เมื่อเป็นเช่นนี้การมองหาทางออกด้วยการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จึงเกิดขึ้น แต่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ก็ไม่ใช่คำตอบเดียวของการแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในรายการ “โลกแห่งอนาคต” นำเสนออีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ต้องพึ่งพลังงานนิวเคลียร์ เพราะใช้พลังงานที่มาจากดวงอาทิตย์นั่นเอง ในรายการพิธีกรจะพาไปชมบ้านพลังงานแสงอาทิตย์หรือ Energy-Efficient Houseที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี บ้านที่มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ทั้งหลัง ส่วนเรื่องราวจะน่าสนใจแค่ไหน ต้องไปรับชมด้วยตัวเองกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่มีชื่อว่า Earth to Future รายการ “โลกแห่งอนาคต” ในตอน No more Nuclear Energy – More Energy from the Sun! เพิ่มพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่เอาพลังงานนิวเคลียร์ รายการโทรทัศน์รายการใหม่ที่ผลิตโดย KiKA สถานีทีวีสาธารณะเพื่อเด็กภายใต้การการกับควบคุมของ 2 สถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่คือARD และ ZDF องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเยอรมนี และอีกหนึ่งตอน คือ Clean Water for All น้ำสะอาดเพื่อเราทุกคน ที่จะพาเราไปรู้จักวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขอย่างไรในอนาคต พิธีกรหนุ่มเฟลิกซ์ จะพาเราไปที่ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมเฮล์มฮอลท์ ในเมืองไลป์ซิกประเทศเยอรมนี ที่มีการใช้กระบวนการการบำบัดน้ำเสียด้วยสาหร่ายสีเขียวและผ่านการกรอง จนกลายเป็นน้ำสะอาดแล้วนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง
คุณครูพะเยาว์ ยาโสภา คุณครูเอ็มอร ทองเหลือ และคุณครูอรุณ ลือกิจชัย ได้พานักเรียนชั้นม.1-3 จากโรงเรียนผ่องสุวรรณวิทยาสายไหม กรุงเทพมหานคร มาชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต และได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 9 ว่า
“ภาพยนตร์ เป็นสื่อที่เข้าใจได้ง่าย ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และคิดตามเนื้อเรื่องได้ดี ทั้งยังเร้าความสนใจจากทั้งเสียงและภาพเคลื่อนไหว ทำให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่เป็นนามธรรมไปพร้อมๆกับความสนุกสนานเพลิดเพลินขณะรับชม บางอย่างก็สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ด้วย นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนากระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ และตระหนักว่าวิทยาศาสตร์เป็นสิ่งใกล้ตัวซึ่งเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของทุกคน อย่างภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ที่พานักเรียนมาชมในวันนี้ นักเรียนให้ความสนใจเรื่องวิธีการบำบัดน้ำเสียและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันมากเพราะมีการดำเนินเรื่องที่น่าสนใจ พาไปดูสถานที่จริง ช่วยให้เข้าใจง่ายขึ้น ทำให้นักเรียนสนใจอยากลองปฏิบัติจริง คุณครูอาจจะต้องจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์และการบำบัดน้ำเสีย ให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติกันต่อไป”
หลังจากรับชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เรื่อง Earth to Future รายการ “โลกแห่งอนาคต” ทั้งสองตอนแล้ว เด็กชายภากร เลิศสิริโยธิน นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนผ่องสุวรรณวิทยาสายไหม กรุงเทพมหานคร ก็เห็นว่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจ ในแนวความคิดการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่และการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์แทนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เขาบอกว่า
“เป็นเรื่องที่ดีมากที่เราสามารถนำน้ำเสียมาบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง ในปัจจุบันเป็นไปได้แล้วแต่ยังไม่แพร่หลาย ในภาพยนตร์มีวิธีบำบัดน้ำเสียหลายแบบ เช่นใช้แล้วนำไปบำบัดกลับมาดื่มได้ และประเภทที่นำไปบำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในด้านเกษตรกรรม ส่วนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ก็น่าสนใจ เพราะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ไม่ต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ส่วนในครั้งหน้าอยากให้มีภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ อยากให้นำเสนอเจาะลึกว่าไม่ดีอย่างไรเพราะในภาพยนตร์มีการบอกว่าพลังงานนิวเคลียร์ไม่ดี แต่ไม่ได้บอกว่าไม่ดีอย่างไร คิดว่าบางคนอาจจะยังไม่รู้ อยากให้นำเสนอเรื่องนี้ด้วย”
ที่มา http://www.trueplookpanya.com/new/cms_detail/teacher/17062
ด้านเด็กหญิง วชิราภรณ์ แก้วสีคร้าม นักเรียนชั้นม.2 โรงเรียนผ่องสุวรรณวิทยาสายไหม กรุงเทพมหานคร ก็เป็นอีกคนที่ชอบภาพยนตร์เรื่องนี้ เธอบอกกับเราว่า “ชอบเรื่องพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ ที่พาไปชมบ้านที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งนำพลังงานที่ได้มาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆภายในบ้าน รวมถึงนำมาชาร์ตเข้ากับรถยนต์และรถจักรยานได้ด้วย น่าทึ่งมากๆ ดูแล้วอยากมีบ้านแบบนั้นบ้าง”
นางสาวสิชล เชยสมบัติ ครูชำนาญการพิเศษและนางสาวจันชนก รักษาจิตร์ ครู ประจำศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต ได้เชิญชวนให้ ผู้สนใจชมภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ ในเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 9 ได้ฟรี ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2556 ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา 15 แห่งทั่วภูมิภาค ได้แก่ กาญจนบุรี ขอนแก่น ตรัง นครราชสีมา นครสวรรค์ ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ยะลา ร้อยเอ็ด ลำปาง สมุทรสาคร สระแก้ว อุบลราชธานี และนครศรีธรรมราช รวมทั้ง ศูนย์จัดฉายแห่งอื่นๆ เช่น นานมีบุ๊ค เลิร์นนิ่งเซ็นเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. โรงภาพยนตร์ศรีศาลายา หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อุทยานการเรียนรู้ TK Park ฯลฯ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ http://sciencefilm.ipst.ac.th/ สำหรับการเข้าชมเป็นหมู่คณะสามารถติดต่อล่วงหน้าได้ที่ศูนย์ฉายทุกศูนย์
เข้าชม : 1288
|