"อังคาร จันทาทิพย์"คว้ารางวัลซีไรต์ประจำปี 2556 จากผลงานรวมบทกวี"หัวใจห้องที่ห้า" กรรมการชี้โดดเด่นพลังความคิด-ภาษา เนื้อหาจำลองวิวัฒนาการของมนุษย์
เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะกรรมการจัดงานรางวัลซีไรต์ พร้อมด้วยคณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายเจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย รศ.ทวีศักดิ์ ปิ่นทอง นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ผศ.ดร.ธเนศ เวศร์ภาดา นางนรีภพ จิระโพธิรัตน์ สวัสดิรักษ์ ดร.พิเชฐ แสงทอง และนายสถาพร ศรีสัจจัง ร่วมกันแถลงข่าวประกาศผลรางวัลซีไรต์ประจำปี 2556 โดยปีนี้รางวัลเป็นของหนังสือรวมบทกวี หัวใจห้องที่ห้า ฉบับปรับปรุง ของนายอังคาร จันทาทิพย์
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า รวมบทกวีเล่มนี้โดดเด่นทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบการประพันธ์ โดยสร้างภาพจำลองวิวัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงสังคมร่วมสมัย กล่าวถึงสังคมเมือง ที่ประกอบด้วยผู้คนที่หลากหลาย ทั้งคนไร้บ้าน คนพลัดถิ่น คนกลุ่มน้อย โดยเชื่อมโยงเรื่องเล่าในอดีตกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน นำเสนอในลักษณะของการปะทะสังสรรค์ท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม กวีใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ที่หลากหลายและมีลีลาเฉพาะตัว
ขณะที่นายเจนกล่าวว่า หัวใจห้องที่ห้า คือหัวใจแห่งการเดินทางเพื่อเสาะหารากเหง้าธรรมชาติ ความรักความอาทร และสันติสุข
ด้าน รศ.ทวีศักดิ์เห็นว่า รวมบทกวีเล่มนี้มีพลังทั้งความคิดและภาษา โดยในแง่ภาษา นายอังคารเล่นคำเล่นสัมผัสแพรวพราว แม้จะใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ดั้งเดิมแต่ก็ไม่รู้สึกว่าซ้ำซากแต่อย่างใด
ด้าน ดร.พิเชฐกล่าวว่า ผลงานเล่มนี้แสดงให้เห็นความพยายามของกวีรุ่นใหม่ที่พยายามเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับขนบวรรณศิลป์ของไทย แม้นายอังคารจะใช้ฉันทลักษณ์ที่คนอ่านคุ้นเคย แต่ก็พยายามสร้างเสียงและจังหวะเฉพาะตัวที่อ่านแล้วแม้ไม่คุ้นหู แต่เหมาะกับทั้งการอ่านออกเสียงและอ่านในใจ
ส่วน รศ.ดร.ตรีศิลป์กล่าวว่า การตัดสินมีประเด็นถกเถียงกันมากในเรื่องการใช้ฉันทลักษณ์ของกวี ที่แม้จะดำเนินรอยตามขนบกวีไทย แต่ก็มีจังหวะและเสียงที่เป็นตัวของตัวเองสูง เช่น จังหวะที่ไม่สม่ำเสมอ การฉีกคำ กรรมการถกเถียงกันว่าลักษณะเช่นนี้คือความจงใจ หรือไม่รู้ตัว สุดท้ายก็เห็นว่านี่คือน้ำเสียงของยุคสมัยที่กวีต้องการถ่ายทอด
ด้านนายอังคาร จันทาทิพย์ ให้สัมภาษณ์ มติชน ว่า รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติในครั้งนี้ เพราะถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่ว่าเมื่อเราทำอะไรด้วยความรักและความทุ่มเทอย่างจริงจังเป็นเวลานาน ก็จะได้รับสิ่งดีๆ ตอบแทน
รางวัลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ การมุ่งมั่นทุ่มเททำงานมาโดยตลอด พยายามไม่ย่ำอยู่กับที่ พยายามหากลวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ด้วยการค้นคว้า คิดเขียนตลอด ผมรู้สึกว่าเนื้อหาหรือโครงสร้างของหัวใจห้องที่ 5 ก็เข้มแข็งพอสมควร เป็นงานที่ดีในระดับที่ผมพอใจ ผมทำเต็มที่และเชื่อมั่นเรื่องความหลากหลายของประเด็น เนื้อหา และวิธีคิด เป็นการประกอบจิ๊กซอว์ความหลากหลายของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันให้เห็นเป็นภาพใหญ่ โดยแต่ละเรื่องคือแต่ละเคส ให้เห็นภาพรวมชัดขึ้นว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในสังคม นายอังคารกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การตัดสินครั้งนี้ถือเป็นเอกฉันท์ โดยคะแนนของ หัวใจห้องที่ห้า ทิ้งห่างจากเล่มอื่นอยู่พอสมควร
ทั้งนี้ นายอังคาร จันทาทิพย์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ.2517 อายุ 39 ปี ที่ อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น เริ่มเขียนบทกวีมาตั้งแต่เรียนมัธยม จบปริญญาตรีจากคณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง เป็นสมาชิก กลุ่มกวีหน้ารามฯ โดยเขียนบทกวีอย่างสม่ำเสมอ และมีผลงานโดดเด่นต่อเนื่อง โดยมีผลงานกวีนิพนธ์หลายเล่ม ได้แก่ คนรักของความเศร้า, วิมานลงแดง (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2545), ที่ที่เรายืนอยู่ (เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ 2550), หนทางและที่พักพิง (รางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2553) และล่าสุด หัวใจห้องที่ห้า ขณะที่บทกวี ความตายของสันติสุข ของเขาก็ได้รับรางวัลกวีนิพนธ์ยอดเยี่ยมรางวัลนายอินทร์ อวอร์ด ปี 2554
ที่มา : http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1378538880&grpid=03&catid=&subcatid=
http://www.krobkruakao.com
เข้าชม : 1826
|