วันแม่แห่งชาติ หรือ วันแม่ ของประเทศไทย ตรงกับวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ประวัติความเป็นมา "วันแม่แห่งชาติ"
ประเทศไทยกำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2519 เป็น "วันแม่แห่งชาติ" เป็นปีแรก โดยก่อนหน้านั้น เคยมีการใช้วันที่ 10 มีนาคม, 15 เมษายน และ 4 ตุลาคม
งาน "วันแม่แห่งชาติ" ถูกจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2486 ที่ สวนอัมพร โดยกระทรวงสาธารณสุข แต่ในช่วงนั้นเกิด สงครามโลกครั้งที่ 2 งานวันแม่ในปีต่อ ๆ มาจึงต้องงดไป แต่เมื่อสงครามสงบลง หลายหน่วยงานได้พยายามจัดให้มีวันแม่ขึ้นมาอีกครั้ง และมีการเปลี่ยนกำหนดวันแม่ไปหลายครั้ง
ต่อมากำหนดให้วันที่ 15 เม.ย.ของทุก ๆ ปี เป็นวันแม่แห่งชาติตามมติของคณะรัฐมนตรี โดยเริ่มจัดตั้งแต่ พ.ศ.2493 แต่ก็ต้องหยุดลงอีกในหลายปีต่อมา เนื่องจากกระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบไป ส่งผลให้สภาวัฒนธรรมแห่งชาติซึ่งรับหน้าที่จัดงานวันแม่ขาดผู้สนับสนุน
ต่อมาสมาคมครูคาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้จัดงานวันแม่ขึ้นอีกครั้ง ในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2515 แต่จัดได้เพียงปีเดียวเท่านั้น
จนกระทั่งในปี พ.ศ.2519 คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จึงได้กำหนดวันแม่ขึ้นใหม่ให้เป็นวันที่แน่นอน โดยถือเอาวันเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็น "วันแม่แห่งชาติ"
ดอกไม้สัญลักษณ์ประจำวันแม่ คือ "ดอกมะลิ"
"มะลิ" ถูกใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณะประจำวันแม่ ด้วยกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ และเป็นดอกไม้ที่มีสีขาว เปรียบได้กับความรักบริสุทธิ์ที่แม่มีต่อลูก
คนไทยนิยมนำดอกมะลิมาร้อยเป็นมาลัยเพื่อบูชาพระ ด้วยความที่มีดอกสีขาวบริสุทธิ์ เปรียบเสมือนความรักอันบริสุทธิ์ที่ปราศจากข้อแม้และเงื่อนไข
ขณะที่ มะลิมีกลิ่นหอมที่ยาวนาน อีกทั้งยังออกดอกได้ตลอดทั้งปี เปรียบได้กับความห่วงใยของแม่ที่มีต่อลูกไม่มีวันเสื่อมคลาย
สำหรับปี 2566 นี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน คำขวัญวันแม่แห่งชาติ 2566
"รักของแม่หนักแน่นกว่าหินผา และอ่อนนุ่มเกินกว่าผืนผ้าไหม อบอุ่นอ่อนโยนกว่าสิ่งใด ลูกทำดีด้วยใจประกาศรัก"
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.thaipbs.or.th/news/content/330297