[x] ปิดหน้าต่างนี้
 




 

  

ข่าวประชาสัมพันธ์
พระมหากษัตริย์ไทย ในความสนใจของโลก

พฤหัสบดี ที่ 4 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2557


 ใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระองค์ท่าน เรื่อง The King of Thailandin World Focus “พระมหากษัตริย์ไทย ในความสนใจของโลก” ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทยจัดทำขึ้นเมื่อปี 2550 มาอ่านทบทวนถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน ที่ได้รับการเผยแพร่ชื่นชมจากสื่อระดับโลกด้วยความภาคภูมิใจที่เป็นหนึ่งใน 67 ล้านคนไทยที่อยู่ใต้บารมีของพระองค์ท่าน

The King of Thailand in World Focus เป็นหนังสือรวบรวมพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ตั้งแต่วันพระราชสมภพ จนถึงวันที่หนังสือพิมพ์จำหน่ายเดือนกันยายน 2550 หนังสือขนาดจัมโบ้ไซส์ หนา 260 หน้า บรรจุเรื่องราวทั้งหมดที่สื่อต่างประเทศสัมภาษณ์ รายงานถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่านและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในระหว่างเสด็จฯทรงเยือนต่างประเทศ ทั่วโลก ตลอดถึงพระราชกรณียกิจทั่วราชอาณาจักรไทย

วันนี้ขอยกตัวอย่าง เรื่องพระองค์ทรงขอให้สื่อมวลชนช่วยกระจายข่าวเรียกร้องให้ประชาชน อุทิศกายใจเพื่อ “สันติภาพโลก” ในระหว่างเสด็จฯทรงเยือนประเทศญี่ปุ่น ในฐานะราชอาคันตุกะของจักรพรรดิ

เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2506

หนังสือพิมพ์ไมนิจิ ชิมบุน รายงานข่าว เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2506 โปรยข่าวนำว่า “พระเจ้าอยู่หัวไทย ตรัสถึงประเทศญี่ปุ่นว่า ประทับใจในวัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่และวิวัฒนาการเทคโนโลยีสมัยใหม่”

หนังสือพิมพ์ไมนิจิ ชิมบุน รายงานว่า กษัตริย์ภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯทรงเยือนเมืองเกียวโตและเมืองนาโกยา โดยรถไฟขบวนพิเศษเมื่อวาน ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับมาถึงกรุงโตเกียว ในเวลาบ่าย 03.30 น.วันนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จัดเลี้ยงพระกระยาหารค่ำรับรองพระบรมวงศานุวงศ์จักรพรรดิ ณ ภัตตาคาร ตาคานาวะ โกริงคากุ ก่อนงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ พระองค์พระราชทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนต่างประเทศและสื่อมวลชนญี่ปุ่นที่ทำเนียบฯรับรองมินาโตกุ-โตเกียว เป็นเวลา 20 นาที ในระหว่างการสัมภาษณ์ พระองค์ตรัสว่า “ประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นมีขนบธรรมเนียมปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาเหมือนกัน ดังนั้นใคร่ขอให้เราได้ร่วมมือกันประสานมือกันเพื่อสันติภาพโลก” หนังสือพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นยกย่องว่ากษัตริย์หนุ่มพระองค์นี้ มีไหวพริบดีมากที่นำคำว่า“สันติภาพโลกมาตรัส สัมพันธ์กับการเสด็จฯทรงเยือนญี่ปุ่น”

หนังสือพิมพ์ ไมนิจิ ชิมบุน ให้รายละเอียดว่า กษัตริย์หนุ่มในชุดสูทสีน้ำเงินเข้ม ประทานพระหัตถ์ให้สื่อมวลชนทุกคนสัมผัสก่อนแย้มพระสรวลตรัสว่า “เอาล่ะ ทุกท่านสามารถป้อนคำถามข้าพเจ้าตามที่ท่านต้องการได้แล้ว”พระองค์ตรัสเปิดประเด็นว่า “ข้าพเจ้าประทับใจในเมืองเกียวโตมาก เมืองที่ด้านหนึ่งได้อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ไว้เป็นอย่างดี ในขณะที่อีกด้านหนึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็กำลังเจริญรุ่งเรือง ซึ่งเป็นสิ่งน่าสนใจมากคือ สวนหินในวัดเรียวอันจิในเมืองเกียวโตสวยงามเป็นพิเศษ ศิลปะญี่ปุ่นวิเศษมากที่ได้สร้างความงามเป็นรูปธรรมซ่อนเร้นไว้ เช่นในสวนหินเมื่อห้าร้อยกว่าปีก่อน สวนหินแห่งนี้ได้สร้างแรงดลใจสำหรับการแต่งเพลงใหม่ของข้าพเจ้า”

กษัตริย์ผู้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเชี่ยวชาญด้านถ่ายภาพพระองค์หนึ่งตรัสว่า “ญี่ปุ่นผลิตกล้องถ่ายรูปทั้งเลนส์และบอดี้ได้ดีมาก ข้าพเจ้าถ่ายรูปไว้หลายร้อยรูป ตลอดเวลาการเยือนญี่ปุ่นคราวนี้ มากจนนับไม่ถ้วน หวังว่าคงออกมาดี”

