[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 





 

 

  

เครือข่ายจัดการศึกษานอกโรงเรียน
วันกองทัพไทย

พุธ ที่ 21 เดือน มกราคม พ.ศ.2558


 

วันกองทัพไทย วันยุทธหัตถี วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงเป็นวีรกษัตริย์นักรบที่มีพระปรีชาสามารถยิ่ง ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย โดยเฉพาะวีรกรรมที่ทรงกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาแห่งพม่านั้น . . . เป็นที่เลื่องลือมาจนถึงปัจจุบัน โดยให้มีการจัดกิจกรรม การประกอบพิธีบวงสรวง การวางพานพุ่มสักการะที่บริเวณพระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์ และให้มีงานสมโภชอนุสรณ์ดอนเจดีย์ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในวันที่ ๑๘ มกราคม เป็นประจำทุกปี เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

 

วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา เรียกกันว่า “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และทางกองทัพไทยได้กำหนดให้เป็น “วันกองทัพไทย” ด้วย ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๕ มกราคม ของทุกปี ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๘ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้วันที่ ๒๕ เมษายนของทุกปี เป็น “วันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” และเป็นวันรัฐพิธี แทนวันจันทร์ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๖ อันเป็นการนับทางจันทรคติ โดยให้มีการวางพวงมาลาและสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ และได้กำหนดใหม่ ให้วันที่ ๑๘ มกราคม ของทุกปีเป็น “วันยุทธหัตถี” และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ ๒๕ มกราคมของทุกปี โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน การที่มีการเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองดังกล่าว ก็ด้วยว่าเป็นการนับวันทางสุริยคติ ซึ่งคนปัจจุบันคุ้นชิน จำได้ง่าย และมีความเหมาะสมมากกว่า อีกทั้ง นายประเสริฐ ณ นคร ราชบัณฑิต ก็ได้คำนวณแล้วพบว่าการนับวันทางจันทรคติของวันกระทำยุทธหัตถีเดิมที่ตรงกับวันจันทร์ เดือน ๒ แรม ๒ ค่ำ จุลศักราช ๙๕๔ ที่กำหนดเป็นวันที่ ๒๕ มกราคมนั้น คลาดเคลื่อน จึงได้มีการเปลี่ยนใหม่ให้ตรงกับความเป็นจริง คือ เป็นวันที่ ๑๘ มกราคมดังกล่าว ดังนั้น ในปัจจุบัน วันที่ ๑๘ มกราคม จึงถือเป็น “วันยุทธหัตถี” หรือ “วันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช”

ยุทธหัตถี หมายถึง การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง เป็นการรบอย่างกษัตริย์สมัยโบราณ โดยบนหลังช้างจะมีคนนั่งอยู่สามคน ตัวแม่ทัพจะถือง้าวอยู่ที่คอช้าง คนที่นั่งกลางจะอยู่บนกูบและถือหางนกยูงซ้ายขวาโบกเป็นสัญญาณ และคอยส่งอาวุธให้แม่ทัพ อาจจะมีการสับเปลี่ยนที่นั่งกันตอนกระทำการรบ ที่ท้ายช้างจะมีควาญนั่งประจำที่ ตามเท้าช้างทั้งสี่มีพลประจำเรียกว่า จตุรงคบาท คนทั้งหมดจะถืออาวุธ เช่น ปืนปลายขอ หอกซัด ของ้าว ขอเกราะเขน แพน ถ้าเป็นช้างยุทธหัตถีจะมีหอกผูกผ้าสีแดงสองเล่ม ปืนใหญ่หันปากออกข้างขวาหนึ่งกระบอก ข้างซ้ายหนึ่งกระบอก มีนายทหารและพลทหารสวมเกราะโพกผ้า ช้างที่เข้ากระบวนทัพจะสวมเกราะใส่เกือกหรือรองเท้าเหล็กสำหรับกันขวากหนาม โดยทั้งที่สี่เท้าสวมหน้าราห์มีปลอกเหล็กสวมงาทั้งคู่ และมีเกราะโว่พันงวงช้าง สำหรับพังหอค่ายโดยไม่เจ็บปวด การต่อสู้ด้วยอาวุธบนหลังช้าง ถือเป็นคติมาแต่โบราณว่าเป็นยอดยุทธวิถีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้กันตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่ว บวกกับความชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน ไม่ได้อาศัยลี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด กล่าวกันว่า ในชมพูทวีป (ดินแดนที่เป็นอินเดีย ปากีสถาน เนปาลและบังคลาเทศในปัจจุบัน) ถือเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า ยุทธหัตถีหรือการชนช้างเป็นยอดยุทธวิธีของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้อย่างตัวต่อตัว แพ้ชนะกันด้วยความคล่องแคล่วแกล้วกล้า กับการชำนิชำนาญในการขับขี่ช้างชน โดยมิต้องอาศัยรี้พลหรือกลอุบายแต่อย่างใด เพราะโดยปกติ ในการทำสงครามโอกาสที่จอมทัพทั้งสองฝ่ายจะเข้าใกล้ชิดจนถึงชนช้างกันมีน้อยมาก ดังนั้น กษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีชนะก็จะได้รับการยกย่องว่า มีพระเกียรติยศสูงสุด และแม้แต่ผู้แพ้ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นนักรบแท้ มิได้ติเตียนกันเลย ซึ่งคติที่ว่าเป็นความนิยมของไทยด้วยเช่นกัน

