[x] ปิดหน้าต่างนี้
 



 
                   
เมืองผู้นำยางพารา เทิดรัษฎานุประดิษฐ์ เมืองมิตรวัฒนธรรม หมูย่าง ติ่มซำรสเลิศ เปิดประตูสู่อันดามัน สวรรค์นักท่องเที่ยว
 

  

ความรู้เกี่ยวกับ IT
ว่าด้วยระบบหนังสือและการอ่าน

อังคาร ที่ 31 เดือน มกราคม พ.ศ.2555

คะแนน vote : 131  

ว่าด้วยระบบหนังสือและการอ่าน

ว่าด้วยระบบหนังสือและการอ่าน

บทสนทนาของคนทำหนังสือสองรุ่น - มกุฏ อรฤดี แห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อ

และสิริยากร พุกกะเวส

An interview with Makut Ornrudee and Siriyakorn Pukkawech on the importance of reading including questions such as how to promote reading in Thai people, other countries'' strategies on reading, Bangkok World Book Capital 2013, etc.

คนในวงการหนังสือไม่อาจปฏิเสธว่า เดือนมีนาคมและเดือนตุลาคมของทุกปีได้กลายเป็นหมุดไมล์ชี้บอกอัตราเร่งในการผลิตหนังสือของสำนักพิมพ์หลายๆ แห่งในเมืองไทยไปแล้ว

เช่นเดียวกับเป็นหลักกิโลของคนที่ตั้งตารอวันที่จะได้มาซื้อหนังสือปกใหม่หรือหนังสือเก่าลดราคาในงานนี้

ถ้าเราวัดการอ่านของคนในชาติจากผลการสำรวจงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งในปีนี้มีสำนักพิมพ์กว่า ๔๐๐ แห่งร่วมออกบูทกว่า ๘๐๐ บูท จำนวนผู้เข้าร่วมงาน ๑.๕ ล้านคน มีเงินสะพัดร่วม ๔๐๐ ล้านบาท เราคงเห็นพ้องกันว่าการอ่านของคนไทยคึกคักไม่น้อยทีเดียว

หากแต่ไม่มีผลสำรวจใดยืนยันไว้เลยว่าคนนับล้านที่มาซื้อหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือฯ นั้น อ่านหนังสือกันวันละกี่หน้า ปีละกี่เล่ม และหนังสือที่อ่านคือหนังสือประเภทใด

อันที่จริงแล้ว วาระการอ่านของชาติ กับวิกฤตการอ่านของชาติ เป็นคนละเรื่องเดียวกันหรือไม่

ปลายมีนาคม ๒๕๕๔ สารคดี มีโอกาสสนทนากับคนทำหนังสือ ๒ คนที่ทั้งต่างเพศ ต่างวัย และต่างรุ่น

หนึ่งคือชายผมขาววัยที่น่าจะพ้นเกษียณ มกุฏ อรฤดี ในบทบาทนักเขียน เขาคือเจ้าของนามปากกา “นิพพานฯ” และ “วาวแพร”ผู้ได้รับรางวัลนักเขียนช่อการะเกดเกียรติยศ ประจำปี ๒๕๕๓ ในบทบาทคนทำหนังสือ เขาคือเจ้าของสำนักพิมพ์ผีเสื้อที่พิสูจน์ตัวเองมายาวนานถึง ๓ ทศวรรษแล้วว่าทำ “หนังสือดี” เมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วเขายังมีบทบาทเป็นผู้ผลักดันแนวคิดสถาบันหนังสือแห่งชาติ ด้วยความฝันว่าประเทศไทยจะมีสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นคลังปัญญาสรรพวิชาเรื่องหนังสือ กระทั่งไม่กี่เดือนมานี้ เขาออกมาปรากฏตัวอีกครั้งตามสื่อต่างๆ เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านนโยบายบริจาคหนังสือเสรีของรัฐบาลที่เขามองว่าจะนำประเทศไปสู่ความฉิบหาย

นอกจากกุมบังเหียนสำนักพิมพ์ที่สร้างบรรทัดฐานการทำหนังสือดีให้แก่วงการสิ่งพิมพ์ในเมืองไทย ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา มกุฏยังทำสิ่งซึ่งเกี่ยวข้องกับหนังสือมาแล้วแทบทุกส่วน เขาเคยตั้งตนเป็นคนเดินทาง บรรทุกหนังสือไว้ท้ายรถทดลองทำห้องสมุดเคลื่อนที่ แต่ก็พบอุปสรรคมากมายที่ทำให้เขาได้รู้ว่าสังคมไทยมีความแตกต่างถึงเพียงนี้ เขาเคยร่วมทุนเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ด้วยความเชื่อว่าร้านหนังสือจะก่อให้เกิดความผูกพันระหว่างคนอ่านกับคนทำหนังสือ และระหว่างคนอ่านด้วยกัน แต่ด้วยไม่อาจต่อสู้กับระบบเศรษฐกิจระหว่างร้านเล็กกับร้านใหญ่ได้ ท้ายที่สุดก็ต้องยุติลง เขาลงทุนเข้าเล่มปกแข็งให้แก่หนังสือทุกขนาดอย่างดีเพื่อเตรียมไว้สำหรับร้านหนังสือให้เช่า แต่ร้านหนังสือแห่งนั้นก็ปิดลงหลังประสบภาวะขาดทุนเนื่องจากการลดราคาหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

