[x] ปิดหน้าต่างนี้
 




 

ประวัติความเป็นมา


ประวัติศาสตร์ชุมชน
     เกาะสุกรเมื่อครั้งอดีตไม่ได้อยู่ในเขตการปกครองของเมืองตรัง แต่อยู่ในเขตการปกครองของเมืองปะลันด้า หรืออำเภอปะเหลียนในปัจจุบัน เมืองปะลันด้าขึ้นกับเมืองพัทลุง และเมืองปะลันด้ามีพระยาปกครองจนถึงสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิสรภักดี คอซิมบี้ ณ ระนอง เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด(ข้าหลวงในอดีต) ได้แยกเมืองปะลันด้าออกจากพัทลุงให้เหมาะสมกับภูมิประเทศคือ อยู่ฝั่งเดียวกับตรัง ต้องขึ้นกับตรังจึงเหมาะสมกว่า และได้ตั้งปะลันด้าเป็นเมืองหน้าด่านขึ้น มีท่าเทียบเรือสำเภา ณ บ้านหยงสตาร์ในบริเวณด่านศุลกากรในปัจจุบัน และขอเท้าความเดิมอีกนิดว่า ในอดีตพระเจ้าตากสินมหาราชเคยมาตรัง ตั้งค่ายทำศึกรบกับแขกที่ตำบลลิพังใกล้ๆกับหัวเขาโต๊ะร่วงในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นคนบนเกาะสุกรนี้มีพื้นเพเดิมมาจากหลายจังหวัด คือ คนเมืองตรัง กระบี่ พัทลุง สงขลา (สิโฆรา) สตูล (สะโตย) รวมทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย (ชวา, สุมาตรา) ส่วนเชื้อสายของผู้เล่าในอดีตนั้นเป็นชาวอินโดนีเซีย (ชวา+สยาม) มาตั้งรกรากในสยามคือ สงขลา ซึ่งเป็นฝ่ายปู่ และฝ่ายย่าของปู่เป็นชาวเมืองกระบี่ (บ้านปากหลาด) ซึ่งหนีจากการถูกเกณฑ์ทหารสมัยปลายรัชกาลที่ ๑ มาอยู่ที่ตรังและตาของปู่เป็นชาวเมืองตรังที่เกิดในตระกูลเสียมไหม ได้มาอยู่ที่เกาะสุกร ส่วนพ่อของปู่นั้นเป็นชาวสงขลาและเป็นบรมครูหนังตลุง สมัยนั้นมีลูกศิษย์ทั่วสงขลา เช่น หนังหิ้น (อาจารย์หนังกั้นทองหล่อ) ส่วนลูกหลานที่พอรู้จักคือ หนังอิ่มเท่ง หนังหญิงศรีระบาย พ่อของปู่ชื่อนางเรือง ย้อยช่วง (ช่วยช่วงในปัจจุบัน)
     คนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ไม่ได้มาอยู่อย่างถาวรคือเป็นชนเร่ร่อน เพื่อหาผลจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันยาง สัตว์ทะเล ไม้ สัตว์บกเช่น กวาง หมูป่า ควาญ(อีเก้ง) และแวะจอดเรือเพื่อมาหาน้ำดื่ม ซึ่งบนเกาะมีน้ำจืดอุดมสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน ชนกลุ่มสองมาตั้งรกรากถาวรเป็นคนเชื้อสายพัทลุง ชื่อโต๊ะสดัน กับโต๊ะไหม มีลูกเต็มเกาะคือตระกูล เจ๊ะสา และ เทศนอก ถ้าผู้เล่าจะเขียนในรายละเอียดต้องใช้เวลามากพอสมควร จึงเล่าพอสังเขปให้รู้เรื่องเท่านั้น

การเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชนกะสุกร
     เกาะสุกรเดิมมี 5 หมู่บ้าน (ข้อมูลจาก อบต.ปัจจุบัน)คือ ม.1 เรียกบ้านเสียมไหม  ม.2 เรียกบ้านแหลม  ม.3 เรียกบ้านทุ่ง  ม.4 ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้านเสียมไหม  ม.5 เรียกบ้านแหลมท่าคลอง ต่อมามีการยุบหมู่ที่ 5 เหลือ 4 หมู่บ้าน แต่นางกะยะ  เดชอรัญ อายุ 68 ปี บอกว่ามี 2 หมู่บ้านคือ บ้านแหลมและบ้านทุ่ง ฝ่ายนายสมบูรณ์  เทศนอก อายุ 76 ปี กลับบอกว่าเดิมไม่มีการจัดตั้งแบ่งเป็นหมู่บ้าน เพราะมีคนอาศัยน้อยมาก กล่าวถึงประวัติความเป็นมาจากอดีตจนถึงปัจจุบันของชุมชนเกาะสุกรหรือชุมชน เกาะหมูจากการบอกเล่าของคนในพื้นที่มีดังต่อไปนี้

จากการให้ข้อมูลของ นายกุศลเดช ช่วยช่วง อายุ 53 ปี ได้เล่าถึงความเป็นมาของชุมชนเกาะสุกรว่า...
     “ เกาะสุกรเมื่อครั้งอดีตไม่ได้อยู่ในการปกครองของเมืองตรัง แต่อยู่ในการปกครองของเมือง ปะลันด้า และเมืองปะลันด้ามีพระยาปกครองจนถึงสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิสรภักดี คอซิมบี้ ณ ระนอง เป็นผู้ว่าราชการ ได้แยกเมืองปะลันด้าออกจากพัทลุง คือ อยู่ฝั่งเดียวกับตรัง ต้องขึ้นกับตรังจึงเหมาะสมกว่า มีท่าเทียบเรือสำเภา ณ บ้านหยงสตาร์ในบริเวณด่านศุลกากรในปัจจุบัน ในอดีตพระเจ้าตากสินมหาราชเคยเสด็จมาตรัง ตั้งค่ายทำศึกรบกับแขกที่ตำบลลิพังใกล้ๆกับหัวเขาโต๊ะร่วงในปัจจุบัน เพราะฉะนั้นคนบนเกาะสุกร มีพื้นเพมาจากหลายจังหวัด คือ คนเมืองตรัง กระบี่ พัทลุง สงขลา(สิโฆรา) สตูล(สะโตย) รวมทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ชวา สุมาตรา ส่วนเชื้อสายของผู้เล่าในอดีตนั้นเป็นชาวอินโดนีเซีย (ชวา+สยาม)มาตั้งรกรากในสยามคือ สงขลา ซึ่งเป็นฝ่ายปู่และฝ่ายย่าของปู่เป็นชาวเมืองกระบี่ (บ้านปากหลาด) ซึ่งหนีการถูกเกณฑ์มาเป็นทหาร  สมัยรัชกาลที่ 1 มาอยู่ที่ตรังและตาของปู่เป็นชาวเมืองตรังที่เกิดในตระกูลเสียมไหม ได้มาอยู่ที่เกาะสุกร ส่วนพ่อของปู่นั้นเป็นชาวสงขลาและเป็นบรมครูหนังตะลุง สมัยนั้นมีศิษย์ทั่วสงขลา เช่น หนังหิ้น (อาจารย์หนังสั้นทองหล่อ)ส่วนลูกหลานที่พอรู้จัก คือ หนังอิ่มเท่ง