[x] ปิดหน้าต่างนี้
 
 





 

 

  

บทความทั่วไป
การอ่านจับใจความสำคัญและการอ่านคิดวิเคราะห์

พุธ ที่ 10 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2554

คะแนน vote : 121  

 การอ่านจับใจความสำคัญและการอ่านคิดวิเคราะห์

ความสำคัญ

             การอ่านเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาหาความรู้ และพัฒนาชีวิต ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิด

ความรู้แล้วยังก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้แนวคิดใน

การดำเนินชีวิต การอ่านจึงเป็นหัวใจของการศึกษาทุกระดับ และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้เรื่องต่างๆ

             การอ่านที่ดีมีประสิทธิภาพ จะต้องอ่านแล้วจับใจความได้ สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่อ่านได้

แต่การสำรวจการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนพบว่า ปัญหาที่สำคัญในการอ่านของผู้เรียนคือ

อ่านแล้วจับใจความสำคัญไม่ได้ ไม่สามารถสรุปประเด็นได้ ไม่สามารถแยกความรู้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น

ไม่สามารถแยกใจความสำคัญกับใจความรองได้ ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่านเท่าที่ควร

ทั้งยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการศึกษาวิชาต่างๆด้วย

             หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดคุณภาพของผู้เรียนด้านความเข้าใจ

ในการอ่านไว้ในช่วงชั้นเช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 กำหนดให้อ่านแล้ว ..เข้าใจข้อความที่อ่าน.. 

ช่วงชั้น 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ..อ่านแล้วจับประเด็นสำคัญแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น วิเคราะห์ความ

ตีความ สรุปความได้.. ช่วงชั้นที่ 3 คือมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 อ่านแล้วแสดงความคิดเห็นเชิง วิเคราะห์

ประเมินค่าเรื่องที่อ่านอย่างมีเหตุผลและในช่วงชั้นปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 อ่านแล้วสามารถตีความ

แปลความ และขยายความเรื่องที่อย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ วิจารณ์ ประเมินค่าเรื่องที่อ่านได้.. ซึ่งผู้เรียนจะมีคุณภาพ

ดังกล่าวได้ ต้องมีความสามารถในการอ่านจับใจความและเข้าใจเรื่องราวต่างๆ จากการอ่านได้เป็นอย่างดี


ความหมาย

 

             การอ่านจับใจความ คือ การอ่านที่มุ่งค้นหาสาระของเรื่องหรือของหนังสือแต่ละเล่มที่เป็นส่วน

ใจความสำคัญ และส่วนขยายใจความสำคัญของเรื่อง

             ใจความสำคัญของเรื่อง คือ ข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือเรื่องนั้นทั้งหมด 

ข้อความอื่นๆ เป็นเพียงส่วนขยายใจความสำคัญเท่านั้น ข้อความหนึ่งหรือตอนหนึ่งจะมีใจความสำคัญที่สุด

เพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นเป็นใจความรอง คำว่าใจความสำคัญนี้ ผู้รู้ได้เรียกไว้เป็นหลายอย่าง เช่น ข้อคิดสำคัญ

ของเรื่อง แก่นของเรื่อง หรือ ความคิดหลัก ของเรื่องแต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญก็คือ

สิ่งที่เป็นสาระที่สำคัญที่สุดของเรื่องนั่นเอง

             ใจความสำคัญส่วนมากจะมีลักษณะเป็นประโยค ซึ่งอาจปรากฏอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของย่อหน้าก็ได้

             จุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องในแต่ละย่อหน้ามากที่สุดคือ ประโยคที่อยู่ตอนต้นย่อหน้า 

เพราะผู้เขียนมักบอกประเด็นสำคัญไว้ก่อน แล้วจึงขยายรายละเอียดให้ชัดเจน รองลงมาคือประโยคตอนท้ายย่อหน้า

โดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดหรือประเด็นย่อยก่อน แล้วจึงสรุปด้วยประโยคที่เป็นประเด็นไว้ภายหลัง

สำหรับจุดที่พบใจความสำคัญยากขึ้นก็คือ ประโยคตอนกลางย่อหน้า ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ความ

สังเกตุและพิจารณาให้ดี ส่วนจุดที่หาใจความสำคัญยากที่สุดคือย่อหน้าที่ไม่มีประโยคใจความสำคัญปรากฏ

ชัดเจน อาจมีประโยค หรืออาจอยู่รวมๆกันในย่อหน้าก็ได้ ซึ่งผู้อ่านจะต้องสรุปออกมาเอง