เขาเชื่อว่ามหาวิทยาลัยในเมืองไทยจำเป็นต้องสร้างคนทำหนังสือคุณภาพ ด้วยการมีหลักสูตรวิชาหนังสือเพื่อให้วิชาชีพการทำหนังสือเป็นวิชาหลักเฉกเช่นเดียวกับที่เรามีคณะนิเทศศาสตร์ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จนปัจจุบันนี้หลักสูตรบรรณาธิการศึกษาได้ถูกบรรจุเป็นสาขาวิชาหนึ่งในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และกำลังเปิดเป็นวิชาโทที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นอกจากนี้เขายังเปิดอบรมวิชาบรรณาธิการต้นฉบับแก่บุคคลทั่วไปที่มีมาถึง ๘ รุ่นแล้ว เพราะเขาเชื่อว่างานบรรณาธิการมีความสำคัญเฉกเช่นสร้างโบสถ์สร้างวิหาร และควรเรียนรู้อย่างเป็นระบบ มิใช่ลองผิดลองถูกดังเช่นที่เคยเป็นมา

ในรุ่นที่ ๘ นี้เอง เราได้พบหญิงสาววัย ๓๖ ที่หลายคนคุ้นหน้าเธอดีผ่านจอโทรทัศน์และภาพยนตร์ ในฐานะดารานักแสดงและพิธีกรสิริยากร พุกกะเวส หรือ อุ้ม เธอมาทำอะไรที่นี่

น้อยคนจะรู้จักอีกบทบาทหนึ่งของเธอ ในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์โอโอเอ็มที่ประกาศตัวทำหนังสือเพื่อคนรักการใช้ชีวิตจนติดอันดับเบสต์เซลเลอร์มาแล้ว เธอบอกเราว่า “ก่อนมาเรียนวิชาบรรณาธิการต้นฉบับ รู้สึกว่าตัวเองเป็นบรรณาธิการเถื่อน และทำไปด้วยสัญชาตญาณ ลองผิดลองถูก ไม่มีใครมาบอกว่าการทำหนังสือที่ถูกต้องเป็นอย่างไร มาตรฐานการทำหนังสืออยู่ตรงไหน…คนที่มาก็มาจากหลายสำนักพิมพ์มาก แต่ละคนคิดเห็นเรื่องการทำหนังสือไม่เหมือนกัน ซึ่งมันไม่มีดำไม่มีขาว เราได้มาแลกเปลี่ยนกันมากกว่า และต้องขอบคุณวิชาบรรณาธิการต้นฉบับที่จุดประกายให้เรากลับไปอ่านวรรณกรรมเก่าๆ แล้วได้ค้นพบคุณค่าที่แท้จากวรรณกรรมเหล่านี้”

ท่ามกลางโลกอิเล็กทรอนิกส์ที่หมุนเร็วอย่างไม่น่าเชื่อ คนทำหนังสือสองคนที่ทั้งต่างเพศ ต่างวัย และต่างรุ่นนี้ ต่างเชื่อเหมือนกันว่า หนังสือไม่มีวันตายไปจากโลก และความรักที่จะทำหนังสือด้วยหัวใจทั้งคู่มีไม่ต่างกันเลย

บทสนทนาว่าด้วยระบบหนังสือและการอ่านของเขากับเธอ อาจทำให้เรามองเห็นรากปัญหาที่มีมายาวนานในระบบหนังสือเมืองไทย


ความรักหรือชอบหนังสือของคุณเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไร และเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

มกุฏ : ตั้งแต่อายุ ๔-๕ ขวบ เกิดขึ้นจากความริษยาหน้าบ้าน เพื่อนเราพี่น้องเขาอยู่กรุงเทพฯ พอกลับมาตอนปิดเทอมจะมีการ์ตูนภาพเรื่อง ขวานฟ้าหน้าดำ แล้วเราก็สังเกต นั่งดูยืนดู เวลาเขาเปิดหนังสืออ่าน เขายิ้มเขาหัวเราะ โอ้โฮ ทำไมเพื่อนเรามีความสุขเหลือเกิน ช่างเป็นเรื่องอัศจรรย์มาก แต่ครอบครัวผมสอนมาว่าอย่าอยากได้ของของใคร กระทั่งเวลาคนกินอาหารอย่ามองดูปากเขา พอมองเห็นความสุขนี้ หมดเลยความละอาย วันหนึ่งผมเอ่ยปาก “ขอยืมอ่านหน่อยสิ” ขวานฟ้าหน้าดำ จึงเป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิต

ตอนประถม ๕ ผมไปเรียนโรงเรียนฝรั่ง นึกสงสัยว่าทำไมคุณพ่อ (บาทหลวง) ต้องพกหนังสือปกดำ (ไบเบิล) ติดตัว ทำไมในห้องคุณพ่อมีหนังสือเต็มไปหมด ผมไม่รู้ว่าความรักหนังสือเกิดขึ้นได้อย่างไร แต่มันเป็นความสุข เป็นความปรารถนา เป็นความใฝ่หาที่จะรู้ ที่จะเรียน ที่จะอ่าน พ่อผมมาจากเมืองจีน อ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่ได้ แม่ผมเรียนประถม ๑ ครึ่งก็ต้องลาออกจากโรงเรียนมาช่วยที่บ้านทำงาน พี่ชายเรียนจบประถม ๔ ก็ออกมาเรียนเอง เพราะสมัยนั้นเกิดสงคราม ไม่มีสตางค์ ไม่อยู่ในวิสัยที่จะเรียนหนังสือ ก่อนพี่ชายตายปรากฏว่าทรัพย์สมบัติที่พี่ชายมีคือหนังสือเต็มไปหมด เราไม่รู้ว่าเขาแสวงหาสิ่งเหล่านี้มาจากไหน

