บทความทั่วไป เด็กไทยชอบอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียน อ่านการ์ตูนมากสุด
อาทิตย์ ที่ 30 เดือน มีนาคม พ.ศ.2557
|
|
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ผล สำรวจชี้ เด็กไทยชอบอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนมากถึง 72.8% ชอบอ่านหนังสือการ์ตูนมากที่สุด และเด็กไทยยังอ่านหนังสือน้อย เพียง 1 ชั่วโมงหรือ 1-2 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น แถมพบปัญหาเด็กบางส่วนยังอ่านหนังสือไม่ออก
วันนี้ (30 มีนาคม 2557) เนื่องในโอกาส วันหนังสือเด็กแห่งชาติ 2 เมษายน 2557 แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับเครือข่ายเสียงประชาชน (WE VOICE) ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของเด็กนักเรียนระดับชั้น ป.1–ป.6 อายุระหว่าง 6-13 ปี ของโรงเรียนรัฐบาลและเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 24-26 มีนาคม 2557 จำนวนทั้งสิ้น 1,124 คน
พบว่า เด็กส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนมากถึง 72.8% ซึ่งในจำนวนนี้ระบุว่าเหตุผลที่ชอบอ่านหนังสือเพราะมีหนังสือที่ชอบมากที่ สุด รองลงมาเป็นเพราะชอบอ่านหนังสือเอง และชอบอ่านหนังสือเพราะมีบุคคลต้นแบบ โดยประเภทของหนังสือที่ชอบอ่าน ประกอบด้วย หนังสือการ์ตูน 53.4% หนังสือนิทาน 21.5% หนังสือนิยาย/ซีรีย์ 10.2% และหนังสือดารา/บันเทิง 10.0%
สำหรับบุคคลต้นแบบที่ทำให้เด็ก ๆ ชอบอ่านหนังสือนั้น ส่วนใหญ่ 44.0% ระบุว่า คือ พ่อแม่ รองลงมาคือ เพื่อน 23.2% และครู 15.2% ส่วนนักเรียนกลุ่มที่ระบุว่าชอบอ่านหนังสือเองนั้น เป็นเพราะที่บ้านมีหนังสือเยอะ และมีห้องสมุดในโรงเรียน/ใกล้ชุมชน นั่นเอง
ส่วนกรณีที่เด็กที่เหลืออีก 27.2% ไม่ชอบอ่านหนังสืออื่น ๆ นอกจากหนังสือเรียนนั้น เด็ก ๆ 31.8% ให้เหตุผลว่า เพราะมีอย่างอื่นที่น่าสนใจกว่าให้ทำ รองลงมา 28.4% เป็นเพราะไม่มีหนังสือที่น่าสนใจ และมีถึง 16.9% ที่ให้เหตุผลว่าเป็นเพราะอ่านหนังสือไม่ออก และเมื่อถามต่อว่าถ้าต้องการให้ชอบอ่านหนังสือต้องทำอย่างไร เด็ก ๆ ระบุว่าต้องมีเพื่อนอ่านด้วยกันมากที่สุด รองลงมาคือ ต้องมีหนังสือที่น่าสนใจ
เช่นเดียวกัน เมื่อถามถึงประเภทหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนที่เด็ก ๆ อ่าน พบว่า เด็ก ส่วนใหญ่อ่านหนังสือการ์ตูนมากที่สุด รองลงมาคืออ่านหนังสือจากสื่อคอมพิวเตอร์/อินเตอร์เน็ต และอ่านหนังสือจากนิตยสารหรือพ็อกเก็ตบุ๊ก
สำหรับสถานที่ในการอ่านหนังสือของเด็ก ๆ ส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งจะอ่านหนังสือที่บ้านมากที่สุด รองลงมา คือห้องสมุดของโรงเรียน และห้องสมุดชุมชน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ จากการสำรวจในครั้งนี้พบว่า มีเด็กเกือบครึ่งหรือ 44.6% ที่อ่านหนังสือน้อยกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน รองลงมาคือ 40.7% อ่านหนังสือ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน และมีเพียง 12.3% เท่านั้นที่อ่านหนังสือ 3-4 ชั่วโมงต่อวัน
สุดท้าย ในคำถามว่า เมื่อได้อ่านหนังสือแล้วคิดว่าได้รับประโยชน์อะไรมากที่สุด เด็กส่วนมาก 26.3% ตอบว่า ทำให้เป็นคนเก่ง/ฉลาด รองลงมา 22.6% สามารถสรรค์สร้างจินตนาการได้ 17.5% ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ 10.0% เป็นคนดี และไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟังได้ 10.0%
ทั้งนี้ จากผลการสำรวจครั้งนี้ พบประเด็นที่น่าสนใจ 3 ประเด็นด้วยกัน คือ
1. เด็กส่วนใหญ่ยังชอบอ่านหนังสือที่ไม่ใช่หนังสือเรียนกันมากที่สุด โดยเฉพาะหนังสือการ์ตูนและนิทาน จะเป็นสื่อการอ่านให้กับเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมมากที่สุด
2. เด็กส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสือที่บ้าน และห้องสมุดโรงเรียนมากที่สุด พ่อแม่และเพื่อน ๆ ถือเป็นต้นแบบที่ดีในการทำให้เด็ก ๆ สนใจการอ่านหนังสือ โดยแรงบันดาลใจของเด็ก ๆ คือความมุ่งหวังที่จะเป็นคนเก่ง/ฉลาด และสามารถสร้างจินตนาการที่ดีได้
3. ที่น่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือ เด็กไทยส่วนใหญ่ยังใช้ระยะเวลาในการอ่านหนังสือต่อวันค่อนข้างน้อย (น้อยกว่า 1 ชั่วโมง ถึง 1-2 ชั่วโมงต่อวัน) และมีเด็กบางกลุ่มในระดับประถมศึกษาที่ยังอ่านหนังสือไม่ออก
ทั้งนี้ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ได้กล่าวเชิญชวนพ่อแม่ร่วมเทิดพระเกียรติ “เจ้าฟ้านักอ่าน” ร่วม กัน และแสดงความคิดเห็นว่า เด็กช่วงวัยประถมศึกษา 6-12 ปี เป็นวัยเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา ในวัยนี้เด็กจะมีการเรียนรู้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา พร้อมจะออกไปสู่สังคมภายนอกที่ปกป้องเขาน้อยลงในปัจจุบัน เด็กต้องช่วยตัวเองมากขึ้น การอ่านจึงเป็นเครื่องมือส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สำคัญ สำหรับผลสำรวจที่พบในครั้งนี้สอดคล้องกับจิตวิทยาพัฒนาการที่คุณพ่อคุณแม่ ยังคงมีบทบาทสูงในการเป็นต้นแบบและชี้แนะให้กับลูกได้
ที่มา : http://education.kapook.com/view85322.html
เข้าชม : 1457
|
|
บทความทั่วไป 5 อันดับล่าสุด
ประเพณีลากพระ จ.ตรัง 13 / ต.ค. / 2557
ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา 6 / ก.ค. / 2557
เกิดแผ่นดินไหว ข้อปฏิบัติก่อนและหลัง 11 / พ.ค. / 2557
วันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 28 / เม.ย. / 2557
2 เมษายน วันรักการอ่าน 31 / มี.ค. / 2557
|