แนวการอ่านจับใจความ

             การอ่านจับใจความให้บรรลุจุดประสงค์ มีแนวทางดังนี้

             1.ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านได้ชัดเจน เช่น อ่านเพื่อหาความรู้ เพื่อความเพลิดพลิน หรือเพื่อบอก

เจตนาของผู้เขียน เพราะจะเป็นแนวทางกำหนดการอ่านได้อย่างเหมาะสม และจับใจความหรือคำตอบได้รวดเร็ว

ยิ่งขึ้น

             2.สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ คำชี้แจงการใช้หนังสือ 

ภาคผนวก ฯลฯ เพราะส่วนประกอบของหนังสือจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหรือหนังสือที่อ่านได้

กว้างขวางและรวดเร็ว

             3.ทำความเข้าใจลักษณะของหนังสือว่าประเภทใด เช่น สารคดี ตำรา บทความ ฯลฯ

ซึ่งจะช่วยให้มีแนวทางอ่านจับใจความสำคัญ ได้ง่าย

             4.ใช้ความสามารถทางภาษาในด้านการแปลความหมายของคำ ประโยค และข้อความต่างๆ

อย่างถูกต้องรวดเร็ว

             5.ใช้ประสบการณ์หรือภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านมาประกอบ

จะทำความเข้าใจและจับใจความที่อ่านได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

 ขั้นตอนการอ่านจับใจความ

             1.อ่านผ่านๆโดยตลอด เพื่อให้รู้ว่าเรื่องที่อ่านว่าด้วยเรื่องอะไร จุดใดเป็นจุดสำคัญของเรื่อง

             2.อ่านให้ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ควรหยุดอ่านระหว่างเรื่องเพราะจะทำ

ให้ความเข้าใจไม่ติดต่อกัน

             3.อ่านซ้ำตอนที่ไม่เข้าใจ และตรวจสอบความเข้าใจบางตอนให้แน่นอนถูกต้อง

             4.เรียบเรียงใจความสำคัญของเรื่องด้วยตนเอง

 
การอ่านวิเคราะห์

ความสำคัญ
             การอ่านวิเคราะห์เป็นทักษะการอ่านในระดับที่สูงขึ้นกว่าการอ่านทั่วๆไป กล่าวคือ มิใช่เป็นเพียง

การอ่านเพื่อความรู้และความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังต้องมีการวิเคราะห์สิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนในด้านต่างๆด้วย

             ครูควรจัดให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการอ่านวิเคราะห์อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ 

ความคิด การตัดสินใจแก้ปัญหาและสร้างวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต

 ความหมาย

             การอ่านเชิงวิเคราะห์เป็นการอ่านหนังสือแต่ละเล่มอย่างละเอียดให้ได้ความครบถ้วนแล้วจึงแยกแยะ

ให้ได้ว่าส่วนต่างๆนั้นมีความหมายและความสำคัญอย่างไรบ้าง แต่ละด้านสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ อย่างไร

วิธีอ่านแบบวิเคราะห์นี้ อาจใช้วิเคราะห์องค์ประกอบของคำ

และวลี การใช้คำในประโยควิเคราะห์สำนวนภาษา จุดประสงค์ของผู้แต่ง ไปจนถึงการวิเคราะห์นัย

หรือเบื้องหลังการจัดทำหนังสือหรือเอกสารนั้น

             การวิเคราะห์เรื่องที่อ่านทุกชนิด สิ่งที่จะละเลยเสียมิได้ก็คือ การพิจารณาถึงการใช้ถ้อยคำสำนวนภาษาว่า

มีความเหมาะสมกับระดับ และประเภทของงานเขียนหรือไม่ เช่น ในบทสนทนาก็ไม่ควรใช้ภาษาที่เป็นแบบแผน

ควรใช้สำนวนให้เหมาะสมกับสภาพจริงหรือเหมาะ แก่กาลสมัยที่เหตุการณ์ในหนังสือนั้นเกิดขึ้น เป็นต้น ดังนั้น

การอ่านวิเคราะห์จึงต้องใช้เวลาอ่านมาก และยิ่งมีเวลาอ่านมากก็ยิ่งมีโอกาสวิเคราะห์ ได้ดีมากขึ้น

การอ่านในระดับนี้ ต้องรู้จักตั้งคำถามและจัดระเบียบเรื่องราวที่อ่าน เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องและความคิด

ของผู้เขียนต้องการ

 การวิเคราะห์การอ่าน

              การวิเคราะห์การอ่านประกอบด้วย

             1.รูปแบบ 

             2.กลวิธีในการประพันธ์

             3.เนื้อหาหรือเนื้อเรื่อง

             4.สำนวนภาษา

 