หลังจากเรียนโรงเรียนฝรั่งได้ ๓ ปีผมกลับมาเรียนที่บ้าน (โรงเรียนมัธยมเทพา จ.สงขลา) โรงเรียนนี้ไม่มีอะไรสักอย่าง เราอยากอ่านหนังสือ ทำอย่างไรดีเราจะได้อ่านหนังสือ ถามเพื่อน ทุกคนอยากอ่านหนังสือ ถามครู ครูบอกไม่มีงบประมาณ เป็นคำตอบคลาสสิกมาก ตั้งแต่ผมเด็กผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่างบประมาณแปลว่าอะไร ท้ายที่สุด เราขอเก็บสตางค์คนละบาท เท่าที่จำได้มี ๙ คนเท่านั้นที่มีสตางค์ อีก ๑๗ คนไม่มี เราซื้อนิตยสารมา ๔ ฉบับ ฉบับละ ๓ บาท เราแบ่งห้องขนาด ๔x๔ เมตร เอากิ่งไม้มาต่อเป็นชั้นวาง เล็ง ถอย วาง เล็ง ถอย เป็นครึ่งค่อนวัน แล้วค่อยๆ พัฒนาขึ้นมา ผมตั้งห้องสมุดโรงเรียนตอนอายุ ๑๓ ผ่านไป ๓ ปี บนชั้นเริ่มมีนิตยสารมากขึ้น ผมเริ่มนำหนังสือส่วนตัวมาสมทบ ระหว่างทางเราจัดแข่งกีฬา จัดประกวดกระทงหารายได้ ตั้งทีมบาสเกตบอล เงินจากการขายตั๋วก็นำมาซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด เวลาผ่านมาในปีที่ ๒๕ หลังจากที่ผมออกจากโรงเรียน ครูส่งจดหมายมาบอกว่าตอนนี้ใต้ถุนตึกใหม่เราได้กั้นห้องเป็นห้องสมุดแล้วนะ จนกระทั่งบัดนี้มีหนังสือเป็นหมื่นๆ เล่ม นั่นหมายความว่าใช้เวลา ๒๕ ปีตั้งแต่นับหนึ่ง คุณถึงได้ห้องสมุด ๑ ห้อง

สิริยากร : ถามว่ารักหนังสือเมื่อไหร่ เชื่อว่าตั้งแต่จำความได้ ครอบครัวเป็นพื้นฐานเลยค่ะ บ้านจะเต็มไปด้วยหนังสือ วันหยุดคุณพ่อคุณแม่จะพาไปร้านหนังสือ ร้านหนังสือถือว่าเป็นผู้แนะนำหนังสือคนหนึ่ง ร้านหนังสือพูดกับเรานะ วิธีการวางเลย์เอาต์ร้านคือการสื่อสาร เข้าไปแล้วทำให้เราอยากอ่านวรรณกรรมดีๆ

อุ้มโตขึ้นมาด้วย โรอัลด์ ดาห์ล โต๊ะโตะจัง เป็นเรื่องแรกๆ ที่จำได้ แล้วรู้สึกสนิทพอๆ กับเรามีมานีมานะ เราก็มีโต๊ะโตะจังเป็นเพื่อนต่างชาติ ต้องขอบคุณคุณแม่มากเพราะว่าซื้อหนังสือแต่ละช่วงโตตามเรา เราไม่รู้หนังสือพวกนี้มาจากไหน ที่หัวเตียงจะมีหนังสือตลอดเวลา ความทรงจำแรกที่ลืมตาตื่นคือชั้นข้างๆ เตียงนอนที่พ่อต่อไว้ ตื่นมาปั๊บก็ต้องสุ่มเลือกหนังสือจากชั้นมาอ่าน บางวันการ์ตูน บางวันนิทานชาดก ช่วงหนึ่งโดนหมากัดก็หยิบหนังสือโรคพิษสุนัขบ้ามาอ่าน อยู่มาวันหนึ่งมีเอนไซโคลพีเดียชุดของดิสนีย์มาตั้งอยู่ในบ้าน

การส่งเสริมการอ่านที่บ้านคือไม่ส่งเสริม แต่ว่ามันเกิดบรรยากาศ ทุกคนในบ้านอ่านหนังสือ ยกเว้นคุณย่า คุณย่าอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้แต่ท่านเล่าเก่งที่สุด คุณย่าเป็น audio book ฟังคุณย่าเล่าเรื่องเก่าๆ เหมือนได้อ่านเรื่อง เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก คุณแม่เป็นนักการศึกษา ทำให้เราได้อิทธิพลแปลกๆ จากหนังสือต่างประเทศ มีหนังสือเยอรมันซึ่งอ่านไม่รู้เรื่องแต่ภาพสวยมาก แล้ววิธีการพิมพ์ประหลาดคือมุมจะมน เราสัมผัสกับสิ่งเหล่านี้ ทำให้เราใช้มือกับตาและจมูกเยอะ กลิ่นหนังสือแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน

มกุฏ : ตำรากับหนังสือเด็กกลิ่นจะไม่เหมือนกัน เพราะหนังสือเด็กไม่ใช้สารเคมีฟอก ฝรั่งเขาถือสาเรื่องนี้มาก หนังสือเด็กต้องกินได้ คือต้องใส่เข้าปากได้โดยที่ไม่เป็นอันตราย

คุณอุ้มโชคดีที่เกิดในครอบครัวอย่างนี้ แต่อีกกี่ล้านครอบครัวที่อยู่ต่างจังหวัด ครอบครัวที่เหมือนผมตอนเด็กๆ ครอบครัวที่พ่อแม่อ่านหนังสือไม่ออกจะทำอย่างไร รัฐบาลเอะอะก็บอกว่าการอ่านต้องเริ่มจากครอบครัว บางครอบครัวเริ่มได้ แต่บางครอบครัวเริ่มไม่ได้


การอ่านสำคัญอย่างไรต่อชีวิต แล้วเราต้องเริ่มกันอย่างไร

มกุฏ : การอ่านหนังสือเป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์

สิริยากร : การอ่านหนังสือเหมือนกินข้าว อุ้มอ่านกามนิต แล้วคิดอยู่ว่าถ้าคนที่ไม่ได้เห็นถึงความงามของภาษา ไม่ได้รู้สึกถึงคุณค่าของวรรณกรรม บังคับให้เขาอ่านแล้วบอกว่านี่คือวรรณกรรมที่ดี เขาก็บอกว่าดูทีวีสนุกกว่า มันพูดยากว่าใครจะเห็นคุณค่าของอะไร แต่อุ้มคิดว่าสำคัญที่สุดต้องปลูกฝังกับเด็ก เราดูตัวเองจากหนังสือ เราเลือกอ่านอะไรมันสะท้อนตัวเรา และเราเป็นตัวเป็นตนมาได้เพราะการอ่านหนังสือ