 

สำหรับความเป็นมาของการทำยุทธหัตถีที่สำคัญที่สุดของไทยก็คือ ในสมัยที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงกระทำยุทธหัตถีชนะสมเด็จพระมหาอุปราชา จากข้อความในหนังสือพงศาวดารตอนที่สำคัญที่สุดของประวัติศาสตร์ของชาติไทยกล่าวไว้ดังนี้

 

สงครามยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๓๕ เมื่อพระเจ้านันทบุเรงได้ให้พระมหาอุปราชายกทัพใหญ่มาตีกรุงศรีอยุธยา หวังจะเอาชนะให้ได้โดยเด็ดขาด สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทราบข่าวจึงยกทัพหลวงไปตั้งรับที่หนองสาหร่าย ซึ่งในการต่อสู้กันครั้งนั้น ระหว่างที่การรบกำลังติดพัน ช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และพระเอกาทศรถก็พากันไล่ล่าศัตรูอย่างเมามัน จนพาทั้งสองพระองค์ตกไปอยู่ในวงล้อมของข้าศึกโดยไม่รู้ตัว มีเพียงจตุลังคบาท(ผู้รักษาเท้าทั้งสี่ของช้างทรง) และทหารรักษาพระองค์เท่านั้นที่ติดตามไปทัน แม้จะอยู่ในสภาวะเสียเปรียบ แต่พระองค์ก็มีพระสติมั่น ไม่หวั่นไหว ทรงมีพระปฏิภาณว่องไวเกิดขึ้นโดยพระอุปนิสัยว่า พระองค์จะรอดได้มีเพียงทางเดียวคือ เชิญพระมหาอุปราชาเสด็จมาทำยุทธหัตถี ซึ่งพระองค์ก็สามารถกระทำยุทธหัตถีจนได้ชัยชนะอย่างสมพระเกียรติ และนับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกเลย มีแต่ฝ่ายไทยยกไปปราบปรามข้าศึก และทำสงครามขยายอาณาเขตให้กว้างขวางขึ้นกว่าแต่ก่อน

สำหรับช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชที่มีชัยแก่ข้าศึกในสงครามยุทธหัตถี แต่เดิมมีชื่อว่า “พลายภูเขาทอง” เมื่อขึ้นระวางได้เป็น “เจ้าพระยาไชยานุภาพ” และเมื่อมีชัยก็ได้รับพระราชทานชื่อว่า “เจ้าพระยาปราบหงสา” ส่วนพระแสงของ้าวที่ทรงฟันพระมหาอุปราชา มีชื่อว่า “เจ้าพระยาแสนพลพ่าย” และพระมาลาที่ถูกฟันขาดลงไป ตอนทรงเบี่ยงหลบ มีชื่อว่า “พระมาลาเบี่ยง”

 

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงเชี่ยวชาญการรบยิ่ง ทรงฉลาดในการวางแผนยุทธวิธีและอุบายกระบวนศึกที่ไม่เหมือนผู้ใดในสมัยเดียวกัน ทรงเป็นผู้ริเริ่มการรบแบบกองโจร คือ ใช้คนน้อยแต่สามารถต่อสู้กับคนจำนวนมากได้ พระองค์มีความสามารถในการใช้อาวุธที่ทำการรบแทบทุกชนิดอย่างเชี่ยวชาญ ยากจะหาผู้ใดเสมอเหมือน อาวุธที่พระองค์ได้แสดงความสามารถให้ประจักษ์มาแล้ว ได้แก่

๑.ปืน เช่น เหตุการณ์ที่แม่น้ำสะโตง ที่ทรงยิงพระแสงปืนกระบอกหนึ่งยาว ๙ คืบถูกสุรกรรมา ผู้บังคับกองฯของพม่าตายอยู่กับช้าง แสดงว่าทรงปืนแม่นมาก 
๒.ดาบ เป็นอาวุธที่พระองค์ทรงชำนาญในการรบประชิด เช่น เมื่อครั้งปีนค่ายพม่า จนมี “พระแสงดาบคาบค่าย” 
๓.ทวน ในกรณีสังหารลักไวทำมู ทหารพม่าที่จะมาจับพระองค์ 
๔.ง้าว เช่นในคราวสงครามยุทธหัตถี ที่ทรงใช้พระแสงของ้าวฟันถูกพระอังสะ(ไหล่)พระมหาอุปราชาจนขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์บนคอช้าง

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีความสามารถในการใช้อาวุธทั้งสี่ประเภทได้อย่างดีเยี่ยม ฝีมือการรบของพระองค์นั้นเรียกได้ว่าเก่งกาจจนเป็นที่ครั่นคร้ามแก่ข้าศึกศัตรู ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าพอสรุปได้ว่า วันหนึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงตัดพ้อว่า ไม่มีใครที่จะอาสามาสู้รบกับกรุงศรีอยุธยาเลย ทั้งๆ ที่พระนเรศวรมีรี้พลแค่หยิบมือเดียว แต่ก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง พระยาลอ ขุนนางคนหนึ่ง จึงทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญที่พระนเรศวรองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็งทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาด รี้พลทั้งนายไพร่กลัวพระนเรศวรยิ่งกว่ากลัวความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไรก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก ข้อความดังกล่าว เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงพระบารมีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้อย่างชัดเจน

