[x] ปิดหน้าต่างนี้
 



 
                   
เมืองผู้นำยางพารา เทิดรัษฎานุประดิษฐ์ เมืองมิตรวัฒนธรรม หมูย่าง ติ่มซำรสเลิศ เปิดประตูสู่อันดามัน สวรรค์นักท่องเที่ยว
 

  

ข่าวทั่วไป
รางวัลวรรณกรรมนานาชาติลุ่มน้ำโขง 2557 หรือแม่โขงอะวอร์ด\" (Mekong River Literature Award 2014)

พุธ ที่ 26 เดือน มีนาคม พ.ศ.2557


''กฤษณา อโศกสิน-เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์-ธีรภาพ โลหิตกุล'' คว้ารางวัลวรรณกรรมนานาชาติแม่โขงอะวอร์ดปี2557

       14มี.ค.2557 เฟซบุ๊ก"พินิจ นิลรัตน์" ได้โพสต์ข้อความว่า  "กฤษณา อโศกสิน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ และ ธีรภาพ โลหิตกุล" คว้ารางวัลวรรณกรรมนานาชาติลุ่มน้ำโขง 2557 หรือแม่โขงอะวอร์ด"  (Mekong River Literature Award 2014) เป็นครั้งแรกของประเทศไทย พร้อมกับนักเขียนประเทศภาคีประเทศเวียดนาม กัมพูชา และลาว โดยจะเดินทางไปรับรางวัลที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา วันที่ 30  มีนาคมนี้!

       ทั้งนี้เฟซบุ๊กสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้โพสต์ข้อความว่า" ประกาศเกียรติคุณนักเขียนผู้ได้รับรางวัลวรรณกรรม “แม่โขงอะวอร์ด” ของไทย ประจำปี ๒๕๕๗ โดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

       นับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในแวดวงวรรณกรรมไทยที่จะมีการประกาศรายชื่อ "นักเขียนรางวัลวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง" (Mekong River Literature Award) ซึ่งเป็นรางวัลระดับนานาชาติสำหรับคนวรรณกรรมในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

       รางวัลดังกล่าวจัดขึ้นโดยกองทุนวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๐ จากความร่วมมือของสมาคมนักเขียนเวียดนาม สมาคมนักเขียนกัมพูชา และสมาคมนักประพันธ์ลาว เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมของมิตรประเทศทั้งสาม ในส่วนของประเทศไทย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้เริ่มฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคแม่น้ำโขงเมื่อประมาณ ๑๐ ปีที่แล้ว โดยมีข้อตกลงแลกเปลี่ยนทางด้านวรรณกรรมและนักเขียนกับกัมพูชา เวียดนาม และลาว อาทิ โครงการวรรณกรรมสัมพันธ์ไทย - ลาว โครงการวรรณกรรมสัมพันธ์ไทย - เวียดนาม และโครงการวรรณกรรมสัมพันธ์ไทย - กัมพูชา เป็นต้น จนกระทั่งในปี ๒๕๕๕ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยได้รับเชิญเป็นประเทศผู้สังเกตการณ์งานมอบรางวัล วรรณกรรมลุ่มน้ำโขง และมีมติตอบรับเข้าร่วมเป็นภาคีนักเขียนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในการประชุมครั้งที่ ๔ ณ เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
พันธกิจหนึ่งในการร่วมเป็นประเทศภาคีคือ การพิจารณาคัดเลือกนักเขียน ๓ คนที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ เพื่อเดินทางไปรับรางวัลวรรณกรรมลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะจัดขึ้นสองปีครั้ง และในปี ๒๕๕๗ นี้ มีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนมีนาคม ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา

       โอกาสนี้ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ขอการประกาศเกียรติคุณนักเขียนผู้ได้รับรางวัลวรรณกรรม “แม่โขงอะวอร์ด” ของไทย ประจำปี ๒๕๕๗ คือ นางสุกัญญา ชลศึกษ์ (กฤษณา อโศกสิน) นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ นายธีรภาพ โลหิตกุล