มกุฏ : เอาเข้าจริงแล้วสร้างได้ ไม่มีใครมีสันดานอ่านหนังสือมาตั้งแต่เกิดหรอก เพียงแต่ใครจะเป็นคนเริ่ม เริ่มตรงไหน เริ่มอย่างไร ถ้าเราจะให้สังคมนี้เป็นสังคมการอ่าน เริ่มทั้งประเทศเสียเวลาและต้องเสียงบประมาณมหาศาล เพราะคนอายุ ๑๖ ปีขึ้นไปยากที่จะบอกให้เขาอ่านหนังสือ เราต้องเริ่มจากเด็กอายุ ๑ ขวบไปจนถึง ๕ ขวบ ๗ ขวบ ๑๐ ขวบ ไม่อย่างนั้นเราจะสะเปะสะปะอยู่อย่างนี้ และเราจะเริ่มสังคมนี้ไม่ได้


 

กิจกรรมเสวนาแนะนำ วิจารณ์หนังสือ ช่วยส่งเสริมการอ่านได้หรือไม่

มกุฏ : คำถามก็คือว่าทำกันมากี่ปีแล้ว เป็นสิบปีแล้วใช่ไหม แล้วมันได้อะไร สมมุติเราบอกว่าให้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแม่น้ำสะอาด เราพูดกันมาตั้งแต่คนระดับต่ำสุดจนถึงระดับสูงสุด แต่ถามว่าเขาเริ่มจากตรงไหน เขาก็บอกว่าเริ่มจากผักตบชวาสิ เริ่มจากขยะริมคลองสิ แต่หารู้ไม่ว่าในกรุงเทพฯ มีบ้านไหนบ้างที่ไม่ปล่อยของเสียลงคู ทุกบ้านปล่อยหมด แล้วเราจะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาสะอาดได้อย่างไร

 

ถ้าเผื่อว่ามีกฎหมายอะไรสักอย่าง เช่นกำหนดว่าคุณต้องจัดการเรื่องห้องสมุดในชุมชน นั่นเป็นพื้นแล้วว่าอย่างน้อยที่สุดเริ่มเห็นและสืบต่อไปว่าระบบการอ่านประกอบด้วยอะไรบ้าง ยกตัวอย่างในสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อสัก ๔๐ ปีมาแล้วมีกฎหมายห้ามลดราคาหนังสือ กำหนดให้ทุกร้านต้องขายหนังสือราคาเท่ากัน แล้ววันหนึ่งมีคนไม่เห็นด้วย รัฐบาลสวิสก็ยกเลิกกฎหมายที่ให้หนังสือเป็นสินค้าควบคุม แต่ ๓-๕ ปีผ่านไปต้องนำกฎหมายนี้กลับมาใช้ เพราะว่าเมื่อใดก็ตามที่ปล่อยให้ร้านใหญ่ๆ ลดราคาหนังสือได้ ร้านเล็กๆ ก็ตายหมด ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลรู้และเข้าใจหรือเปล่า

 

สิริยากร : อุ้มคิดว่าความเชื่อมโยงระหว่างยุคสมัยหายไป แต่มันสร้างได้ ถ้าเผื่อว่ามีคนแนะนำว่าหนังสือนี้ดียังไง สนุกยังไง เด็กก็จะสนุกไปด้วย แต่คุณไม่มีทางจับเด็กกับวรรณกรรมโบราณมาวางแล้วหวังว่าจะเชื่อมกันได้เอง เขาต้องการการชี้แนะ วรรณกรรมบางเรื่องต้องการการย่อย เพราะเด็กรุ่นใหม่กับวรรณกรรมโบราณห่างกันเป็นร้อยปี แล้วช่วงที่หายไปนี้เชื่อมกันไม่ติด มันต้องการตรงกลางที่มาเชื่อมหรือแนะนำให้รู้จักกัน

 

มกุฏ : คุณรู้ไหมเมืองไทยมีนักวิจารณ์อาชีพกี่คน ประเทศซึ่งมีคนเกือบร้อยล้านคนมีนักวิจารณ์อาชีพประมาณ ๕ คน พอเราไม่มีนักวิจารณ์เราก็ขาดคนแนะนำหนังสือสำหรับสังคม สังคมการอ่านเลยขาดหาย


 

ในต่างประเทศเขามีวิธีส่งเสริมการอ่านให้คนในชาติอย่างไร เปรียบเทียบกับบ้านเราแล้วเหมือนหรือต่างอย่างไร

สิริยากร : ไม่ว่าอุ้มจะเดินทางไปเมืองไหน สิ่งที่ต้องไปดูแน่ๆ คือซูเปอร์มาร์เกตหรือตลาด กับห้องสมุด เพราะสองสิ่งนี้เหมือนเป็นภาคปฏิบัติของนโยบาย ตลาดเป็นเรื่องกิน ห้องสมุดเป็นเรื่องสมอง เพราะฉะนั้นมันบอกได้เลยว่าเมืองนั้นๆ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความคิดคนอย่างไร และทำมานานแค่ไหนแล้ว เมืองที่เคยไปเห็นและชอบ เช่น สตอกโฮล์ม เมลเบิร์น พอร์ตแลนด์ นิวยอร์ก เมืองเหล่านี้ไม่ใช่เจริญอย่างเดียวแต่เป็นเมืองศิลปะด้วย ห้องสมุดเข้าไปแล้วสนุก หนังสือหรือบรรยากาศก็สนุกร่าเริงมาก

