"นครคนนอก" ของพลัง เพียงพิรุฬห์ คว้ารางวัลกวีซีไรต์ประจำปี 2559 จากผลงานที่ร่วมชิงชัย 88 เรื่อง คณะกรรมการฯ สดุดีผลงานกวีนิพนธ์ไทยสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ทึ่ง! ฉันทลักษณ์แปลกใหม่ ใช้ภาษาในเฟซ-ไลน์-แรป
เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. คณะกรรมการประกาศตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นการประกวดปีที่ 38 ได้ตัดสินให้รวมบทกวีนครคนนอก ของพลัง เพียงพิรุฬห์ ได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปีนี้ จากผู้เข้ารอบสุดท้าย 6 เรื่อง ได้แก่ ไกลกว้ารั้วบ้านของเรา ของโนูรฟารีดา, ทางตรง ของศิวกานต์ ปทุมสูติ, บางคนอาจเดินสวนทางเราไป ของบัญชา อ่อนดี, พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล ของวิสุทธิ์ ขาวเนียม, เพลงแม่น้ำ ของโขงรัก คำไพโรจน์ และนครคนนอก ของพลัง เพียงพิรุฬห์ โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 88 เรื่อง
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณกรรม ประธานคณะกรรมการตัดสินฯ กล่าวว่า มติของคณะกรรมการฯ เห็นว่าผลงานรวมบทกวีเรื่องนครคนนอกของพลัง เพียงพิรุฬห์ มีความโดดเด่นด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเป็นสากล วิธีการนำเสนอจากมุมมองที่แปลกใหม่ การใช้ภาษาที่สั้น กระชับ มีพลัง คมชัดทั้งเสียงและความหมาย ให้ภาพของผู้คนที่สังคมมองข้าม เนื้อหาครอบคลุมสังคมร่วมสมัยทั้งชีวิตในเมือง ชีวิตชนบท และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ตามขนบ และไร้ฉันทลักษณ์ผสมผสานกัน ใช้วรรณรูป ภาพวาด และสัญญะทางอารมณ์ สื่อเสริม เน้นความหมายให้ขบคิดและตีความ จินตภาพ และน้ำเสียงบ่งบอกว่าชีวิตเป็นทุกข์ มีปัญหาและต้องดิ้นรน แต่ในท้ายที่สุดได้ให้ความหวังและกำลังใจ กวีนิพนธ์เรื่องนี้ จึงเป็นหน้าใหม่ของกวีนิพนธ์ไทยร่วมสมัย สมควรแก่รางวัลซีไรต์ประจำปี 2559
อาจารย์สุรภีพรรณ ฉัตราภรณ์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ ระบุว่า บทกวีนครคนนอก นับว่าเป็นบทกวีที่ร่วมสมัย กล่าวถึงสังคม คนเล็ก คนน้อย ซึ่งเป็นคนธรรมดา คนชนชั้นระดับล่างในเมืองใหญ่ เช่น การกล่าวถึงคนขายไข่ปิ้ง คนงานก่อสร้างตึกห้างสรรพสินค้าสร้างห้างหรูหรา หรือสร้างตึกที่พวกเขาไม่ได้อยู่ และเบื้องหลังชีวิตคนกลุ่มนี้ที่มีทะเลาะเบาะแว้ง ยากจนทุกข์ยาก แต่พอห้างเปิด เราก็จะเห็นแต่ความหรูหรา ไม่ได้บอกเล่าชีวิตเบื้องหลังของคนที่ก่อสร้าง
"แง่ฉันทลักษณ์ถือว่าแปลกใหม่ เพราะมีทั้งที่มีรูปแบบและไม่มีรูปแบบผสมกัน เป็นความสามารถของผู้เขียน รวมทั้งมีการใช้ภาษาในเฟซบุ๊ก ภาษาในไลน์ ภาษาแรป มีคำโย่ว เหล่านี้ ทำให้เนื้อหามีความเป็นสากล เป็นมิติที่ไม่คุ้นเคยในบทกวีไทย แต่ก็ยังไม่ทิ้งขนบความเป็นบทวีดั้งเดิมเอาไว้" อาจารย์สุรภีพรรณกล่าว
อาจารย์สุรภีพรรณกล่าวต่อว่า ที่สำคัญยังมีการตั้งคำถามกับเทคโนโลยีที่ไหลบ่าให้คนอ่านได้ขบคิด เป็นความลึกซึ้ง ทำให้คนรุ่นใหม่ที่เป็นนิสิต-นักศึกษา ซึ่งพอได้อ่านแล้วไม่ได้แต่อรรถรสของบทกวีเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดสติปัญญา อ่านแล้วคิดวิเคราะห์ คิดหาความหมายในชีวิต ในสังคมโลกสมัยใหม่ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ผู้เขียนยังใช้สัญลักษณ์ ภาพวาด มาช่วยสื่อความหมายบทกวี ทำให้งานชิ้นนี้เป็น Visual Poetry เหมือนเป็นหน้าใหม่กวีนิพนธ์ไทยที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
อาจารย์ตรีศิลป์ บุญขจร กรรมการอีกรายกล่าวว่า เรื่องนครคนนอก ถือว่าเป็นผลงานคุณภาพในรอบหลายปีที่ผ่านมา สำหรับภาพรวมผลงาน 88 เรื่องที่ส่งเข้ามาแม้มีความหลากหลาย แต่บางเล่มยึดขนบการเขียนแบบดั้งเดิม บางเรื่องมีฉันทลักษณ์และไม่มีฉันทลักษณ์ปนเปกัน เนื้อหาก็มีหลายกระแส พูดถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ 6 เล่มที่เข้ารอบสุดท้าย ถือว่าเป็นตัวแทนจากทั้ง 88 เล่ม เพราะเป็นผลงานที่มีความเคลื่อนไหวในแง่ฉันทลักษณ์ มีลมหายใจ มีชีวิต และทำให้เห็นพลังบางอย่างของบทกวีนิพนธ์ที่หลายคนบอกว่าซบเซา กลับมีความตื่นตัวขึ้นในรูปโฉมใหม่ และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น
ด้านนายธเนศ เวศร์ภาดา กรรมการ กล่าวว่า บทกวีเรื่องนี้เป็นบันทึกสังคมที่น่าสนใจในการก้าวสู่สังคมดิจิตอล และเป็นบทกวีนิพนธ์ที่ปรับตัวสู่โลกยุคใหม่ที่มีความหลากหลายในสังคม
สำหรับพลัง เพียงพิรุฬห์ เป็นนามปากกาของเกริกศิษฎ์ พละมาตร์ ผลงานที่ผ่านมาเคยเข้ารอบสุดท้ายซีไรต์หลายครั้ง แต่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่ได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลซีไรต์.
ที่มา : http://www.thaipost.net/
เข้าชม : 681
|