คำประกาศเกียรติคุณ
นางสุกัญญา ชลศึกษ์”กฤษณา อโศกสิน”


       นางสุกัญญา ชลศึกษ์ นามปากกา “กฤษณา อโศกสิน” “กัญญ์ชลา” และ “สไบเมือง” เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ มีผลงานโดดเด่นในด้านนวนิยาย เขียนนวนิยายมามากกว่า ๑๔๐ เรื่อง ตั้งแต่อายุ ๑๘ ปี จนปัจจุบันอายุแปดสิบปีเศษ ผลงานส่วนใหญ่ สะท้อนภาพชีวิตของผู้คนในสังคมในหลากหลายแง่มุม หลายเรื่องเน้นเรื่องการเมืองและประวัติศาสตร์

       ในปี ๒๕๓๕ นางสุกัญญา ชลศึกษ์ ได้ไปเยี่ยมชมปราสาทนครวัดนครธม และพิพิธภัณฑ์ตุลสะแลง ของกัมพูชา เกิดความสะเทือนใจอย่างมาก เมื่อกลับมาประเทศไทย ก็ได้เขียนสารคดีชื่อ “เสียงหัวเราะและน้ำตาในศิลานคร” แต่ก็รู้สึกว่ายังไม่หมดใจที่อยากเขียน จึงเขียนนวนิยายเรื่อง “จำหลักไว้ในแผ่นดิน” ขึ้นมาอีกเรื่องหนึ่ง นำเสนอส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ระหว่างสามประเทศ คือ กัมพูชา เวียดนามและไทย มีเนื้อเรื่องแสดงสภาวะสงครามกลางเมืองในกัมพูชาที่ไทยมีส่วนเข้าไปเกี่ยว ข้องด้วยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน กล่าวคือ เมื่อกรุงพนมเปญได้แตกลงในปี ๒๕๑๘ ตลอดระยะเวลา ๕ ปีต่อจากนั้น ผู้อพยพชาวกัมพูชาได้ทยอยหลั่งไหลกันเข้ามาทางเขตชายแดนไทยเป็นพัน เป็นหมื่น และเป็นแสนในที่สุด ผู้เขียนได้สะท้อนให้เห็นผลของสงคราม และผูกโยงมาสู่ปัญหามนุษยธรรม ความพึงใจและความผูกพัน ระหว่างเจ้าหญิงกัมพูชา และหนุ่มไทยผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวพันกับผู้อพยพ นอกจากสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวไทยและชาวกัมพูชา ผู้เขียนยังนำเสนอให้นักอ่านเห็นสถานะของประเทศเล็ก ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงต่อสังคมโลกอีกด้วย หนังสือนวนิยายเล่มนี้ได้รับรางวัลดีเด่น จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ของกระทรวงศึกษาธิการของไทย และได้รับการคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๕๐๐ เล่ม หนังสือดีสำหรับเยาวชนไทย ของสมาพันธ์การอ่านหนังสือแห่งชาติอีกด้วย

       ผลงานเขียนของนางสุกัญญา ชลศึกษ์ เป็นผลงานคุณภาพ ได้รับรางวัลในประเทศมากกว่า ๒๐ ครั้ง และได้รับรางวัลระหว่างประเทศ ๓ ครั้ง คือรางวัลวรรณกรรมดีเด่นจากองค์การ ส.ป.อ. ๒ ครั้งจากเรื่อง เรือมนุษย์ และตะวันตกดิน รางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน(ซีไรต์) ๑ ครั้ง จากเรื่อง ปูนปิดทอง รวมทั้งได้รับการประกาศเกียรติจากประเทศชิลีให้เป็นหนึ่งใน ๕๐ นักเขียนนวนิยายผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวรรณกรรมทั่วโลก นวนิยายหลายเล่มได้รับการประกาศให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเด็กนัก เรียนชั้นมัธยม อาทิ บุษบกใบไม้ หน้าต่างบานแรก

