ประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชา วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วันวิสาขบูชา มีความสำคัญในทางพระพุทธศาสนาอย่างยิ่งโดยเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน เกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ทั้ง 3 คราวในวันนี้ โดยคำว่า “วิสาขบูชา” แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ซึ่งนับเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เหตุการณ์บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ทั้งหมด แม้จะมีระยะเวลาห่างกันนานหลายสิบปีก็ตาม และเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก
ประวัติวันวิสาขบูชาในประเทศไทย
ได้ปรากฏตามหลักฐานว่าครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีเมื่อประมาณพุทธศักราช ๔๒๐ ซึ่งสมัยนั้นสุโขทัยกับประเทศลังกาใกล้ชิดกันมากโดยเฉพาะความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนา โดยพระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ท่านทรงประกอบพิธีวิสาขบูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาอย่างยิ่งใหญ่ และหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น กษัตริย์แห่งกรุงลังกาองค์ถัดมาก็ได้ถือประเพณีปฎิบัติสืบต่อกันมา
และเมื่อถึงวันวิสาขบูชาชาวสุโขทัยทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลจะพร้อมใจกันประดับตกแต่งพระนครด้วยเครื่องหอมและดอกไม้ จุดโคมประทีป ขณะที่พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงค์จะทรงศีล บำเพ็ญพระราชกุศล และประกอบพิธีทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน
สรุปวันวิสาชบูชาหมายถึง
1. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ได้รับการถวายพระนามว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมปรารถนา”
2. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี เจ้าชายสิทธัตถะก็ได้ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
3. วันวิสาขบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน หลังจากตรัสรู้แล้วท่านใช้เวลา 45 ปีทรงแสดงธรรม จนเมื่อมีพระชนมายุได้ 80 พรรษาพระองค์ทรงเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ ป่าสาละ โดยพระองค์ทรงประทานโอวาทครั้งสุดท้ายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายอันว่าสังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด”
พิธีการสำคัญในวันวิสาขบูชา
1. พิธีหลวง กล่าวคือ เป็นพระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงค์
2. พิธีราษฎร์ กล่าวคือ พิธีของประชาชนทั่วไป
3. พิธีของพระสงฆ์ กล่าวคือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ
กิจกรรมในวันวิสาขบูชา
1. ตักบาตร กรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับและเจ้ากรรมนายเวร
2. ทำบุญถวายภัตตาหาร ถวายสังฆทานที่วัดใกล้บ้าน พร้อมตั้งใจฟังธรรมเทศนา
3. สร้างบุญกุศลด้วยการปล่อยนกปล่อยปลา
4. ร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ
5. ร่วมพิธีเวียนเทียนรอบอุโบสถในเวลาค่ำ
เข้าชม : 559
|