กระบวนการวิเคราะห์

             1.ดูรูปแบบของงานประพันธ์ว่าใช้รูปแบบใด อาจเป็นนิทาน บทละคร นวนิยาย เรื่องสั้น 

บทร้อยกรอง หรือบทควมจากหนังสือพิมพ์

             2.แยกเนื้อเรื่องออกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร

             3.แยกพิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบกันอย่างไร หรือประกอบด้วยอะไรบ้าง

             4.พิจารณาให้เห็นว่าผู้เขียนให้กลวิธีเสนอเรื่องอย่างไร

 

การอ่านเชิงวิเคราะห์ในขั้นต่างๆ

             1.การอ่านวิเคราะห์คำ

              การอ่านวิเคราะห์คำ เป็นการอ่านเพื่อให้ผู้อ่านแยกแยะถ้อยคำในวลี ประโยค หรือข้อความต่างๆ 

โดยสามารถบอกได้ว่า คำใดใช้อย่างไร ใช้อย่างไร ใช้ผิดความหมาย ผิดหน้าที่ไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจนอย่างไร

ควรจะต้องหาทางแก้ไข ปรับปรุงอย่างไร เป็นต้น เช่น


                           1.อย่าเอาไปใช้ทับกระดาษ

                           2.ที่นี่รับอัดพระ

                           3.เขาท่องเที่ยวไปทั่วพิภพ

                           4.เจ้าอาวาสวัดนี้มรณกรรมเสียแล้ว   

             2.การอ่านวิเคราะห์ประโยค

             การอ่านวิเคราะห์ประโยค เป็นการอ่านเพื่อแยกแยะประโยคต่างๆ ว่าเป็นประโยคที่ถูกต้องชัดเจนหรือไม่

ใช้ประโยคผิดไปจาก แบบแผนของภาษาอย่างไร เป็นประโยคที่ถูกต้องสมบูรณ์เพียงใดหรือไม่

มีหน่วยความคิดในประโยคขาดเกินหรือไม่ เรียงลำดับความใน ประโยคที่ใช้ได้ถูกต้องชัดเจนหรือไม่ ใช้ฟุ่มเฟือย

โดยไม่จำเป็นหรือใช้รูปประโยคที่สื่อความหมายไม่ชัดเจนหรือไม่ เมื่อพบข้อบกพร่องต่างๆ

แล้วก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เช่น

                          1) สุขภาพของคนไทยไม่ดีส่วนใหญ่

                          2) การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯเกิดการจลาจล

                          3) ทุกคนย่อมประสบความสำเร็จท่ามกลางความขยันหมั่นเพียร

                          4) เขามักจะเป็นหวัดในทุกครั้งที่ฝนเริ่มตก

             3.การอ่านวิเคราะห์ทัศนะของผู้แต่ง

              ผู้อ่านต้องพิจารณาไตร่ตรองให้รอบคอบว่าผู้เขียนเสนอทัศนะมีน้ำหนักเหตุผลประกอบข้อเท็จจริง

น่าเชื่อถือเพียงใด เป็นคนมองโลกในแง่ใด เป็นต้น

             4.การอ่านวิเคราะห์รส

              การอ่านวิเคราะห์รส หมายถึง การอ่านอย่างพิจารณาถึงความซาบซึ้งประทับใจที่ได้จากการอ่าน 

วิธีการที่จะทำให้เข้าถึงรสอย่างลึกซึ้ง คือการวิเคราะห์รสของเสียงและรสของภาพ

                          4.1 ด้านรสของเสียง ผู้อ่านจะรู้สึกได้ชัดจากการอ่านออกเสียงดังๆไม่ว่าจะเป็นการอ่าน

อย่างปกติหรือการอ่านทำนองเสนาะ จึงจะช่วยให้รู้สึกถึงความไพเราะของจังหวะ และความเคลื่อนไหว ซึ่งแฝงอยู่ใน

เสียง ทำให้เกิดความรู้สึกไปตามท่วงทำนองของเสียงสูงต่ำจากเนื้อเรื่องที่อ่าน

                          4.2 ด้านรสของภาพ เมื่อผู้อ่านอ่านแล้วเกิดความเข้าใจเรื่อง ในขณะเดียวกัน

ทำให้เห็นภาพด้วย เป็นการสร้างเสริมให้ผู้อ่านได้เข้าใจความหมาย การเขียนบรรยายความด้วยถ้อยคำไพเราะ

ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ก่อให้เกิดภาพขึ้นในใจผู้อ่าน ทำให้เกิดความเพลิดเพลินและเข้าใจความหมาย

ของเรื่องได้ดียิ่งขึ้น

             5.การอ่านเพื่อวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหาและการตีความเนื้อหาของข้อความ

              การอ่านเชิงวิเคราะห์ ยังมีสิ่งที่ต้องพิจารณา คือ การวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหา และการตีความ

เนื้อหาของหนังสือ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

                          5.1การวิเคราะห์ขอบเขตของปัญหา มีหลักปฏิบัติดังนี้

                                       5.1.1 จัดประเภทหนังสือตามชนิดและเนื้อหา หนังสือแต่ละประเภท

มีวิธีอ่านต่างกัน ก่อนอ่านต้องวิเคราะห์รู้ว่า หนังสือเล่มนั้นอยู่ในประเภทใด การแบ่งประเภทจะดูแต่ชื่อเรื่อง

หรือลักษณะภายนอกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ต้องสำรวจเนื้อหาด้วย อย่างไรก็ตาม ชื่อเรื่องเป็นสิ่งแรกที่ใช้

้เป็นแนวทางได้ เพราะผู้เขียนย่อมต้องพยายามตั้งชื่อเรื่องให้ตรงแนวเขียนหรือจุดมุ่งหมายในการเขียน

ของตนให้มากที่สุด

                                       5.1.2 สรุปให้สั้นที่สุดว่า หนังสือนั้นกล่าวถึงอะไร หนังสือที่ดีทุกเล่ม

ต้องมีเอกภาพ มีการจัดองค์ประกอบของส่วนย่อยอย่างมีระเบียบ ผู้อ่านต้องพยายามสรุปภาพ

ดังกล่าวออกมาเพียง 1-2 ประโยคว่า หนังสือเล่มนั้นมีอะไรเป็นจุดสำคัญหรือเป็นแก่นเรื่อง

แล้วจึงหาความสัมพันธ์กับส่วนสำคัญต่อไป

                                       5.1.3 กำหนดโครงสังเขปของหนังสือ เมื่ออ่านต้องตั้งประเด็นด้วยว่า

จากเอกภาพของหนังสือเล่มนั้นมีส่วนประกอบสำคัญบ้าง ส่วนที่สำคัญๆสัมพันธ์กันโดยตลอดหรือไม่ 

และแต่ละส่วนก็มีหน้าที่ของตน สนับสนุนซึ่งกันและกันหรือไม่

                                       5.1.4กำหนดปัญหาที่ผู้เขียนต้องการแก้ ผู้อ่านควรพยายามอ่านและค้นพบว่าผู้เขียนเสนอ

ปัญหา อะไร อย่างไร มีปัญหาย่อยอะไร และให้คำตอบไว้ตรงๆหรือไม่ การตั้งปัญหาเป็นวิธีการหนึ่ง

ที่จะทำให้เข้าใจเรื่อง แจ่มแจ้ง ยิ่งตั้งปัญหาได้กว้างขวางลึกซึ้งเพียงใด ยิ่งเข้าใจได้เพิ่มขึ้นเพียงนั้น

                          5.2 การตีความเนื้อหาของหนังสือ การตีความเป็นสิ่งที่ผู้อ่านทำความเข้าใจ 

ความคิดของผู้เขียน พิจารณาวัตถุประสงค์ของผู้เขียน ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่ได้บอกความหมายหรือนัยของข้อความ

ที่เขียนออกมาตรงๆ แต่ผู้อ่านต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจบริบทของเรื่องเป็นอย่างดี จึงจะตีความได้ถูกต้อง 

การทำความเข้าใจความคิดของผู้เขียนนั้น ไม่ว่าความคิดจะถูกต้องหรือไม่เราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม

แต่การพยายามเข้าใจเช่นนั้นทำให้เราไม่วิจารณ์ผู้เขียนอย่างไม่ยุติธรรม แต่จะพิจารณาทั้งข้อดี ข้อบกพร่อง 

ของงานเขียนนั้นอย่างแจ่มแจ้ง การตีความเนื้อหาของหนังสือมีรายละเอียดต่างๆ ดังนี้

                                       5.2.1 ตีความหมายของคำสำคัญ และค้นหาประโยคสำคัญที่สุด ผู้อ่านต้องพยายาม

เข้าใจคำสำคัญ และเข้าใจประเด็นที่สำคัญที่ผู้เขียนเสนอ เพื่อเข้าใจความคิดของผู้เขียน