       การสร้างสรรค์นวนิยายสะท้อนภาพสังคมมาโดยตลอดอย่างมีเป้าหมายให้สังคม เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้นางสุกัญญา ชลศึกษ์ เป็นนักเขียนคุณภาพที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อาจกล่าวได้ว่า ทั้งชีวิตของนักเขียนผู้นี้ ไม่มีสิ่งอื่นใดเลยนอกจากตัวอักษร นับแต่ปี ๒๔๙๒ เป็นต้นมาจนปัจจุบัน เป็นเวลา ๖๕ ปีแล้ว นางสุกัญญา ชลศึกษ์ ไม่เคยวางมือจากการเขียน เธอทำงานสม่ำเสมอ และมีไฟในการเขียนไม่ลดรา ยังเขียนประจำในนิตยสารอย่างน้อย ๓ เล่ม และมีผลงานรวมเล่มสม่ำเสมอทุกปี
สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เห็นสมควรประกาศเกียรติให้ นางสุกัญญา ชลศึกษ์ หรือ “กฤษณา อโศกสิน” เป็นผู้ได้รับรางวัลวรรณกรรม “แม่โขงอะวอร์ด” ของไทย ประจำปี ๒๕๕๗


คำประกาศเกียรติคุณ
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์


       นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นกวีของไทยที่มีชื่อเสียงโดดเด่นทั้งในและนอกประเทศ มีผลงานกวีนิพนธ์ที่ใช้ฉันทลักษณ์ไทยสะท้อนภาพชีวิตและสังคมไทยในทุกแง่มุม อาทิ ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์บ้านเมือง ศิลปวัฒนธรรม ปรัชญา ศาสนา ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ของกระทรวงศึกษาธิการของไทย หลายครั้ง ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม (ซีไรต์) จากผลงานชุด “เพียงความเคลื่อนไหว” ได้รับการประกาศเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) และมีผลงานได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการของกระทรวงศึกษาธิการให้ใช้เป็น หนังสือประกอบการเรียนสำหรับนักเรียนหลายเล่ม อาทิ คำหยาด ชักม้าชมเมือง น้ำใสไม้สวย วารีดุริยางค์ ผลงานบางส่วนได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว รวมทั้งได้รับเชิญให้ไปอ่านบทกวีในต่างประเทศอยู่เสมอ ในปี ๒๕๕๕ ได้รับการประกาศเกียรติจากกระทรวงวัฒนธรรมของประเทศไทย ให้เป็นหนึ่งในกวีอาเซียนรวม ๑๐ ประเทศที่ได้รับรางวัลสุนทรภู่ และเมื่อปี ๒๕๕๖ ได้รับการยกย่องจากโครงการ Path of Visionaries of the World ซึ่งเป็นโครงการในอุปถัมภ์ขององค์การการศึกษาและวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม (UNESCO) ให้นำบทกวีวรรคทองชื่อ “วิถีไทย”ของเขาไปสลักลงบนแผ่นหินบนทางเท้า เคียงคู่กับวาทะของบุคคลสำคัญจากทั่วโลก อาทิ อัลเบิร์ต ไอนสไตน์ มหาตมคานธี แองตวน เดอ แซงเต็กซูเปรี เป็นต้น

       ปี ๒๕๓๕ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ได้สร้างสรรค์ผลงานชุด “เขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิ” โดยเริ่มจากประเทศไทย เขาเดินทางไปทั่วประเทศไทย และบันทึกเรื่องราวของจังหวัดต่าง ๆ เป็นงานกวีนิพนธ์ชื่อ “เขียนแผ่นดิน” หลังจากทำงานชุด เขียนแผ่นดินไทย เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในปี ๒๕๔๗ เขาก็ได้เดินทางไปเยือนประเทศลาว และเขียนกวีนิพนธ์ชุด “เขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิลาว” และในปี ๒๕๕๖ ได้เดินทางไปเยือนประเทศเวียดนาม และสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ชุด “เขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิเวียดนาม” ปัจจุบัน เขาได้เริ่มต้นผลงานชุดใหม่ชื่อ “เขียนแผ่นดินมาเลเซีย”

       เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กับผลงานชุด “เขียนแผ่นดินสุวรรณภูมิ” ของเขาทำให้เกิดการประสานสัมพันธ์ระหว่างนักเขียน-กวีไทยกับนักเขียน-กวีของ ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ทำให้เกิดผลงานใหม่ ๆที่สะท้อนสภาพบ้านเมือง ผู้คนและวัฒนธรรมของประเทศต่าง ๆ ในขณะเดียวกันถือเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างคนไทยและคนชาตินั้น ๆ ให้แน่นแฟ้นและงดงามขึ้น

       สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เห็นสมควรประกาศเกียรติให้ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้ได้รับรางวัลวรรณกรรม “แม่โขงอะวอร์ด” ของไทย ประจำปี ๒๕๕๗


คำประกาศ เกียรติคุณ
นายธีรภาพ โลหิตกุล



       นายธีรภาพ โลหิตกุล เป็นนักเขียนสารคดีซึ่งมีผลงานโดดเด่น สืบเนื่องมาเป็นว่ากว่าสามสิบปี ผลงานหลายเรื่องของเขาได้ถ่ายทอดชีวิตผู้คน สถานที่ ประเพณีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ของอุษาคเนย์ ผ่านงานเขียน ภาพถ่าย รวมถึงผลงานในรูปแบบสารคดีทางโทรทัศน์ ที่ทั้งหมดล้วนทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับผู้คนซึ่งใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมายาวนานบนผืนแผ่นดินอุษาคเนย์ แม้คนแต่ละชนชาติจะมีวิถีชีวิต คติความเชื่อ และขนบธรรมธรรมประเพณีที่แตกต่าง หากสิ่งที่ถ่ายทอดผ่านผลงานของ ธีรภาพ โลหิตกุล ทำให้ได้เห็นถึงความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กันในหลายรูปแบบ จนทำให้เห็นว่าเราทั้งหมดล้วนเป็นหนึ่ง มิอาจแยกออกจากกันได้

       ตลอดชีวิตการทำงาน นายธีรภาพ โลหิตกุล ทุ่มเทให้กับการเดินทางอย่างมาก เขามองโลกด้วยสายตาของนักเขียน บันทึกรายละเอียดต่างๆ อย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง และรู้จริง ผ่านการพูดคุยกับผู้คนในทุกพื้นที่ สัมผัสความจริงต่างๆ ด้วยประสาทสัมผัสทั้งหมดของตัวเอง รวมทั้งศึกษาจากเอกสารประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติ เชื่อมโยงให้เห็นถึงรากเหง้าและร่องรอย สืบทอดจากอดีตมาถึงปัจจุบัน

       เขาเดินทางไปประเทศต่างๆ ในอุษาคเนย์นับครั้งไม่ถ้วน ทั้งเพื่อการทำงานสารคดี และในฐานะวิทยากรอบรมการเขียนสารคดี รวมถึงการเป็นมัคคุเทศน์นำคณะเดินทางไปเยี่ยมเยือนสถานที่สำคัญต่างๆ พร้อมบอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมา เกร็ดความรู้ และคุณค่าของสถานที่เหล่านั้น

       นายธีรภาพ โลหิตกุล มีผลงานสารคดีออกมากว่าสี่สิบเล่ม อาทิ “มหัศจรรย์สุวรรณภูมิ” “คลื่นอุษาคเนย์” “มนตราอาเซียน” “รัก-ชื่น-ขื่น-ชัง อุษาคเนย์ หน้าต่างความคิด พินิจไทยและเพื่อนบ้าน” “คนไทในอุษาคเนย์” “อินโดจีน ยุค Wind of Change“ “ซินจ่าวเวียดนาม” “ท่องแดนเจดีย์ไพร ในพุกามประเทศ” “ชายชรากับบ่วงกรรมและคำสาป นครวัด นครธม” ฯลฯ รวมถึงสารคดีทางโทรทัศน์อีกเป็นจำนวนมาก อาทิ สารคดีชุด “นครวัด นครธม” “อาณาจักรล้านช้าง” ฯลฯ นอกจากนี้ เขายังเป็นนักจัดรายการวิทยุ ผู้ดำเนินรายการ “อุษาคเนย์” ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

