วันชาติไทย

วันชาติไทย

วันชาติของไทย คือ วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน

ความเป็นมาของวันชาติต่างประเทศ

โดยทั่วไป “วันชาติ” มักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้นๆ ได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง “วันชาติ” ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศโมร็อกโก]] ตรงกับวันที่ 2 มีนาคม สหรัฐอเมริกา ตรงกับวันที่ 4 กรกฎาคม ฝรั่งเศสตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม อินโดนีเซียตรงกับวันที่ 17 สิงหาคมบราซิล]]ตรงกับวันที่ 7 กันยายน และเคนย่าตรงกับวันที่ 12 ธันวาคม เป็นต้น

“วันชาติ” ของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีเพียงวันเดียว แต่ก็มีบางประเทศเช่นกันที่มี “วันชาติ” มากกว่าหนึ่งวัน ทั้งนี้เพราะประเทศนั้นๆ อาจจะนับวันที่ได้รับเอกราชหรือวันที่ปลดแอกจากการเป็นอาณานิคม และวันที่มีการสถาปนาการปกครองขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะมิใช่วันเดียวกัน แต่เป็นวันสำคัญเสมือนวันชาติเท่าๆกัน เช่น ประเทศปากีสถาน จะมีวันชาติตรงกับวันที่ 23 มีนาคม ที่เขาเรียกว่า “Republic Day” และวันที่ 14 สิงหาคม เป็น “Independence Day” ส่วนฮังการี ก็มีถึง 3 วันคือ วันที่ 15 มีนาคม 20 สิงหาคม และ 23 ตุลาคม สำหรับจีน นอกจากจะมีวันชาติตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม แล้ว ที่ฮ่องกง อันเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ที่มีขึ้นหลังจากอังกฤษ คืนเกาะ ฮ่องกง ให้จีนก็มีการเฉลิมฉลองวันที่ตรงกับวันสถาปนาการปกครองพิเศษนี้ขึ้น ในวันที่ 1 กรกฎาคม อีกด้วย

ความเป็นมาของวันชาติไทย

สำหรับประเทศไทย เราเคยได้มีการกำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็น “วันชาติ”ของไทย ด้วยถือว่าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง “วันชาติ” ลงวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 โดย พ.อ.พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น และได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน ครั้งแรกในปีพ.ศ. 2482 ในสมัยจอมพลป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

วันที่ 24 มิถุนายน เป็น “วันชาติ” ของไทยอยู่นานถึง 21 ปี ครั้น วันที่ 21 พฤษภาคม 2503 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยให้เหตุผลว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ 24 มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมีพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่างๆกัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ โดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น

แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวัน[[พระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันชาติ เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เองคณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดยยกเลิกวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายนเสีย

ดังนั้น นับแต่ปี พ.ศ. 2503 ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปี เป็น “วันชาติ” ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

กิจกรรมวันชาติไทย

ตามปกติ การจัดงาน “วันชาติ” ของประเทศต่างๆ ก็จะมีกิจกรรมและรูปแบบแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ก็มักจะมีการกล่าวสุนทรพจน์ การจัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง การจุดพลุดอกไม้ไฟอย่างเอิกเกริก รวมไปถึงการแสดงมหรสพต่างๆ เป็นต้น แต่ในประเทศไทย เนื่องจากวันชาติ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งมีกิจกรรมเฉลิมฉลองอยู่แล้ว กอปรกับประเทศไทยยังไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมาก่อน และคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็คุ้นชินกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เห็นกันอยู่ปัจจุบัน

ดังนั้น “วันชาติ” ของเราจึงดูเหมือนไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก เพราะชาวไทยทุกหมู่เหล่าล้วนตัองการจัดกิจกรรมเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “พ่อหลวงของแผ่นดิน” มากกว่าประเด็นอื่น อย่างไรก็ดี หากเราจะระลึกว่าวันนี้ ก็เป็น “วันชาติ”ของไทยด้วย แล้วจัดกิจกรรมต่างๆที่จะแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อ “ประเทศชาติ” ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และความเสียสละมาอย่างยาวนานเช่นไร ก็อาจจะทำให้วันนี้ มีความหมายครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ข้อมูล สนุก พีเดีย