หนังหญิงศรีระบาย พ่อของปู่ชื่อนายเรือง ย้อยช่วง (ช่วยช่วง ในปัจจุบัน) ชนคนกลุ่มแรกที่เข้ามาอยู่ไม่ได้อยู่อย่างถาวร คือ เป็นชนเรร่อน เพื่อหาผลผลิตจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันยาง สัตว์ทะเล ไม้ สัตว์บก เช่น กวาง หมู่ป่า ควาญ(อีเก้ง) และแวะจอดเรือเพื่อมาหาน้ำดื่ม ซางบนเกาะมีน้ำจืดอุดมสมบูรณ์ มาจนถึงปัจจุบัน ชนกลุ่มสองมาตั้งรกรากถาวร เป็นเชื้อสายพัทลุง ชื่อ โต๊ะสดัน สมโต๊ะไหม มีลูกเต็มเกาะ คือตระกูลเจ๊ะสา และ เทศนอก ”
     จากการให้ข้อมูลของนาย กุศลเดช ช่วยช่วง สรุปได้ว่าคนกลุ่มแรกที่ที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในเกาะสุกร คือ ตระกูลเสียมไหม ซึ่งมิได้มีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร และกลุ่มคนที่สองที่เข้ามาสร้างถิ่นฐานอย่างถาวร ได้แก่ คนในตระกูลเจ๊ะสาและเทศนอก ซึ่งมาจากเชื้อสายพัทลุง
ขณะที่ข้อมูลของนายบุญมี  เดชอรัญ และนายสัน บ่นหา ได้บอกว่า คนแรกที่เข้ามาเป็นคนหยงสตาร์ ชื่อ โต๊ะหยัง แต่ไม่ทราบว่า โต๊ะหยังเป็นคนตระกูลใด โดยนายบุญมีได้เล่าว่า
     “  ชนรุ่นแรกเป็นชาวหยงสตาร์มาอยู่บุกป่าถางพง มาอยู่และได้ลูกหลานสืบต่อมา มีเทศอยู่เรือลอยมาติดเกาะหมูมาได้กับคนเกาะหมู มีอาชีพค้าควาย ทวดโต๊ะหยัง (คนหยงสตาร์) เป็นกำนันคนแรกของเกาะสุกร” ซึ่งเป็นขอมูลเดียวกันกับที่ นายสัน บ่นหา อายุ 90 ปี บ้านเลขที่ 40 หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะสุกร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
     “ โต๊ะหยังกับโต๊ะหวา มีลูกสาวอยู่หนึ่งคนมาทำใต้ทำยางทำมาหากินอยู่บนเกาะ อยู่มาวันหนึ่งมีโจรมาฉุดลูกสาวของโต๊ะหยัง โจรมาด้วยกัน 5 คน แต่โต๊ะหยังว่าพวกเจ้ามาทำอะไร ฝ่ายโจรว่าจะมาเอาลูกสาวของโต๊ะ แต่โต๊ะหยังว่า อย่าเอาลูกสาวกูไปเลยพวกโจรต้องการลูกสาวของโต๊ะหยังอย่างเดียว ฝ่ายโต๊ะหยังก็ไม่ยอมโต๊ะหยังจึงว่าคาถา เรียกเสือมา โต๊ะหยังพูดไม่ค่อยชัดจึงตะโกนว่า โอ้อ้ายลายฝ่ายโจรเห็นดังนั้นจึงตกใจโต๊ะหยังที่เรียกเสือมาจึงวิ่งหนีกันลง เรือกลับไปฝั่งอื่น และโต๊ะหยังโต๊ะหวาและลูกสาวก็อยู่บนเกาะนี้ตั้งแต่นั้นมา”  
