เมื่อวันที่ 16 ก.ค.นายอมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงการดำเนิน 9 พันธกิจ ของ กทม. ในการเป็นเมืองหนังสือโลกปี 2556 ว่า หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญคือโครงการจัดตั้งหอสมุดเมือง(City Library) ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ได้อนุมัติให้ กทม. เช่าอาคารบริเวณสี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน เพื่อจัดตั้งหอสมุดเมือง ในระยะเวลา 30 ปี
อัตราค่าเช่าประมาณปีละ 24 ล้านบาท ซึ่งอาคารดังกล่าวมี 3 ชั้น พื้นที่ใช้สอยประมาณ 3,000 ตารางเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาการออกแบบความเหมาะสมของพื้นที่ จะใช้เวลาออกแบบประมาณ 6 เดือน และจะก่อสร้างประมาณ 1 ปีจึงแล้วเสร็จ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งก่อสร้าง การปรับปรุงพื้นที่และตกแต่งภายในประมาณ 200 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ กทม. ได้เสนอยูเนสโก จะจัดตั้งศาลาว่าการ กทม. 1 เสาชิงช้า เป็นหอสมุดเมือง
แต่เนื่องจากยังไม่มีกำหนดจะย้ายศาลาว่าการ กทม. 1 ไปยัง ศาลาว่าการ กทม. 2 ดินแดง จึงต้องเช่าพื้นที่อาคารดังกล่าวเพื่อปรับปรุงเป็นหอสมุดเมืองแทน หากดำเนินการแล้วเสร็จจะถือเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งของเมือง เพราะตั้งอยู่บนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอยู่แล้ว จึงมีแนวคิดที่จะเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และ กทม. จะเป็นผู้บริหารจัดการเอง เพราะเป็นสถานที่ที่ไม่ก่อรายได้ กทม.ต้องการให้บริการฟรีแก่ประชาชน โดยหวังว่าจะทำให้เข้าถึงการอ่านมากขึ้น
ด้าน น.ส.ปราณี สัตยประกอบ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กล่าวถึงกรณีที่มีประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ การจัดกิจกรรมเมืองหนังสือโลก ภายใต้สโลแกน "อ่านกันสนั่นเมือง" ว่า สโลแกนดังกล่าว ต้องการสร้างความหวือหวาให้ประชาชนจดจำ อ่านกันสนั่นเมือง หมายถึง การอ่านกันทั้งเมือง ส่วนงบประมาณกว่า 1,200 ล้านบาท ก็ไม่ใช่เงินของ กทม.
ทั้งหมด เพราะรวบรวมมาจากภาคีเครือข่ายกว่า 89 ภาคี จึงทำสรุปยอดเงินรวมทั้งโครงการเสนอต่อยูเนสโก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อมทั้งการดำเนินงาน เครือข่ายและเงินทุน ซึ่งเหล่าภาคีจะร่วมกันทำงานเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอ่าน เพราะ กทม. ในฐานะเมือง ไม่สามารถทำเองได้ทุกเรื่อง แต่เป็นการร่วมกันของภาคี..
ข่าวจากเดลินิวส์ ออนไลน์
|