 

ล่าสุดอุ้มไปพอร์ตแลนด์ เข้าห้องสมุดสัปดาห์ละ ๑-๒ ครั้งเป็นอย่างน้อย ลูกเล็กเด็กแดงผู้ใหญ่ไปห้องสมุดกันเป็นวิถีชีวิตปกติ แล้วในทุกๆ อาณาบริเวณมีห้องสมุด เพราะคนมีส่วนร่วมในการวางผังเมือง เทศบาลของเมืองจะมีแบบสอบถามมาว่าในอาณาบริเวณที่คุณอยู่ยังขาดอะไร แล้วไม่ใช่แค่มี แต่ต้องมีโดยคุณภาพด้วย คุณมีสวนสาธารณะ ในสวนสาธารณะต้องมีอะไรบ้าง มีของเล่นสำหรับเด็กยังไง ซูเปอร์มาร์เกตต้องมีอาหารสุขภาพด้วย ถนนต้องมีเลนจักรยาน มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ คือความต้องการพื้นฐานเขาตอบสนองไปหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเขาลงรายละเอียดได้แล้วว่าแต่ละอันควรเป็นยังไง

 

มกุฏ : ระบบการอ่านของสิงคโปร์ใช่ว่าอยู่ดีๆ จะเกิดขึ้น เขาเริ่มจากกฎหมาย ๑ ฉบับ คือกฎหมายว่าด้วยการตั้งสถาบันหนังสือแห่งชาติของสิงคโปร์ที่หอสมุดแห่งชาติเป็นคนรับผิดชอบ การเข้าห้องสมุดถือเป็นนโยบายรัฐเลยนะครับ แล้วที่สนุกกว่านั้น โครงการหมู่บ้านจัดสรรนอกเมือง สิ่งแรกที่เขาทำคือสร้างห้องสมุดเพื่อที่จะโฆษณาว่าหมู่บ้านจัดสรรแห่งนี้มีห้องสมุดใหญ่ ปรากฏว่าบ้านจัดสรรขายหมดเลย

 

ประเทศที่จะแข่งขันเป็นเมืองหนังสือโลกก็เช่นกัน จะต้องมีความพิเศษบางอย่าง เช่น อาร์เจนตินา วิธีคิดเขาฉลาดมาก เพียง ๒-๓ ปีอาร์เจนตินาเผยแพร่วรรณกรรมของตนเป็นภาษาต่างๆ ทั่วโลกภายในเวลาชั่วพริบตาได้อย่างไร เขาวางแผนติดต่อไปยังสถานทูตต่างๆ ที่ประเทศของตนตั้งอยู่ แล้วให้สถานทูตนั้นๆ ติดต่อสำนักพิมพ์ท้องถิ่น เช่น ในกรุงเทพฯ สถานทูตก็ติดต่อไปยังสำนักพิมพ์ทั้งหลายขอดูผลงานที่ผ่านมา ในที่สุดเขาเลือกสำนักพิมพ์ผีเสื้อแปลหนังสือของอาร์เจนตินาเป็นภาษาไทยแล้วให้เงินอุดหนุนการพิมพ์ อาร์เจนตินาใช้เงินเพียงเล็กน้อยแต่ได้เผยแพร่วรรณกรรมของตนเป็นร้อยภาษา ฉะนั้นทันทีเลยอาร์เจนตินาก็ได้รับเลือกเป็นเมืองหนังสือโลก ตอนที่ผมเสนอแปลวรรณกรรมคลาสสิกของโลกเป็นสมบัติของชาติ รัฐบาลบอกทันทีว่าต้องใช้งบประมาณเยอะ แต่ละเรื่องกว่าจะแปลได้ต้องค้นคว้าวิจัยถึงกับต้องบินไปประเทศนั้นเพื่อจะได้หนังสือเล่มหนึ่ง ผมบอกง่ายนิดเดียว เรามีสถานทูตอยู่ในประเทศครบทุกแห่ง ให้เขาเลือกวรรณกรรมคลาสสิกของประเทศเขาสัก ๑๐ เล่มเพื่อที่เราจะแปลเป็นภาษาไทย ไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่รัฐบาลไทยมักคิดเรื่องการใช้เงิน เห็นไหมครับวิธีคิดต่างกัน

 

สิริยากร : เวลากำหนดนโยบายอะไรก็ตาม เราจะต้อง mapping และดูว่าสภาพในแต่ละชุมชนของเมืองไทยเป็นอย่างไร ไม่ใช่เอะอะเราก็จะสร้างห้องสมุด แต่ทำไมไม่ลงไปดูว่าของเดิมมีอะไรอยู่แล้ว เช่น ร้านเช่าหนังสือ เราทำงานร่วมกับเขาได้ไหม ถ้าจะหาโครงสร้างที่เป็นไปได้สำหรับสังคมที่มีอยู่แล้วโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

 

มกุฏ : เวลารัฐบาลพูดถึงห้องสมุด รัฐบาลก็จะสร้างตึกท่าเดียว เราศึกษาให้เห็นแล้วว่าห้องสมุดไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ แต่ว่าต้องเอาระบบไปให้เขา ที่ไหนก็ทำได้ สิ่งที่เราคิดคือเราจะร่วมมือกับร้านกาแฟทุกร้านเพื่อที่จะให้มีห้องสมุดในร้านกาแฟ ด้วยระบบเช่นคุณเป็นสมาชิกของร้านกาแฟร้านนี้ คุณยืมหนังสือกลับบ้านได้ ถ้าคุณไม่ใช่สมาชิก คุณมานั่งอ่านหนังสือได้ หรือห้องสมุดในห้างสรรพสินค้า แทนที่จะโฆษณาลดราคาสินค้า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่แล้ว ต่อไปนี้จะโฆษณาแข่งขันกันว่าห้างของเรามีห้องสมุดที่ยืมหนังสือได้ ๕ เล่ม ๑๐ เล่มแทน