“ข้าพเจ้าซื้อสร้อยไข่มุกไปฝากเจ้าหญิง แต่ยังไม่รู้จะซื้ออะไรฝากเจ้าชายดี พวกท่านพอมีคำแนะนำดีๆ บ้างไหม”พระองค์ตรัสแสดงให้เห็นถึงความเอื้ออาทรของเสด็จพ่อ

ท้ายที่สุดพระองค์เรียกร้องให้สื่อมวลชนทั้งสองประเทศ (หมายถึงไทยและญี่ปุ่น) ให้ช่วยบอกประชาชนทั้งสองประเทศผ่านหนังสือพิมพ์ของท่าน “ให้ร่วมมือกันอุทิศตนเพื่อสันติภาพโลก” ในท้ายที่สุดพระองค์ท่านตรัสคำว่า “อาริกาโตะ” อย่างชัดถ้อยคำทั้งๆ ที่เพิ่งเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ไม่นาน

หนังสือพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 50 กว่าปีก่อนรายงานข่าวชื่นชมพระองค์ท่านที่ใช้ปฏิภาณไหวพริบในการประทานสัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยตรัสชื่นชมที่ประเทศญี่ปุ่นอนุรักษ์ศิลปะ วัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ ไว้ได้ดี พร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมยุคใหม่

“พระองค์ท่านตรัสว่าสวนหินในเมืองเกียวโต เป็นแรงดลใจพระองค์ในการแต่งเพลงใหม่ และนำเรื่องผลิตกล้องในประเทศญี่ปุ่นมาสัมพันธ์กับถ่ายภาพซึ่งเป็นงานอดิเรกของพระองค์ท่าน”

พระองค์นำเรื่องพุทธศาสนาที่มีรากฐานเหมือนกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่นขึ้นมาเรียกร้อง ให้คนทั้งสองประเทศอุทิศตน “เพื่อสันติภาพโลก” พระองค์ยกเรื่องสร้อยไข่มุกฝากเจ้าหญิง และขอคำแนะนำของขวัญสำหรับเจ้าชายน้อย แสดงให้เห็นความใส่ใจ ความเอื้ออาทรต่อครอบครัวของพระองค์

หนังสือเรื่อง “กษัตริย์ไทยในความสนใจของโลก” มีเรื่องราวทั้งหมดเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทั้งในประเทศและพระราชกรณียกิจที่พระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินทรงเยือนประเทศต่างๆ ทั่วโลก หนังสือเล่มนี้เป็นที่รวบรวมบทความ บทสัมภาษณ์ และรายงานพิเศษเกี่ยวกับในหลวงที่สื่อมวลชนต่างประเทศทั่วโลกได้รายงานไว้ ตลอดเวลากว่า 60 ปีที่ผ่านมา

ในฐานะสื่อมวลชนมีความภาคภูมิใจและรู้สึกเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิต ที่บทความรายงานชิ้นหนึ่ง ได้รับการบรรจุไว้ใน 104 ของหนังสือเรื่อง “พระมหากษัตริย์ไทยในความสนใจโลก” บทความชื่อว่า Thai King advise “Gentle approach” to southern violence

บทความที่ชื่อว่า “ในหลวงทรงแนะให้ใช้เมตตา ในการแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้” เรื่องนี้รายงานให้กับสำนักข่าวเอพี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547ไม่กี่วันหลังจากพี่น้องมุสลิม 85 คน เสียชีวิตในเหตุการณ์ปราบปรามการชุมนุมประท้วงที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส

หลังเหตุการณ์รุนแรง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเวลานั้นให้สัมภาษณ์ว่า ในขณะที่เข้าเฝ้าฯถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงความกังวลถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในภาคใต้ ทรงแนะนำให้ใช้ “ความเมตตาแก้ปัญหา ใช้ความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนาแก้ปัญหาความรุนแรงในภาคใต้”

บทความชิ้นนี้เขียนจากคำให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวว่า “รัฐบาลน้อมรับกระแสพระราชดำรัสที่ทรงแนะนำว่า ให้ใช้เมตตาธรรม และให้คนท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา พระองค์ทรงกังวลมาก และไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐทำร้ายประชาชนอีก” พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวกับผู้สื่อข่าว หลังจากเข้าเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

บทความซึ่งแสดงให้เห็นความที่พระองค์ท่านทรงเป็นห่วงกังวลต่อพสกนิกรของท่าน ได้รับการคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในหนังสือ “พระมหากษัตริย์ไทยในความสนใจโลก” เป็นหนึ่งในหลายร้อยชิ้นของรายงานข่าวที่สื่อมวลชนทั่วโลก ตีพิมพ์ไว้หนังสือเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคม 2557 ข้าพเจ้านายสุทิน วรรณบวร ผู้เขียนคอลัมน์ วิภาคสื่อเทศ วิเทศสื่อไทย ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ มีพระชนม์ชีพยั่งยืนนาน ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ



เข้าชม : 928


ข่าวประชาสัมพันธ์ 5 อันดับล่าสุด

      รับสมัครนักศึกษา กศน.ตำบลเกาะลิบง 31 / ต.ค. / 2565
      รับสมัครนักศึกษาใหม่ 26 / มี.ค. / 2564
      วันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้แห่งชาติ 14 มกราคม 12 / ม.ค. / 2564
      วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 5 / พ.ย. / 2563
      โครงการอบรมอาสายุวกาชาด หลักสูตรพื้นฐานยุวกาชาด 14 / ก.ค. / 2561