                                       5.2.2 สรุปความคิดสำคัญของผู้เขียน โดยพิจารณาว่าประโยคใดเป็นเหตุ ประโยคใดเป็นผล 

ประโยคใดเป็นข้อสรุป ซึ่งบางครั้งผู้เขียนไม่ได้สรุปความคิดออกมาให้เห็นชัดเจน แต่ผู้อ่านต้องพยายามสรุปออกมาให้ได้

                                       5.2.3 ตัดสินว่าอะไรคือการแก้ปัญหาของผู้เขียน เมื่อผู้อ่านตีตวามสำคัญ

ให้ตรงกับผู้เขียน เข้าใจความคิดสำคัญของผู้เขียน และสรุปความคิดของผู้เขียนได้แล้ว 

ผู้อ่านก็จะวิเคราะห์หรือตัดสินได้ว่า จากเรื่องราวหรือเหตุผลต่างๆที่ผู้เขียนนำมาเสนอนั้นมีความสมเหตุสมผล

หนักแน่น น่าเชื่อถือได้หรือไม่เพียงใด เพื่อนำไปสู่การวิจารณ์หนังสือเรื่องนั้นๆต่อไป


การพิจารณาหนังสือ

             การพิจารณาหนังสือเป็นการประเมินคุณค่าหนังสือด้านต่างๆ ถ้าผู้อ่านรู้หลักการประเมินจะทำให้

การอ่านหนังสือมีคุณค่า และความหมายมากยิ่งขึ้น เมื่ออ่านแล้วสามารถแสดงความคิดเห็นเชิงประเมินคุณค่า

ของหนังสือได้อย่าง มีหลักเกณฑ์ ผู้อ่านจะเข้าใจหนังสือนั้นได้อย่างลึกซึ้งและการพิจารณาหนังสือของตนจะม

ีประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย หนังสือมีหลายประเภทให้เลือกอ่าน แต่ละประเภทก็มีรายละเอียดหรือโครงสร้างแตกต่างกันไป

ตามลักษณะของหนังสือประเภทนั้นๆ ในที่นี้จะนำเสนอการพิจารณาหรือประเมินคุณค่าของหนังสือ 

บทความ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่ผู้เรียนจะต้องเรียน หรืออ่านในชีวิตประจำวัน ดังนี้

             1. การอ่านพิจารณาคอลัมน์ต่างๆจากหนังสือพิมพ์

                  หนังสือพิมพ์เป็นหนังสือที่คนจำนวนมากอ่านเป็นประจำทุกวัน มีคอลัมน์หลากหลายการอ่าน

หนังสือพิมพ์มีแนวการพิจารณาประเด็นต่างๆ ดังนี้

                  1.1 การพาดหัวข่าว การพาดหัวข่าวเป็นการตั้งชื่อข่าวให้กระทัดรัดและพิมพ์ด้วยตัวอักษรใหญ่

เป็นพิเศษเพื่อดึงดูด ความสนใจ การพาดหัวข่าวที่ดีมีลักษณะดังนี้

                        1.1.1 หัวข่าวตรงกับสาระของข่าว ผู้เขียนข่าวไม่ควรพาดหัวข่าวไม่ตรงกับเนื้อหาสาระของข่าว

เพื่อเรียกร้อง ความสนใจ 

                        1.1.2 หัวข่าวใช้ภาษาที่กะทัดรัด เข้าใจง่าย ไม่ควรใช้ภาษาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

และใช้คำผิดความหมายเพียงเพื่อผลประโยชน์ทางการขาย โดยไม่คำนึงถึงคุณค่าทางภาษา เช่น

                                          1)ทัพกีฬาพิการหวัง 30 ทอง

                                          2)เปิดตัวกินปุ๋ยวัดใจนายก

                                          3)หื่นรุมสังฆกรรมสาวรุ่น

                  1.2 เนื้อหาของข่าว มีแนวพิจารณาดังนี้

                        1.2.1 เนื้อหาข่าวที่ดี ต้องเป็นข่าวจริงตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ควรมีความคิดเห็น

หรือเพิ่มเนื้อหาตามใจผู้เขียน เพื่อให้ผู้ฟังชื่นชอบ ข่าวที่ดีต้องเป็นข่าวที่ส่งผลกระทบต่อคนหมู่มาก

หรือส่วนรวม เช่น ข่าวการเมือง การเลือกตั้ง ข่าวการปกครอง ข่าวสังคม ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวการประกอบอาชีพ

หรือข่าวเกี่ยวกับการอนามัย เป็นต้น ไม่ควรเป็นข่าวของคนใดคนหนึ่ง เพื่อยกย่องเชิดชู โดยมุ่งหวัง

ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง และต้องเป็นข่าว ที่ไม่ทำลายความมั่นคงของชาติ ความสงบสุขของประชาชน

และศีลธรรมอันดีงาม

                        1.2.2 ภาษาที่ใช้ควรเป็นภาษาสุภาพ ไม่ควรใช้ภาษาหยาบคาย

                        1.2.3 การเล่าเหตุการณ์ในข่าวควรเล่าตามลำดับตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ปิดบังอำพราง 

มีเงื่อนงำสลับซับซ้อน 

                        1.2.4 การเล่าเหตุการณ์ทุกตอน ต้องอ้างอิงหลักฐานที่มา สถานที่เวลา รวมถึงบุคคล

ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้อ่านทราบรายละเอียด และมีความเชื่อถือในข่าว การปกปิดสถานที่ ชื่อหรือนามของบุคคล

ควรเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ใจที่ปกป้องผู้บริสุทธิ์ ผู้เยาว์หรือเป็นจรรยาบรรณของหนังสือพิมพ์

                  1.3 การพิจารณาบทความในวารสารหนังสือพิมพ์ มีดังนี้

                        บทความในวารสารและหนังสือพิมพ์ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคนหมู่มากและแสดงความคิดเห็น

ของผู้เขียนอย่างเต็มที่ บทความที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

                        1.3.1 ผู้เขียนบทความต้องเป็นผู้ที่รู้เรื่องที่เขียนอย่างถ่องแท้ มีข้อมูลสามารถอ้างอิงได้

                        1.3.2 ผู้เขียนบทความต้องแสดงความคิดเห็นโดยอาศัยข้อเท็จจริง และเหตุผลอื่นๆ ประกอบอย่าง

กว้างขวาง การแสดงความคิดเห็นเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นตัวกำหนด

เพียงอย่างเดียว การแสดงความคิดเห็นนั้น ควรเป็นไปในทางสร้างสรรค์ และไม่อคติลำเอียง

                        1.3.3 การวิจารณ์ของผู้เขียนบทความ ต้องตั้งอยู่บนหลักการการตำหนิ ไม่ควรเน้น

ที่ตัวบุคคล แต่เน้นที่วิธีการหรือหลักการ ควรชี้ให้เห็นปัญหา และเสนอแนวทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง 

นอกจากนี้รูปแบบการเขียนและการใช้ภาษา ควรมีความถูกต้องเข้าใจง่ายไม่ใช้ถ้อยคำที่ส่อเสียดหยาบคาย

                  1.4 การพิจารณาคอลัมน์อื่นๆ คอลัมน์อื่นๆ มีวิธีการพิจารณาดังนี้

                        นอกจากข่าวและบทความแล้ว วารสารหรือหนังสือพิมพ์ยังมีอีกหลายคอลัมน์ เช่น 

บันเทิงคดี ประกาศ โฆษณา ความรู้ต่างๆ การพิจารณาคุณค่าในแต่ละคอลัมน์ ควรพิจารณาเรื่องการใช้ภาษา

การเขียน และคุณค่าที่ได้รับจากการอ่าน เป็นต้น 

             2.การพิจารณาหนังสือประเภทสารคดี

                        สารคดี ได้แก่ หนังสือที่ให้แนวความรู้ต่างๆ เช่น ด้านปรัชญา ตรรกวิทยา การศึกษา

ควรพิจารณาในด้านต่างๆดังนี้ 

                        2.1 เนื้อหาสาระ มีความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาหรือไม่ เรื่องนำมาเขียนมี

สาระประโยชน์เพียงใด เหมาะสำหรับผู้อ่านระดับใด

                        2.2 วิธีเสนอหนังสือ อาจเสนอเป็นความเรียงวิชาการ มีการค้นคว้าหาความรู้ 

อ้างอิงประกอบ หรือเสนอเป็นบันทึกของผู้เขียน เล่าประสบการณ์ของตน หรือเสนอเป็นจดหมายให้โต้ตอบ

ควรพิจารณาว่าผู้เขียนมีวิธีเขียนที่ชวนอ่าน เข้าใจง่ายหรือไม่สำนวนภาษาสื่อความหมายได้แจ่มแจ้งหรือไม่

เหมาะแก่ระดับของผู้อ่าน ตามความตั้งใจของผู้เขียนหรือไม่ เพียงใด

                        2.3 การวางเค้าโครงเรื่อง เค้าโครงเรื่องที่เขียน จะต้องมีการจัดลำดับอย่างมีระเบียบ