 

ถ้าเผื่อว่าวันหนึ่งเอ็มโพเรียมประกาศว่าห้างของเรามีห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ มีหนังสือให้ยืมกลับบ้านได้ ๑๐ วัน ขณะที่เซ็นทรัลขึ้นป้ายว่ายืมได้ ๗ วัน ลองนึกดูว่าห้างสรรพสินค้าโฆษณาแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อเดือนที่แล้ว ผมแนะนำบริษัททำคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งว่าคุณลองโฆษณาด้วยวิธีนี้สิ คอนโดมิเนียมของเรามีห้องสมุด และยืมอ่านได้ ๒๔ ชั่วโมง ถ้าทุกคนแข่งขันกันด้วยวิธีนี้จะเกิดอะไรขึ้น เพียงแก้กฎหมายฉบับเดียวเท่านั้น เช่นในกฎหมายระบุว่าห้างสรรพสินค้าต้องมีบันไดหนีไฟ ก็เพิ่มเข้าไปว่าห้างสรรพสินค้าต้องมีห้องสมุด เราจะได้ห้างสรรพสินค้าทุกแห่งมีห้องสมุดโดยที่รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินสักบาท เราจะได้คอนโดมิเนียมทุกแห่งมีห้องสมุด โรงงานที่มีคนงานตั้งแต่ ๒๐ คนขึ้นไปมีห้องสมุด ถ้าทำได้จิตสำนึกจะเกิดขึ้นเอง แต่ทุกวันนี้เราเอางบประมาณของชาติมาจ่ายค่าเช่า TCDC และ TK Park ปีหนึ่งเท่าไร งบประมาณนั้นมาจากภาษีของใคร มาจากภาษีของตาสีตาสาที่อยู่แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ถามว่าคนต่างจังหวัดมีโอกาสได้ใช้ห้องสมุดเหล่านี้ไหม


 

กรุงเทพฯ ประกาศตัวเป็นมหานครแห่งการอ่าน ไม่ได้เป็นการจุดพลุให้คนอ่านหนังสือมากขึ้นเลยหรือคะ

สิริยากร : กรุงเทพฯ พยายามจะประกาศตนเป็นโน่นเป็นนี่โดยเห็นคนอื่นทำแล้วคิดว่าฉันอยากจะเป็นบ้าง แต่ไม่พยายามทำในสิ่งซึ่งสอดคล้องกับโครงสร้างที่มีอยู่ อันที่จริงระบบหนังสือในกรุงเทพฯ ถ้ามีอะไรที่ดีอยู่แล้ว ทำงานร่วมกัน เราคงไม่สูญเสียเงินมากจนเกินไป

 

มกุฏ : ระบบหนังสือเป็นเรื่องซับซ้อน เอาแค่กฎเกณฑ์ของยูเนสโกบอกว่าเมืองหนังสือจะต้องมี ๓ อย่าง คือ หนึ่ง มีการผลิตที่ดี คือมีการเรียนรู้วิธีการผลิตหนังสือดี และหมายความว่าจะต้องมีเสรีภาพในการผลิตด้วย สอง มีการเผยแพร่ที่ดี คือมีทั้งห้องสมุดที่ดี มีระบบการขายหนังสือที่ดี ยกตัวอย่างอินเดีย ในอินเดียไม่มีห้องสมุดใหญ่มากนักแต่มีการเผยแพร่ที่ดี ทุกซอกทุกซอยมีร้านขายหนังสือมีแผงหนังสือเต็มไปหมด สาม มีการอ่านที่ดี เช่นเลบานอน ช่วงเกิดสงครามในบังเกอร์มีหนังสือกองอยู่เต็ม เวลาคนหลบภัยไปอยู่ในบังเกอร์ แทนที่จะนั่งจับเจ่าก็หยิบหนังสือมาอ่าน เพราะฉะนั้นเรื่องหนังสือจึงมีรายละเอียดร้อยแปดประกอบกัน

 

เมื่อ ๒ ปีที่แล้วผมพยายามเสนอกรุงเทพมหานครทำระบบหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด ๕๐ แห่งในกรุงเทพฯ และในร้านหนังสือให้เช่าอีก ๕๐ แห่ง ในเวลาเพียงชั่วพริบตาจะมีห้องสมุดเกิดขึ้น ๑๐๐ แห่ง แต่กรุงเทพมหานครบอกว่าไม่ใช่นโยบาย กทม.อ้างว่าในกรุงเทพฯ มีห้องสมุดเยอะเพราะเรามีโรงเรียนในสังกัด กทม. เยอะ ซึ่งเป็นคำพูดที่เหลวไหล เพราะว่าในประเทศไหนๆ ที่มีโรงเรียนเขาก็มีห้องสมุดกันทั้งนั้น นั่นไม่ใช่จุดที่จะไปแข่งขันอะไรได้เลย

 

ถ้า กทม. รับความคิดนี้ ป่านนี้กรุงเทพฯ ประกาศเป็นเมืองหนังสือได้แล้ว เพราะจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีห้องสมุดแปลกประหลาดที่สุดในโลก คือมีร้านหนังสือและห้องสมุดอยู่ในที่เดียวกัน สมมุติว่าคุณยืมหนังสือไป อ่านแล้วชอบ คุณกลับมาที่ร้านขอซื้อก็จะได้ส่วนลดจากสำนักพิมพ์ เป็นระบบที่ทุกคนได้ประโยชน์ กทม.ได้ประโยชน์คือมีห้องสมุดของตัวเอง ร้านหนังสือที่เกือบเจ๊งก็มีรายได้เพิ่มขึ้น คือเราลงทุนค่าหนังสือจำนวนหนึ่งให้เขาทำระบบให้เช่าหนังสือ แล้วระบบหมุนเวียนคือ หนังสือใหม่จะไปถึงที่ต่างๆ ทุกๆ ๔ เดือน เพราะฉะนั้นคุณอยู่ย่านนี้คุณรีบอ่านนะ คนก็ตื่นตัวที่จะอ่าน กลไกนี้เคยทดสอบกับเด็กชั้นประถม ๔, ๕, ๖ มาแล้ว เด็กกระตือรือร้นอ่านเพราะรู้ว่าหนังสืออยู่กับเขาแค่ ๔ เดือน พอถึงเวลาหมุนเวียน เด็กบางคนยังไม่อ่านหนังสือบางเล่ม เขาเล็งไว้เลยว่าหนังสือเล่มนั้นจะไปโรงเรียนไหนเขาก็ตามไปยืมมาอ่าน