 

ตลอดระยะเวลาที่เสด็จขึ้นครองราชย์ ๑๕ ปี ตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๑๓๓ จนเสด็จสวรรคตเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๑๔๘ ทรงอุทิศเวลาเกือบตลอดรัชสมัยให้กับการศึกสงครามเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและความยิ่งใหญ่ให้กรุงศรีอยุธยาตลอดมา กล่าวกันว่าทรงนำทหารเข้ารบและทำศึกสงคราม มากกว่า ๑๕ ครั้ง แต่การรบที่สำคัญและเด่นๆ มี ๓ ครั้ง คือ เมื่อพ.ศ. ๒๑๒๖ ที่ไปตีเมืองคัง ได้แสดงออกถึงพระปรีชาสามารถในการดำเนินกลศึก จนสามารถจับเจ้าเมืองคังถวายพระเจ้าหงสาวดีได้ ครั้น ปี พ.ศ. ๒๑๒๙ คราวพม่ายกล้อมกรุง ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีเสด็จมาเอง โดยมีกำลังพลถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน และเป็นทัพกษัตริย์ถึง ๓ ทัพคือ ทัพพระเจ้าหงสาวดี ทัพพระมหาอุปราชา และทัพพระเจ้าตองอู ครานั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ใช้ยุทธศาสตร์การเดินทหารด้วยทางเส้นในจนได้รับชัยชนะ โดยพม่าไม่มีโอกาสเข้ามาประชิดกำแพงเมืองเลย และอีกครั้งคือ คราวสงครามยุทธหัตถีตามที่กล่าวมาแล้ว และแม้แต่วาระสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ ก็ยังทรงอยู่ในระหว่างการรบ คือทรงยกทัพไปตีเมืองอังวะ แต่เกิดประชวรเป็นหัวระลอก(ฝี) ขึ้นที่พระพักตร์และเป็นพิษจนสวรรคตไปเสียก่อน เมื่อพ.ศ. ๒๑๔๘ รวมสิริพระชนมายุได้ ๕๐ พรรษา

 

การทำยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ถือเป็นกลยุทธที่นับว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ เป็นยอดแห่งชัยมงคล และเป็นครั้งสุดท้ายในประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากนี้ ยังเป็นวีรกรรมครั้งสำคัญที่ทำให้พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นที่เลื่องลือไปไกล เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ชาตินักรบอย่างแท้จริง เป็นผู้นำที่กล้าหาญและมีฝีมือการรบที่เก่งกาจจึงทำให้ทรงรบชนะมาโดยตลอด และยังเป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าไม่มีข้าศึกใดกล้ายกทัพมารุกรานไทยนานถึง ๑๕๐ ปี

 

ดังนั้น ในฐานะที่เราเป็นประชาชนคนไทยที่เกิดบนผืนแผ่นดินไทย จึงควรตระหนักและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน ด้วยการตั้งมั่นกระทำความดีแก่สังคม และประเทศชาติ โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ และที่สำคัญที่สุด คือ ความสามัคคี เมื่อคนไทยทุกคนมีความสามัคคี สังคมไทยของเราก็จะอยู่กันอย่างสงบสุข ปราศจากความแตกแยกทั้งปวง เพื่อตอบแทนพระคุณของพระองค์ท่านที่ได้ทรงเสียสละเลือดเนื้อเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดินไทยของเราได้อยู่จนมาถึงปัจจุบันนี้

 

กิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำในวันกองทัพไทย 
1. ทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศเป็นส่วนพระราชกุศลและกุศลแก่บรรพบุรุษ 
2. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ 
3. จัดแสดงนิทรรศการ เกี่ยวกับความเป็นมาของความกล้าหาญแห่งวีรกษัตริย์ไทย และวันกองทัพไทย

 



เข้าชม : 1041


เครือข่ายจัดการศึกษานอกโรงเรียน 5 อันดับล่าสุด

      โครงการบรรณศัญจร (Book Voyage) 14 / ก.พ. / 2560
      ศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่ห้องสมุด 20 / ก.พ. / 2559
      กิจกรรมส่งเสริมการอ่านในโครงการอำเภอยิ้ม.. 15 / ธ.ค. / 2558
      วันสุนทรภู่ 29 / มิ.ย. / 2558
      วันกองทัพไทย 21 / ม.ค. / 2558




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้ง ที่นี่ เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 
ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอห้วยยอด
ที่ตั้ง 2 ถนนมหามิตร ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง รหัสไปรษณีย์ 92130
โทรศัพท์ 0-7527-1498 แฟกซ์ 0-7527-1718 ปรับปรุงเว็บไซต์โดย น.ส.จันทร์เลขา  ทองสิงห์

Janlaekha6436@gmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05