     ขณะที่ นายสมบูรณ์ เทศนอก อายุ 76 ปีอยู่บ้านเลขที่ 59 หมู่ที่ 2 ต.เกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ให้ข้อมูลว่าตระกูลเทศนอกได้เข้ามาอยู่บนเกาะสุกรก่อนตระกูลอื่นๆ
     “ เมื่อก่อนไม่มีการจัดตั้งเป็นหมู่บ้าน เพราะมีคนอาศัยอยู่น้อยบนเกาะนี้ สาเหตุการเพิ่มของประชากรบนเกาะนี้มาจากการสืบสายจากต้นตระกูล เทศนอกก่อนตระกูลอื่นๆ นายสมบูรณ์บอกตนเองได้ฟังมาจากประสบการณ์ของตนเองเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนมีเทศผิวดำ ชื่อ เส็น บรรทุกควายประมาณ 100 ตัว โดยเรือขนาดใหญ่มากไม่ทราบว่าบรรทุกไปที่ไหน และจากการไม่รู้เส้นทางในการเดินเรือ เลยไปชนหอที่ทะเลหรือสันทรายที่โผล่กลางทะเล (หอที่เทศผิวดำแล่นเรือไปชนเลยตั้งชื่อหอนี้ว่า หอเทศ) หลังจากนั้นก็ทำให้เรือล่มจมหายไป ผู้คนที่อาศัยอยู่บนเรือก็ตายหมดเป็นจำนวนมากเหลือแต่ชายเส็นคนเดียวแกลอย ตัวอยู่ในทะเล 7 วัน 7 คืน และได้ลอดไปติดที่ละงูได้รักษาตัวอยู่ที่นั้นต่อมาก็ได้แต่งงานกับแกปุกลูก ของโต๊ะเพียงซึ่งเป็นคนเกาะหมูและได้เพิ่มขยายประชากรของคนบนเกาะนี้...”
ส่วนข้อมูลที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับข้อมูลอื่นๆคือ ข้อมูลของนายเส็นและนางโต้ม บ่นหา ที่บอกเล่าเกี่ยวกับความเป็นมาของคนในเกาะสุกรว่า  
     “ ก่อนที่เกาะสุกรจะมีความเจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมากมายดั่งปัจจุบันผู้ที่มาอาศัยเป็นครอบครัวแรก คือ ครอบครัวของ  นายเดนนุ้ย ณ สงขลา ซึ่งเป็นต้นตระกูลของของนามสกุลไชยมล ที่หนีคดีมาตั้งถิ่นฐานที่เกาะสุกรได้ปลูกบ้านอยู่ริมชายหาดเสียมไหม ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า หาดทรายทองเป็นบ้านหลังแรกของบ้านหาดทรายทอง ต่อมาเขาก็ได้มีเมียเป็นคนที่มาจากที่อื่นซึ่งมาทำกินอยู่บนเกาะนี้ได้มีลูก มีหลานและได้สร้างบ้านต่อๆกันมา ปัจจุบันก็มีนางโต้ม ไชยมลที่เป็นลูกหลานในปัจจุบัน ก่อนที่โรงเรียนหาดทรายทองจะมีชื่อนี้ดังปัจจุบันแต่ก่อนมีชื่อว่า โรงเรียนบ้านเสียมไหม”    
ทั้งนี้กล่าวโดยสรุปได้ว่าชุมชนเกาะสุกรได้มีความเป็นมาของต้นตระกูลหรือตระกูลใหญ่ๆ ดังนี้