จึงควรพิจารณาว่าผู้เขียนสามารถทำให้ความสำคัญๆ เชื่องโยงต่อเนื่องกันได้ดีเพียงใด มีการเรียงลำดับ

ความยากง่ายเพื่อช่วยความเข้าใจของผู้อ่านหรือไม่

                        2.4 ส่วนประกอบของหนังสือ ส่วนประกอบต่างๆ ของหนังสือได้แก่ คำนำ สารบัญ 

ดัชนี บรรณานุกรม อภิธานศัพท์สามารถช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจความสำคัญของหนังสือได้รวดเร็ว 

ควรพิจารณาว่าหนังสือนั้นๆ มีส่วนประกอบอำนวยประโยชน์ดังกล่าวหรือไม่

                        2.5 วุฒิและประสบการณ์ของผู้เขียน หนังสือสารคดีบางเล่ม จะมีประวัติย่อ 

วุฒิและประสบการณ์ของผู้เขียนบอกไว้ด้านหลัง รายละเอียดดังกล่าวจะช่วยให้ผู้อ่านสามารถวินิจฉัยได้ดียิ่งขึ้นว่า

เรื่องนั้นๆมีคุณค่าน่าเชื่อถือหรือไม่

                        2.6 คุณภาพการพิมพ์และการออกแบบรูปเล่ม สิ่งที่ชี้ให้เห็นคุณภาพของหนังสือ 

เช่น การจัดหัวเรื่องทำให้สื่อความได้ชัดเจน การพิสูจน์อักษรถูกต้อง การออกแบบรูปเล่มเหมาะสมน่าอ่าน

             3. การพิจารณาหนังสือประเภทบันเทิงคดี

                       หนังสือประเภทบันเทิงคดี อาจมีวิธีการพิจารณาในด้านต่างๆ ดังนี้

                        3.1 แก่นของเรื่องหรือแนวเรื่อง หมายถึง แนวคิดสำคัญของผู้เขียน ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่อง

                        3.2 การวางโครงเรื่อง หมายถึง การผูกเรื่องให้มีตัวละครและเหตุการณ์เชื่อมโยง 

สัมพันธ์กันตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับแกนของเรื่องที่ผู้แต่งวางแนวไว้และต้องดำเนินไป

อย่างสมเหตุสมผล

                        3.3 ตัวละคร ตัวละครอาจมีน้อยหรือมากแล้วแต่ความประสงค์ของผู้แต่ง การเสนอ

ตัวละครที่น่าสนใจต้องเป็นตัวละครที่มีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่มีความสมจริง คือ เป็นบุคคลที่อาจหาได้

ในชีวิตจริง มิใช่ดีหรือเลวจนผิดมนุษย์ธรรมดา นอกจากนั้นพฤติกรรมต่างๆของตัวละคร ควรสะท้อนภาพชีวิตจริง

ของสังคม ตามความเป็นจริงด้วย


                        3.4 ฉาก เป็นส่วนที่ช่วยทำให้บรรยากาศของเรื่องเป็นไปอย่างสมจริง ซึ่งผู้เขียนจะต้อง

บรรยายให้ตรงกับความเป็นจริง หรืออยู่ในวิสัยที่เป็นจริงได้

                        3.5 สำนวนภาษาและลีลาในาการเขียน นักเขียนจะมีสำนวน หรือลีลาการเขียน

เป็นแบบฉบับของตน ดังนั้นผู้วิจารณ์จะต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ ว่าผู้เขียนมีลีลาการเขียนอย่างไร

                        3.6 สารจากผู้เขียน สารที่ผู้เขียนให้ หมายถึง ข้อคิด หรือบางสิ่งบางอย่างที่

ผู้เขียนฝากไว้ให้ ซึ่งผู้อ่านอาจได้รับแตกต่างกันไปตามแต่ประสบการณ์ของผู้อ่าน ควรฝึกทักษะให้ไว

ต่อการรับสารของผู้เขียน และตีความเข้าใจ เพื่อให้การอ่านเรื่องบันเทิงคดีมีรสชาติมากยิ่งขึ้น

 

             4. การพิจารณาหนังสือประเภทร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์

                   หนังสือประเภทร้อยกรองหรือกวีนิพนธ์ มีวิธีการพิจารณาดังนี้

                        4.1 รูปแบบของฉันทลักษณ์ รูปแบบของฉันทลักษณ์ คือลักษณะบังคับของบทร้อยกรอง

 