 

ในชนบทล่ะคะ เราจะเริ่มอย่างไร

มกุฏ : ว่าที่จริงชนบทพร้อมที่จะรองรับสิ่งต่างๆ ว่าด้วยเรื่องระบบหนังสือและการอ่าน เพราะว่าเขาขาด เขาไม่มีสตางค์ซื้อหนังสือ ในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นได้ค่อนข้างจะยากด้วยซ้ำเพราะว่าทุกคนมีสตางค์ซื้ออ่านเองได้ ในต่างจังหวัดเขาพร้อมเสมอที่จะทำ แต่คำถามคือใครจะรับผิดชอบดูแล ตอนนี้ห้องสมุดประชาชนดูแลโดย กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) กศน. มีภาระมากเหลือเกิน แล้ว กศน. ทั้งประเทศมีบรรณารักษ์วิชาชีพซึ่งทำงานได้เต็มที่เฉพาะงานบรรณารักษ์จริงๆ กี่คน หนังสือก็มีอยู่ไม่กี่สำนักพิมพ์ คนจึงไม่ค่อยอยากเข้าห้องสมุดประชาชน

 

เราจะเริ่มอย่างไร ทำอย่างไรที่จะให้ชุมชนมารวมกันแล้วเกิดสำนึกเกิดความกระตือรือร้น เราได้พยายามทำให้เห็นแล้วโดยเริ่มจากมัสยิด ในมัสยิดไม่มีห้องสมุด ไม่มีตู้หนังสือ เอาหนังสือไปกองแป๊บเดียวหายหมด เราเรียกว่าระบบหนังสือหมุนเวียนในมัสยิด ไม่มีระบบคอมพิวเตอร์ ไม่มีระบบยืมคืน มีเพียงสมุดเล่มเดียวให้เขาจดเอาเองว่าใครมายืมอะไรไป แล้วที่ประหลาดคือสมุดก็ไม่ค่อยมีความเคลื่อนไหว เพราะเขาเอาไปแลกกันเอง เช่น บ้านใกล้กัน ผมอ่านเล่มหนึ่ง อุ้มอ่านเล่มหนึ่ง อ่านจบแล้วแลกกันเลย หมุนเวียนกันโดยอัตโนมัติ

 

สิริยากร : บางทีเราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ด้วย อย่าคิดเพียงว่าจะให้คนอ่านหนังสือที่เป็นเล่มๆ แต่เราจะทำงานกับเนื้อหาอย่างไรมากกว่า คือคิดจากโครงสร้างเดิมที่มีอยู่แต่เปลี่ยนเนื้อหา เช่นทำละครจากวรรณกรรมดีๆ หรือเราจะทำหนังสือเสียง (audio book) ช่องวรรณกรรมสำหรับวิทยุ ให้คนขับรถฟังเวลาอยู่บนท้องถนน เมื่อคนเริ่มเห็นคุณค่าเขาก็จะแสวงหาเอง เวลานี้ระบบนิเวศหนังสือเสียไป ทั้งคนทำ คนเขียน คนอ่าน คนขาย ทุกอย่างเสียสมดุล แล้วคุณค่าที่แท้มันหายไป


 

ขณะนี้ระบบหนังสือหรือวงจรของหนังสือทั้งหมดมีปัญหาอย่างไร

มกุฏ : เราได้ยินเสมอว่าการอ่านต้องเริ่มจากครอบครัว ครอบครัวคือห่วงโซ่หนึ่งของปัญหา ซึ่งโยงไปสู่อีกห่วงปัญหาหนึ่งคือความแตกต่างของสังคมไทย ครอบครัวนี้รวยมาก พ่อแม่ซื้อหนังสือไว้เป็นตู้เลย กับอีกครอบครัวทำงานหาเช้ากินค่ำ มีรายได้วันละ ๒๐๐ บาท ค่าหนังสือเล่มละ ๑๐๐ กว่าบาท ตลอดชีวิตนี้เขาไม่มีโอกาสซื้อหนังสือเลย บังเอิญเชื่อมโยงกับอีกห่วงโซ่หนึ่งซึ่งใหญ่มากคือนโยบายของรัฐและงบประมาณ ไม่เคยมีรัฐบาลไหนมีนโยบายว่าด้วยหนังสือและการอ่าน พอรัฐบาลไม่มีนโยบายหลัก รัฐบาลก็สะเปะสะปะอย่างนี้ ไม่มีงบประมาณ เอ้า บริจาค สำนักพิมพ์ขายหนังสือไม่ได้ เอ้า ประมูลหนังสือ รัฐบาลบอกให้บริจาคหนังสือเยอะๆ ให้ผลิตหนังสือเยอะๆ ให้ขายหนังสือเยอะๆ ซื้อหนังสือเยอะๆ ก็โยงต่อไปสู่ห่วงของผู้ผลิตต้นฉบับ ห่วงของนักเขียนและนักแปล ถามว่าขณะนี้นักเขียนมีคุณภาพมีกี่คน นักแปลมีคุณภาพสักกี่คน แล้วบรรณาธิการล่ะมีกี่คนที่จะมาตรวจแก้ต้นฉบับให้ดีให้ถูกต้อง ถามต่อว่าสำนักพิมพ์ที่มีอยู่ ๕๐๐ แห่งมีบรรณาธิการต้นฉบับกี่คน สำนักพิมพ์เร่งผลิตหนังสือกันใหญ่แต่ไม่มีนักเขียน ก็ไปเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ มาประมวลรวบรวมเป็นต้นฉบับแล้วจัดพิมพ์ อย่างเช่นล่าสุดมีหนังสือว่าด้วยเรื่องยาซึ่งผลิตโดยคนที่ไม่ใช่เภสัชกร ปรากฏว่าข้อมูลผิดหมด กินเข้าไปตามคำแนะนำในหนังสือก็ตาย แล้วหนังสือไม่ได้มีแค่ห่วงของสรรพวิชา ร้านเย็บกี่ไสกาวก็มีปัญหา ปัญหาอยู่ตรงที่ประเทศนี้ยากจน เราต้องทำหนังสือประเภทที่อยู่สืบต่อไปได้ถึงลูกหลานเหลนลื้อ ไม่ใช่เปิดทีสองทีพัง