1.ต้นตระกูลเทศนอก

    ต้นตระกูลชื่อ นายเส็น เป็นคนเทศ (แขกปากีสถาน) ได้เดินทางกับเรือเทศ (เรือบรรทุกควาย)มาจากปีนัง ไปบรรทุกควายที่ท่าเทียบเรือเหล็กที่ อ.กันตัง เมื่อเดินทางกลับปีนังได้ถูกพายุสลาตันพัดจนเรือล่มกลางทะเลไต๋กงเรือ ลูกเรือเสียชีวิต ควายประมาณ 200 กว่าตัวตายหมด เหลือเฉพาะนายเส็นลอยคออยู่กลางทะเล 15 วัน 15 คืน กินลูกพังกาที่ลอยน้ำเป็นอาการจนฟันกลายเป็นสีแดง บังเอิญเป็นลมหัวนอนพัดเข้ามาติดบริเวณทิศใต้ของเกาะสุกร (ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่าหอเทศ) ชาวบ้านออกไปหาเหยื่อลอเนาะสำหรับวางเบ็ด วางปลาลูตัน ลูดู ไปพบพานายเส็นมาพักรักษาตัวให้กินข้าวต้ม 15 วันเพื่อทดแทนที่อดข้าว เมื่อครบ 15 วันจึงให้กินข้าวสวย
     นางปุก แฟนนายเส็น เดิมเป็นคนบ้านบางค้างคาวได้ย้ายมาอยู่บ้านนาโต๊ะเสี๊ยะ ต.บ้านนา อ.ปะเหลียนในปัจจุบัน หลังจากนั้นได้อพยพครอบครัวมาอยู่บริเวณโรงไฟฟ้า ปัจจุบันได้แต่งงานอยู่กินกับนายเส็น จากนั้นมีนายบ่าวซึ่งเป็นชาวพม่าด้ายมาอยู่กับนายเส็น พอทางการประกาศแต่ตั้งนามสกุล นายเส็นได้ไปแจ้งความที่ว่าการอำเภอ ทางอำเภอสอบประวัตินายเส็น นายเส็นได้เล่าให้ฟังเมื่อทางอำเภอสอบประวัติ เสร็จเลยตั้งนามสกุลให้ว่า เทศนอก พร้อมทั้งนาบ่าวพม่า ปัจจุบันนามสกุลเทศนอกคือนามสกุลใหญ่ในเกาะสุกร
ผู้ให้ข้อมูล นายโหย้ย เทศนอก ได้รับการบอกเล่าจากนายบากาต เทศนอก ซึ่งเล่าสืบต่อกันมา นายโหย้ยเป็นหลานรุ่นที่ 4 เกิดปี พ.ศ. 2478 ปัจจุบันอายุ 79 ปี ที่อยู่ปัจจุบัน 107/1 ม.4 ต.เกาะสุกร ในเขตพื้นที่ นสล.อยู่มาประมาณ 27 ปี


2.ต้นตระกูลเสียมไหม
     ต้นตระกูล ชื่อ นายอี เสียมไหม พ่อชื่อนายแดง (ยังไม่ทราบนามสกุล) นายแดงมีน้องชายชื่อ นายหีม ซึ่งหลังจากนายแดงได้เสียชีวิต นายหีมได้ย้ายไปสร้างครอบครัวอยู่ที่บ้านสุโส๊ะ อ.ปะเหลียน นายอี ได้ไปแจ้งขอนามสกุลโดยใช้ตามชื่อหมู่บ้านที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับนายหีม (น้องชาย) ปัจจุบันตระกูลเสียมไหมเป็นตระกูลใหญ่ในเกาะสุกร และ ต.สุโส๊ะ อ.ปะเหลียน
ผู้ให้ข้อมูล นายสะปี เสียมไหม เกิดปี 2468


3.ต้นตระกูลบ่นหา

     ต้นตระกูลชื่อนายเกบ ตอนไปแจ้งขอนามสกุลที่อำเภอ นายอำเภอถามว่าจะใช้นามสกุลอะไร นายเกบก็ไม่รู้ว่าจะใช้นามสกุลอะไรได้แต่นั่งบ่นว่าจะใช้นามสกุลอะไรดีหา อยู่หลายครั้ง เมื่อนายอำเภอได้ยินนายเกบนั่งบ่นอยู่หลายครั้งเลยตั้งตามนามสกุลให้ว่าบ่น หา
ผู้ให้ข้อมูล นายเส็น บ่นหา ปัจจุบันอายุ 88 ปี
                
     การเริ่มประกาศใช้นามสกุลเกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชการที่ 5 หลังจากการตั้งถิ่นฐานของคนบนเกาะสุกร โดยนามสกุลที่ใช้กันเป็นนามสกุลที่อำเภอในสมัยนั้นตั้งให้



เข้าชม : 3500
 
 
กศน.ตำบล เกาะสุกร
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอปะเหลียน
ที่อยู่ หมู่ที่ 3 บ้านทุ่ง ตำบลเกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง.เบอร์โทร 0840520298
e-mail: pupea2527@gmail.com


Powered by MAXSITE 1.10   Modify by   นิกร เกษโกมล   Version 2.05