พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันจันทร์ที่ 28 ก.ค.2495 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ได้รับพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
ทรงมีพระเชษฐภคินี คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวิชราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2515 ขณะนั้นทรงเจริญพระชนมายุ 20 พรรษา นับเป็นกระบวนการสืบราชสันตติวงศ์ที่ชัดเจนตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ พ.ศ.2467
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท สหราชอาณาจักร
หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์ นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ ด้านการทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาได้เสด็จฯ นิวัติประเทศไทย ทรงศึกษาต่อสาขาวิชานิติศาสตร์รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
วันที่ 6 พ.ย.2521 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช วาสนมหาเถร วัดราชบพิธ เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ ถวายพระสมณนามว่า วชิราลงฺกรโณ ประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครบ 15 วัน ทรงลาผนวช
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์มาโดยตลอด เพื่อแบ่งเบาพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทั้งในการพระราชพิธีสำคัญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่เกษตรกรไทย และพระราชพิธีทางศาสนาต่างๆ
นอกจากนี้ได้โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินไปแปรพระราชฐานประทับแรมตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทย โดยทรงติดตามความก้าวหน้าด้านการชลประทาน การสร้างเขื่อนต่างๆ และพระราชทานแนวพระราชดำริให้กรมชลประทานแก้ปัญหาตามที่ชาวบ้านกราบทูล ส่งให้ราษฎรมีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างอุดมสมบูรณ์และช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝน
ด้านการแพทย์และสาธารณสุข สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงตระหนักว่าสุขภาพพลานามัยอันดีของประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างสรรค์ทรัพยากรบุคคล จึงทรงสนพระราชหฤทัยในการประกอบพระราชกณียกิจ เช่น เมื่อรัฐบาลได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช 21 แห่งทั่วประเทศ พระองค์ก็ได้ทรงพระอุตสาหะเสด็จฯ ไปทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลทุกแห่งและทรงเยี่ยมโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนให้มีอุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย
ด้านการศึกษา ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ทรงรับโรงเรียนไว้ในพระราชูปถัมภ์ พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาที่ทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิดีทัศน์ และในด้านการอุดมศึกษา พระองค์ได้ทรงพระกรุณาเสด็จฯ แทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่างๆ
ทรงจัดตั้งโครงการทุนการศึกษาพระราชทานด้วยทรงมีพระราชปณิธานในการสร้างโอกาสทางการศึกษาแก่เยาวชนไทย และในปี 2553 มีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารขึ้น โดยทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนทุนพระราชทานทุกรุ่นเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า มีอัตราสูงกว่าร้อยละ 97 โดยผู้ได้รับทุนพระราชทานไม่มีภาระผูกพันที่ต้องใช้ทุนคืน และเมื่อจบการศึกษา ทรงเปิดโอกาสให้สมัครเข้าถวายงานเป็นข้าราชบริพารในพระองค์ได้ตามความสมัครใจ
ด้านสังคมสงเคราะห์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูรทรงพระกรุณาห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาส ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา พระราชทานพระราชทรัพย์สนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด
ด้านการต่างประเทศ ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป เช่น ประเทศอิตาลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เนปาล สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา สาธารณรัฐเปรู ออสเตรเลีย สิงคโปร์ นอกจากจะมุ่งเจริญสัมพันธไมตรีแล้ว ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจการต่างๆ ที่จะทรงนำประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย เช่น เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชมกิจการทหาร ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน
ด้านเกษตรกรรม ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมกิจการด้านเกษตรกรรม เช่น เสด็จฯ แทนพระองค์ในการพระราชพิธีพืชมงคล
ด้านพระศาสนา ทรงเสด็จฯ แทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล รวมถึงการเสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานถ้วยรางวัล การทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านระดับประเทศ
ด้านการกีฬา ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ทั้งในผู้แทนพระองค์และในส่วนของพระองค์เอง เช่น พระราชทานไฟพระฤกษ์กีฬาเยาวชนแห่งชาติ พระราชทานพระราชวโรกาสให้นักกีฬาไทยเข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลนักกีฬายอดเยี่ยม
ด้านการทหาร ทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากทรงรับการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลียแล้ว ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค.2518 และทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พล.อ. พล.ร.อ. พล.อ.อ. โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบในการต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จ.ตราด อีกทั้งยังเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการด้านทหาร อาทิ งานวันราชวัลลภ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานับประการด้วยความวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นตั้งใจอย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์และทรงปฏิบัติในส่วนพระองค์เองล้วนเป็นไปเพื่อประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้ามั่นคงและเพื่อประชาชนชาวไทยได้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
หมายเหตุ: ข้อมูลส่วนหนึ่งจากหนังสือ 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ จัดทำโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ตีพิมพ์เมื่อปี 2545
) เพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลและพัฒนาประสบ
เข้าชม : 467
|