งหัวรถจักรมาจากญี่ปุ่น อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เส้นทางรถไฟฝั่งอันดามันที่ต่อเชื่อมไปยังท่าเรือกันตังถูกทิ้งร้างลงดังเช่นทุกวันนี้

ตัวสถานีรถไฟกันตัง เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวทรงปั้นหยา ทาสีเหลืองมัสตาร์ดสลับน้ำตาล อันเป็นคู่สีหลักที่คุ้นตาของอาคารรถไฟทั่วไป ตัวอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนตัวอาคารและชานชาลา ด้านหน้าของอาคารมีมุข ยื่น มีการตกแต่งประดับมุมเสาด้วย ลวดลายไม้ฉลุ

ส่วนตัว อาคารที่ทำเป็นห้อง มีผนังไม้ตีตามตั้งโชว์แนวเคร่า พร้อมช่องลมระแนงไม้ตีทแยง บานประตูหน้าต่างไม้แบบเก่า ส่วนที่เป็นโถงมีรั้วลูกกรงไม้พร้อมบานประตูขนาดเล็กน่ารักกั้นพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน ส่วนด้านหลังอาคารเป็นชานชาลามีหลังคาจั่วคลุมแยกต่างหาก โดยเสารับหลังคาชานชาลานี้มีค้ำยันไม้ฉลุตกแต่งให้กลมกลืนกับตัวอาคาร

ภายในสถานียังพอมีข้าวของเครื่องใช้ในอดีตคงเหลืออยู่บ้าง โดยภาพรวมแล้วยังรักษาเอกลักษณ์เดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ไว้ได้เป็นอย่างดี นับเป็นสถานีรถไฟที่มีความสวยงามเป็นพิเศษ จากสถานะที่มีความสำคัญต่อกิจการรถไฟดังที่กล่าวมา ทำให้ไม่แปลกใจว่าทำไมสถานีรถไฟปลายทางเล็ก ๆ แห่งนี้จึงถูกออกแบบอย่างพิถีพิถันเช่นนี้ ซึ่งเป็นผลทำให้ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของจังหวัดตรัง จากกรมศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2539

นอกจากตัวสถานี พื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟแห่งนี้ในอดีตเคยคึกคักไปด้วยโรงเก็บรถจักร และบ้านพักพนักงานการรถไฟ แต่ปัจจุบันได้เงียบเหงาลงตามวัฏจักรของสรรพสิ่ง คงไว้แต่ร่องรอยของอดีตผ่านตัวอาคารและคำบอกเล่า ที่คนรุ่นหลังคงนึกภาพให้ออกได้ยากเต็มที

ท้ายสุดนี้มีข้อสังเกตว่าในอดีตสถานีรถไฟ และชุมชนบ้านพักรถไฟเกือบทุกแห่ง ล้วนแต่ได้รับการออกแบบจัดวางผังเป็นอย่างดี มีระบบและแบบแผน ที่สมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันคนรถไฟที่พอมีฐานะเลือกที่จะออกไปซื้อบ้านจัดสรรอยู่เสียมาก

ส่วนที่คงอาศัยอยู่ก็ขาดการบำรุงรักษา ทำให้สภาพบ้านพักรถไฟส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้งชำรุดทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ หากการรถไฟฯ วาง แผนฟื้นฟูโดยไม่ต้องลงทุนมากนัก เช่นปรับประโยชน์ใช้สอยบ้านพักรถไฟให้เป็นที่พักคนเดินทาง โดย มีบริการให้ในระดับเดียวกับโฮม สเตย์ ก็อาจเป็นการเพิ่มรายได้ที่ดีกว่า ปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรมลงไป เรื่อย ๆ โดยอาจใช้ชื่อให้เป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใครว่า Railway Home Station เพื่อสร้าง แบรนด์

หากเริ่มที่สถานีรถไฟกันตัง ซึ่ง อยู่ในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพในการท่องเที่ยวสูงก่อน ก็อาจเป็นโครงการนำร่องที่มีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จ และกระตุ้นให้มีกำลังใจ และกำลังทุนที่จะพัฒนาพื้นที่อื่น ๆ ของรถไฟให้ฟื้นคืนชีวิตชีวาได้ต่อไป.


 


ข้อมูลภาพอ้างอิง : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่ม 13

 




เข้าชม : 6701