แต่ละประเภทซึ่งต่างกัน ควรพิจารณาความถูกต้องของรูปแบบฉันทลักษณ์นั้นๆเป็นเกณฑ์

                        4.2 ความคิดเห็นและเนื้อหาสาระในบทกวี บทกวีที่ดีจะต้องมีเนื้อหาสาระที่แสดงความนึกคิด

อันมีคุณค่าแก่ชีวิต บทกวีบางบทให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ในด้านต่างๆ เช่น อารมณ์รัก อารมณ์เศร้า 

อารมณ์โกรธ ฯลฯ บางบทให้คติเตือนใจ ให้ความรู้เรื่องต่างๆ เป็นต้น จึงควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่ากวีให้ความคิด

อะไรแก่ผู้อ่านบ้าง และมีเนื้อหาสาระอย่างไร

                        4.3 กลวิธีการแต่ง หรือวรรณศิลป์ กลวิธีในการแต่งหรือวรรณศิลป์นี้อาจพิจารณาได้

จากการเลือกคำมาใช้ให้เหมาะสมกับความ การเล่นเสียงด้วยสัมผัสสระ พยัญชนะ การใช้โวหารแบบต่างๆ

การใช้สัญลักษณ์ ซึ่งกวีแต่ละคนจะมีกลวิธีแต่งแตกต่างกันไปเป็นเฉพาะตน

 

                        4.4 รสของบทร้อยกรอง หมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นแก่ผู้อ่าน เมื่อถ้อยคำแก่ผู้อ่าน 

เมื่อถ้อยคำสำนวนหรือเรื่องราวในบทร้อยกรองนั้นๆ มากระทบอารมณ์ อาจให้ความรู้สึกทางด้านความรัก 

ความเศร้า ความตื้นเต้น ฯลฯ แล้วแต่ลักษณะของบทร้อยกรองและอารมณ์ของผู้อ่านขณะนั้น

                        4.5 สารจากบทร้อยกรอง บทร้อยกรองก็มีสารของผู้แต่งฝากไว้เช่นกัน ดังนั้นจึงควร

พิจารณาให้ถี่ถ้วนเพื่อรับสารจากผู้เขียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

              การประเมินคุณค่าของหนังสือไม่ว่าประเภทใด ผู้ประเมินควรอ่านหนังสือนั้นๆอย่างละเอียด 

และพิจารณาทั้งจุดดีและจุดด้อยของหนังสือด้วยใจเป็นธรรม ปราศจากอคติ ซึ่งเมื่อได้อ่านหนังสือมากๆ 

และฝึกการวิเคราะห์ ตลอดจนมีการประเมินคุณค่าของหนังสืออยู่เสมอแล้ว ก็จะช่วยให้มีวิญญาณ ในการอ่านหนังสือ

และอ่านหนังสืออย่างมีอรรถรสยิ่งขึ้น  

ที่มา :    วิชาการ, กรม การจัดสาระการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน    
                
พุทธศักราช 2544   .ศ.2546       
                    



เข้าชม : 1740


บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      บทความการอ่าน 4 / พ.ค. / 2559
      บทความดีๆมีมาฝากค่ะ 29 / ก.พ. / 2559
      ความสำคัญของการอ่าน 15 / ธ.ค. / 2558
      การอ่าน…กับวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน 20 / พ.ค. / 2558
      บทความน่าอ่าน 12 / พ.ค. / 2558




ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้ [กด F5 ถ้ารหัสไม่ชัดเจน]
ไอคอน : ย่อหน้า จัดซ้าย จัดกลาง จัดขวา ตัวหนา ตัวเอียง เส้นใต้ ตัวยก ตัวห้อย ตัวหนังสือเรืองแสง ตัวหนังสือมีเงา สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน สีส้ม สีชมพู สีเทา
อ้างอิงคำพูด เพิ่มเพลง เพิ่มวีดีโอคลิป เพิ่มรูปภาพ เพิ่มไฟล์ Flash เพิ่มลิงก์ เพิ่มอีเมล์
ความคิดเห็น :


กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ


ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่ mocyc@hotmail.com เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป

 
ห้องสมุดประชาชน "เฉลิมราชกุมารี" อำเภอห้วยยอด
ที่ตั้ง 2 ถนนมหามิตร ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง รหัสไปรษณีย์ 92130
โทรศัพท์ 0-7527-1498 แฟกซ์ 0-7527-1718 ปรับปรุงเว็บไซต์โดย น.ส.จันทร์เลขา  ทองสิงห์

Janlaekha6436@gmail.com
Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05