นวนิยาย "ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต" ของ วีรพร นิติประภา คว้ารางวัลซีไรต์ปี 58 คณะกรรมการชี้กระแทกใจ สะท้อนภาพชีวิตล้มเหลวในสังคมเสพติดศิลป์หนุ่มสาวรุ่นใหม่ เป็นอุทาหรณ์เพื่อหลุดพ้นความบอดใบ้ทางปัญญา ว.วินิจฉัยกุลยกเป็นนักเขียนหญิงรุ่มรวยด้วยภาษาและความคิด
บ่ายวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) เป็นประธานแถลงข่าวประกาศผลรางวัลซีไรต์ ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2558 พร้อมด้วยคณะกรรมการตัดสินทั้ง 7 คน ประกอบด้วย รศ.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์, นางชมัยภร แสงกระจ่าง, นายบูรพา อารัมภีร, นายสกุล บุณยทัต, รศ.ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง, นางกนกวลี พจนปกรณ์ กันไทยราษฎร์ และ ผศ.ดร.สายวรุณ สุนทโรทก
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2558 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้นวนิยายเรื่อง ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต ของวีรพร นิติประภา ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ของประเทศไทย ประจำปี 2558 โดยงานพระราชทานรางวัลซีไรต์ ประจำปี 2558 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ เสด็จแทนพระองค์ประทานรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ในวันที่ 14 ธ.ค.2558 ณ ห้องรอยัล บอลรูม โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เวลา 19.30 น. นอกจากนี้ คณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์จะจัดงานพบปะนักเขียนซีไรต์คนใหม่ประจำปี 2558 ในวันที่ 27 ต.ค. เวลา 14.00 น. ณ ห้องแม่กลอง โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล
รศ.คุณหญิงวินิตา ประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า "ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต" ของวีรพร สะท้อนภาพความล้มเหลวของการบริหารจัดการชีวิตในสังคมเสพติดศิลป์ของคนหนุ่ม สาวยุคใหม่ แสดงให้เห็นผลกระทบของการเผชิญหน้าระหว่างมายาคติกับอุดมคติของสถาบันครอบ ครัวไทย ในขณะเดียวกันก็รุ่มรวยไปด้วยการหยั่งถึงความงามอันบรรเจิดของศิลปะหลากแขนง รวมทั้งความงดงามของธรรมชาติสรรค์สร้างคำและประโยคที่เป็นอัตลักษณ์ได้ดี นวนิยายเรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์ด้านกลับสำหรับคนรุ่นใหม่ เพื่อการหลุดพ้นจากความบอดใบ้ทางปัญญาและการไร้ศรัทธายึดเหนี่ยวในวิถีชีวิต
ด้าน รศ.ทวีศักดิ์ กรรมการตัดสิน กล่าวว่า "ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต" มีเสน่ห์น่าอ่านและมีให้ความคิดกับคนอ่านในหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องสถาบันครอบครัวกับการดำเนินชีวิตของคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ได้รับผลกระทบจากสถาบันครอบครัว ทำให้ต้องอยู่เพียงลำพัง หากใครคิดดีจะไปรอด แต่หากใครยังวนเวียนหาทางออกไม่ได้จะเหมือนตัวละครในเรื่อง นอกจากนี้ยังมีตัวละครเปรียบเทียบชื่อ "ป้านวล" หญิงอีสานที่ต้องระเหเร่ร่อน มีสามีถึง 3 คน ลูก 5 คน และหลานอีก 8 คน แต่สามารถใช้ชีวิตอย่างสงบราบรื่น ขณะที่ตัวละครเอก 3 คนที่เป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่หย่าร้าง หาทางออกในชีวิตไม่ได้เหมือนป้านวล อ่านแล้วชวนให้เอาใจใส่กับชีวิตของคนรุ่นใหม่และนำไปขบคิดต่อ
นางชมัยภร กรรมการตัดสินและศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เผยว่า ความโดดเด่นของเรื่องนี้คือความมีเสน่ห์ของภาษา ส่วนใหญ่นักเขียนรุ่นใหม่ไม่อยากเล่นทางภาษา แต่เรื่องนี้สนใจศิลปะทางภาษา ทั้งเรื่องคำ รูปประโยค การใช้คำสร้างภาพ หากพิจารณาคู่กับเนื้อเรื่องจะพบว่า ภาษาสอดคล้องกับการแสดงความลึกซึ้งของงานศิลปะ ทั้งคีตศิลป์และทัศนศิลป์ ให้ความเข้าใจเรื่องรสนิยมทางศิลปะไปพร้อมกัน ในเรื่องลูกกำพร้าชอบดูหนัง ฟังเพลง กินอาหารเหมือนกัน อาจเป็นไปได้จะมีกลุ่มคนที่คิดและรสนิยมคล้ายกันรวมตัวกัน ตื่นเต้นที่งานชิ้นนี้นำเสนอภาพคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง บางทีพวกเขายังไม่รู้จะแก้ไขปัญหาชีวิตและก้าวต่อไปได้อย่างไร ฉะนั้น ไส้เดือนตาบอดจึงต้องอยู่ในเขาวงกตตลอดไป ขณะที่ถ้าไม่ใช่ไส้เดือนจะหลุดพ้นได้.
ที่มา : http://www.thaipost.net/
เข้าชม : 1487
|