ผลสำรวจ สสส. “พ่อส่วนใหญ่มีนิสัยรักการอ่าน มีความตั้งใจสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับลูก และพร้อมร่วมกิจกรรม 21 วันสร้างนิสัยรักการอ่านจากพ่อสู่ลูกถวายพ่อหลวง เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ"
เนื่องในโอกาส “วันพ่อแห่งชาติ” 5 ธันวาคม 2556 แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ เครือข่ายเสียงประชาชน (WE VOICE) ได้สำรวจความคิดเห็นของพ่อที่มีลูกอายุไม่เกิน 6 ปี จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เรื่อง “21 วัน สร้างนิสัยรักการอ่านจากพ่อสู่ลูกถวายพ่อหลวง” โดยสำรวจระหว่างวันที่ 15 – 24 พฤศจิกายน 2556 มีผู้ให้ข้อมูลจำนวนทั้งสิ้น 1,002 คน
ผลการสำรวจที่น่าสนใจ พบว่า
พ่อนิยมซื้อหนังสือนิทาน การ์ตูน เป็นของขวัญ (เช่น วันเกิด ปีใหม่) ให้ลูกเพียง ร้อยละ 50 ถือเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อเทียบกับ อันดับ 1 คือ ของเล่น/ ตุ๊กตา/หุ่นยนต์ (ร้อยละ 57.0) อันดับ 2 คือ เสื้อผ้า/เครื่องประดับ (ร้อยละ 51.7) และอันดับ 3 คือ ขนม ของกิน (ร้อยละ 51.2)
เช่นเดียวกับ กิจกรรมที่พ่อทำร่วมกับลูกมากที่สุดในยามว่างคือ ดูโทรทัศน์/ดูภาพยนตร์ (ร้อยละ 58.5)รอง ลงมาคือ ไปสนามเด็กเล่น/ ออกกำลังกาย/เล่นกีฬา (ร้อยละ 52.4) และอ่านหนังสือ/นิทาน/การ์ตูน (ร้อยละ 43.1) ส่วนการทำอาหารกินกันในครอบครัว (ร้อยละ 42.6) อยู่ในลำดับสุดท้าย
พ่อเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังครั้งแรก พบว่า พ่อเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังครั้งแรก ตั้งแต่ลูกมีอายุ 0-3 ปี มากที่สุดร้อยละ 65.1 รองลงมาคือ พ่อไม่เคยอ่านหนังสือให้ลูกฟังเลยร้อยละ23.8และ พ่อ เริ่มอ่านให้ลูกฟัง เมื่อลูกมีอายุ 4-6 ปี ร้อยละ 11.1
ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีพ่อถึงร้อยละ 52.2 ที่ระบุว่าไม่ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟังในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมา เลยเนื่องจาก ไม่มีเวลา /ต้องทำงาน โดยมี แม่อ่านให้ฟังอยู่แล้ว และชอบไปทำกิจกรรมอย่างอื่นมากกว่า ขณะที่พ่อร้อยละ 47.8 ระบุว่าได้อ่าน เนื่องจาก เห็นความสำคัญของการอ่าน อ่านเพื่อให้เกิดความสุข/เพลิดเพลิน และมีหนังสือดีๆ เหมาะสำหรับเด็กให้เลือกซื้อหา
เมื่อถามว่า ตัวพ่อเองมีนิสัยรักการอ่านหรือไม่ พบว่า มีพ่อร้อยละ 60.6 ที่ระบุว่าตนเองมีนิสัยรักการอ่าน ในขณะที่ร้อยละ 17.3 ระบุว่าไม่มีนิสัยรักการอ่าน ส่วนอีกร้อยละ 22.1 ระบุว่าไม่แน่ใจ
สำหรับประเด็น เรื่องการอ่านหนังสือให้ลูกฟังวันละ 5-15 นาที ในทุกๆ วันที่จะช่วยพัฒนาลูก และถ้าอ่านนานติดต่อกัน 21 วันจะช่วยสร้างลูกให้มีนิสัยรักการอ่านนั้น มีพ่อถึงร้อยละ 56.5ระบุว่าไม่ทราบข้อมูลดังกล่าว ขณะที่ร้อยละ 43.5 ระบุว่าทราบ
เมื่อถามว่า “หากมีกิจกรรม 21 วันสร้างนิสัยรักการอ่านจากพ่อสู่ลูกถวายพ่อหลวง เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ พ่อมีความตั้งใจเพียงใดที่จะเพิ่มบทบาทของพ่อในการสร้างนิสัยรักการอ่านให้ กับลูกเพื่อถวายพ่อหลวง” พบว่า พ่อร้อยละ 49.7 ระบุว่าจะตั้งใจมากที่สุดเพื่อลูก ขณะร้อยละ 28.5 ระบุว่าจะตั้งใจมากที่สุดแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเด็กเองและองค์ประกอบอื่นๆ ที่เหลือร้อยละ 21.8 ไม่แน่ใจว่าจะตั้งใจได้มากเพียงใด
สุดท้าย พบว่า จำนวนหนังสือภาพ/หนังสือนิทานสำหรับเด็กอายุ 0-6 ปีที่มีอยู่ในครอบครัว ส่วนใหญ่ มีอยู่ 1-10 เล่มร้อยละ 71.3 รองลงมา มีอยู่ 11-20 เล่ม ร้อยละ 15.9 และระบุว่าไม่มีเลย ร้อยละ 5.9