 

เอาละ สมมุติว่ารัฐบาลปรารถนาดีให้บริจาคหนังสือ คนมีสตางค์ ๑๐ ล้านคนแย่งกันบริจาคหนังสือคนละ ๑๐ เล่ม เราจะได้หนังสือประมาณร้อยล้านเล่มไปยังห้องสมุดต่างๆ ห้องสมุดแต่ละแห่งจะได้หนังสือประมาณ ๑ แสนเล่ม แต่คำถามคือว่าจะเอาหนังสือเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน และใครจะเป็นคนแยกประเภทของหนังสือว่าหนังสือนี้เหมาะสำหรับเด็กชั้นไหน นี่คือปัญหาอีกห่วงโซ่หนึ่งว่าขณะนี้เราไม่มีบรรณารักษ์ ในโรงเรียนประถม ๓๙,๐๐๐ กว่าแห่งมีบรรณารักษ์อยู่สัก ๒,๐๐๐-๓,๐๐๐ กว่าแห่งเท่านั้น อีก ๓ หมื่นกว่าแห่งไม่มีบรรณารักษ์ แล้วทำอย่างไร นั่นก็เชื่อมโยงสู่อีกห่วงโซ่หนึ่งว่ามีมหาวิทยาลัยผลิตคนออกไปเป็นบรรณารักษ์สักกี่คน ขณะนี้มีคนเรียนบรรณารักษ์อยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ คนทั่วประเทศ ถามว่าถ้าเราจะผลิตบรรณารักษ์ ๓ หมื่นกว่าคนต้องใช้เวลาเท่าไร เราต้องใช้เวลากว่า ๑๐๐ ปีถ้าอัตราการผลิตบัณฑิตยังเป็นเท่านี้ ปรากฏว่ารัฐบาลประกาศว่าจะแก้ปัญหานี้ภายในเวลา ๒ ปี สิ่งที่รัฐบาลทำคือให้ครูที่ว่างๆ อยู่มาเป็นบรรณารักษ์ ครูเหล่านี้ก็ไม่รู้เลยว่าจะทำอะไรในเรื่องเกี่ยวกับหนังสือและห้องสมุด กลายเป็นการสร้างห่วงโซ่ปัญหาใหม่ขึ้นมาอีก

 

ห่วงโซ่เหล่านี้เกี่ยวข้องกันหมด และต้องทำพร้อมกันหมด ไม่มีทางที่คุณบอกว่าจะสนับสนุนนักเขียนแล้วช่วยให้ระบบหนังสือดีขึ้น ที่ผ่านมาห่วงต่างๆ อยู่ในที่ของตัวเอง ห่วงนักเขียนกองอยู่ที่สมาคมนักเขียนฯ ห่วงนักแปลอยู่ที่สมาคมนักแปลและล่ามฯ ห่วงสำนักพิมพ์อยู่ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือฯ สมาคมห้องสมุดฯ ก็แก้ปัญหาห่วงของบรรณารักษ์ ทุกคนพยายามแก้ปัญหาของตัวเอง นี่คือวิธีแก้ปัญหาแต่ละเปลาะๆ แต่ไม่มีอะไรเลยที่ดำรงอยู่ตามลำพัง จนกระทั่งบัดนี้รัฐบาลรู้หรือเปล่าว่ามีห่วงของปัญหาอยู่กี่ห่วงในระบบหนังสือ ๔๐ ปีที่ผมศึกษาเรื่องนี้มา รู้ว่ามีห่วงโซ่ปัญหาทั้งสิ้น ๑๔ ห่วงและพยายามบอกทุกรัฐบาล เพราะตราบใดที่รัฐบาลยังไม่รู้ว่าห่วงปัญหาอยู่ที่ไหนบ้าง เราแก้ปัญหาไม่ตก

 

ขอบคุณข้อมูล : นิตยสารสารคดี www.sarakadee.com

วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์ : สัมภาษณ์

ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

ที่มา : http://www.bangkokreadforlife.com/index.php/articles/8-articles/202-2011-09-07-14-44-10



เข้าชม : 1446


ความรู้เกี่ยวกับ IT 5 อันดับล่าสุด

      แอพแต่งรูปการ์ตูนจีน magic man camera หรือ mo man xiang ji มาแรง 31 / ต.ค. / 2556
      LINE คืออะไร 21 / ส.ค. / 2556
      กินผลไม้พื้นบ้านต้านโรค 9 / ก.ย. / 2555
      ว่าด้วยระบบหนังสือและการอ่าน 31 / ม.ค. / 2555
      เทคนิคออกกำลังสมอง 2 / ก.ย. / 2554


 
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดตรัง  
ถนนพระรามหก  ตำบลทับเที่ยง  อำเภอเมือง    จังหวัดตรัง  075213051
libtrang075@gmail.com

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05