[x] ปิดหน้าต่างนี้
 



 
                   
เมืองผู้นำยางพารา เทิดรัษฎานุประดิษฐ์ เมืองมิตรวัฒนธรรม หมูย่าง ติ่มซำรสเลิศ เปิดประตูสู่อันดามัน สวรรค์นักท่องเที่ยว
 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
๔ พฤษภาคม วันฉัตรมงคล

อังคาร ที่ 3 เดือน พฤษภาคม พ.ศ.2565


 

ความหมายของวันฉัตรมงคล

          วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก 

ความสำคัญของวันฉัตรมงคล

          วันฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 และดำรงพระอิสริยยศเป็น “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” 

          ดังนั้น รัฐบาลไทยและพสกนิกรจึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตร หรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” 

          ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้ 

ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

          การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไท ว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย 

          จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น 

ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล

          ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง 

          จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้าแผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย 

          ดังนั้น จึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพระพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก 

          ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษก ตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน 

พระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน

               ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงาน 3 วัน นั่นคือ
          วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ประกอบด้วย สรงพระมุรธาภิเษก ณ ชาลาพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ทรงรับน้ำอภิเษก ณ พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ทรงรับเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ณ พระที่นั่งภัทรบิฐ เลี้ยงพระ พระสงฆ์ดับเทียนชัย ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
          วันที่ 5 พฤษภาคม เป็นพระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย สถาปนาพระฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศ์ และเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราสถลมารค จากพระที่นั่งอาภรณ์ภิโมกข์ปราสาท วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
          วันที่ 6 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท ให้ประชาชนเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เสด็จออกให้ทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท

กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันฉัตรมงคล

  1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
  2. ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนา เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล
  3. น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยโดยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน
     
          เมื่อวันฉัตรมงคลเวียนมาบรรจบครบรอบอีกหนึ่งครา ในวันที่ 4 พฤษภาคม พสกนิกรชาวไทยทั้งหลายจึงควรรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอันมีคุณอนันต์แก่ปวงชนชาวไทยอย่างหาที่สุดมิได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://hilight.kapook.com/view/188122

เชิญร่วมลงนามถวายพระพรออนไลน์





 


เข้าชม : 263


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญ 10 / ธ.ค. / 2567
      ขอเชิญร่วมลงนามน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณออนไลน์เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (วันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี) 2 / ธ.ค. / 2567
      “วันสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า (วันวชิราวุธ) 25 พฤศจิกายน” 25 / พ.ย. / 2567
      ประเพณีวันลอยกระทง 15 / พ.ย. / 2567
      วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ของทุกปี 22 / ต.ค. / 2567


 
ห้องสมุดประชาชนจังหวัดตรัง  
ถนนพระรามหก  ตำบลทับเที่ยง  อำเภอเมือง    จังหวัดตรัง  075213051
libtrang075@gmail.com

Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05