       จากการทำงานอันทุ่มเท ทั้งการเดินทาง การสืบค้นข้อมูล และการถ่ายทอดออกมาอย่างมีชั้นเชิงผ่านวรรณศิลป์อันงดงาม ให้อารมณ์ความรู้สึกอันละเมียดละไม ทำให้ ธีรภาพ โลหิตกุล เป็นนักเขียนสารคดีร่วมสมัยของไทย ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ผลงานของเขาได้รับการยกย่องจากหลายสถาบัน ได้แก่ “สายน้ำและความทรงจำ” ที่ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา อีกทั้งยังได้รับประกาศให้เป็น ๑ ใน ๕๐๐ เล่มหนังสือดีสำหรับเด็กและเยาวชน ร่วมกับผลงานอื่นๆ ของเขาได้แก่ “ความทรงจำที่ลำน้ำหอม” “สายน้ำตะวันออก” “บันทึกผู้มาเยือน” “สายน้ำ ภูหนาว เงาอดีต” และ “แรงดลใจ” รวมถึงสารคดีโทรทัศน์ชุด “แม่น้ำเจ้าพระยา” ที่ได้รับรางวัลเมขลา ประจำปี ๒๕๓๔ อีกทั้งยังเป็นสารคดีตัวแทนประเทศไทย เข้าร่วมในงานมหกรรมภาพยนตร์และวีดีโอนานาชาติ ประเทศเบลเยี่ยม ในปีเดียวกัน

       ล่าสุดเขาได้รับ “รางวัลศรีบูรพา” ซึ่งมอบให้แก่นักคิด นักเขียน นักแปล กวี และนักหนังสือพิมพ์ ที่มีชีวิตที่เป็นแบบอย่างการใช้ชีวิตที่ดีงามและเป็นแบบฉบับการสร้างสรรค์ งานที่มีคุณค่าต่อสังคมและมนุษยชาติอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน ประจำปี ๒๕๕๖

       ด้วยการเดินทางอันยาวนานบนเส้นทางของนักเขียนสารคดี ผู้เปิดโลกกว้างให้ผู้อ่านได้พบเห็น เรียนรู้ และเข้าใจ ในวิถีที่แตกต่างกันของผู้คนชนชาติต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้คนที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันบนลุ่มอารยะแห่งแม่น้ำโขง สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย จึงเห็นสมควรประกาศเกียรติให้ นายธีรภาพ โลหิตกุล ได้รับรางวัล “แม่โขงอะวอร์ด” ของไทย ประจำปี ๒๕๕๗

ที่มา : http://www.komchadluek.net/mobile/detail/20140314/180878.html



เข้าชม : 1497


ข่าวทั่วไป 5 อันดับล่าสุด

      นครคนนอก’ คว้า‘กวีซีไรต์ 6 / ก.พ. / 2560
      นวนิยาย \"ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต\" ของ วีรพร นิติประภา คว้ารางวัลซีไรต์ปี 58 15 / พ.ย. / 2558
      18 นวนิยาย ผ่านเข้ารอบแรกรางวัลซีไรต์ 2558 13 / ก.ค. / 2558
      แนะนำหนังสือน่าอ่าน วรรณกรรมรางวัลแว่นแก้วครั้งที่ 10 17 / ธ.ค. / 2557
      10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ 9 / ธ.ค. / 2557


 
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดตรัง  
ถนนพระรามหก  ตำบลทับเที่ยง  อำเภอเมือง    จังหวัดตรัง  075213051
libtrang075@gmail.com

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05