ผลการสำรวจความคิดเห็นของพ่อ ผู้ให้ข้อมูล สามารถสรุปและวิเคราะห์ ได้ 3 ประเด็นคือ
ประเด็นที่ 1 พ่อส่วนใหญ่ ยังนิยมซื้อของเล่น เสื้อผ้า ขนมของกินให้ลูก มากกว่า การซื้อหนังสือนิทาน เป็นของขวัญ (เช่น วันเกิด ปีใหม่) ให้ลูก เช่นเดียวกับการชวนลูกดูโทรทัศน์/ภาพยนตร์ ไป สนามเด็กเล่น/ เล่นกีฬา มากกว่าการอ่านหนังสือ/นิทาน/การ์ตูน ให้ลูกฟัง แต่การดูโทรทัศน์/ดูภาพยนตร์ อาจสะท้อนถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่รายการทีวีควรมีรายการดีๆที่ส่งเสริมการ พัฒนาทางด้านสติปัญญา และปลูกฝังการมีคุณธรรม จริยธรรมให้กับเด็กๆ ได้ด้วยเช่นกัน
ประเด็นที่ 2 พ่อส่วนใหญ่ มีความรักลูกเช่นเดียวกับแม่ ที่มีส่วนเริ่มอ่านหนังสือให้ลูกฟังครั้งแรก เมื่อลูกมีอายุ 0-3 ปีเพราะเห็นความสำคัญของการอ่าน อ่านแล้วเกิดความสุข สนุกเพลินเพลินทั้งพ่อและลูก ส่วนมีพ่อที่ไม่ได้อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ก็เนื่องจาก แม่อ่านให้ฟังอยู่แล้ว พ่อต้องทำงาน เป็นต้น
ประเด็นที่ 3 ส่วนใหญ่ พ่อ มีนิสัยรักการอ่าน มี ความตั้งใจสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับลูก และพร้อมร่วมกิจกรรม 21 วันสร้างนิสัยรักการอ่านจากพ่อสู่ลูกถวายพ่อหลวง เนื่องในวันพ่อแห่งชาติ
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่า กิจกรรม รณรงค์ให้พ่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง 21 วันสร้างนิสัยรักการอ่านจากพ่อสู่ลูก ถวายพ่อหลวง จะทำให้ “พ่อเป็นตัวแบบที่สำคัญของลูก และทำให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านได้แน่นอน”
จากผลการสำรวจในครั้งนี้ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า “จากการทำงานของเครือข่ายสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน โดยเฉพาะโครงการพ่ออ่านบ้านอุ่นพบว่า หากพ่ออ่านหนังสือให้ลูกฟังอย่างต่อเนื่อง มีพ่อที่เคยกระทำความรุนแรงต่อลูกวัย 6 เดือน – 3 ปี ทั้งตีด้วยมือ ไม้เรียว ไม้บรรทัด ทุบหัว ตบหัว หยิก ปาของใส่ ฯลฯ จะลดความรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ ร้อยละ 78.31 และยังลดพฤติกรรมดื่มเหล้า สูบบุหรี่ เล่นการพนันลงร้อยละ 48.11”
“มีการเก็บผลการประเมินจากภรรยา พบว่า ผลพวงสำคัญของการที่พ่ออ่านหนังสือให้ลูกฟังคือ พ่อเห็นความสำคัญของการเป็นต้นแบบที่ดี ทำงานบ้านร่วมกันมากขึ้น มีความรับผิดชอบ และรู้จักให้อภัยมากขึ้นทำให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่น ดังนั้นเพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศลในวาระมหามงคลวันที่ 5 ธันวาคมนี้ จึงใคร่ขอเชิญชวนคุณพ่อทุกครอบครัวโดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกตั้งแต่ 4 เดือน – 6 ปี ได้หันมาใช้หนังสือเป็นสื่อในการพัฒนาสมองและทักษะทุกด้านของลูก โดยเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟังเพียงวันละ 10-15 นาที ติดต่อกันอย่างน้อย 21 วัน ซึ่งในทางจิตวิทยาจะช่วยสร้างพฤติกรรมที่ถาวรได้ ทั้งนี้มีเครือข่ายอ่านยกกำลังสุขในพื้นที่ชุมชนต่างๆ 86 ชุมชน ร่วมกันรณรงค์เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสเฉลิมพระ ชนมพรรษา 86 พรรษา อาทิ ชุมชนร่มเกล้า, ชุมชนหัวตะเข้,ชุมชนบางพลัด, ชุมชนหลักสี่ ฯลฯ ”
ข้อมูลเพิ่มเติมงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ติดต่อ 02-424-4616-17
ข้อมูลเพิ่มเติมด้านการสำรวจ ติดต่อ 02-350-3500 ต่อ 1527
ที่มา : http://www.happyreading.in.th/news/detail.php?id=404