สุขภาพกาย สุขภาพจิต หัวเราะบำบัด
พุธ ที่ 26 เดือน มีนาคม พ.ศ.2557
|
|
ฝึกร่างกาย สั่งอวัยวะให้หัวเราะ
การหัวเราะแบ่งได้ 2 ประเภท คือ หัวเราะธรรมชาติ เกิดจากถูกกระตุ้นให้มีอารมณ์ขัน ซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน และหัวเราะบำบัด เป็นการหัวเราะแบบรู้ตัว เพื่อใช้ประโยชน์จากการหัวเราะกระตุ้นให้สมองหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เราอารมณ์ดี มีความสุข จนมีนักวิชาการบางท่านนิยามสารชีวเคมีนี้ว่าเป็น "สารสุข"
คนเราเมื่ออารมณ์ดี จะทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ ในรายงานการตีพิมพ์ของวารสาร The Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) ตีพิมพ์งานวิจัยจากคณะจิตวิทยา มหาวิทยาลัยโตรอนโต คานาดา บอกว่าอารมณ์ของคนเราน่าจะมีผลต่อการประมวลผลข้อมูลของสมอง ถ้าอารมณ์ดีจะช่วยขยายความคิดสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น ในทางกลับกันถ้าอยู่ในอารมณ์หวาดวิตก เคร่งเครียด หรือแม้แต่ความมุ่งมั่นมากเกินไป จะมีผลต่อความคิดจะหดแคบเข้ามา อารมณ์ดีหรือไม่ดีมีผลต่อกระบวนการคิดและแก้ปัญหาในเชิงสร้างสรรค์ของคนเรา
ดังนั้นพวกเราทั้งหลายจงมาร่วมกันผลิตสารแห่งความสุขผ่านกระบวนการหัวเราะ ซึ่งไม่ว่าท่านจะหัวเราะแบบบำบัด หรือหัวเราะแบบธรรมชาติ ก็เชื่อว่าร่างกายก็จะหลั่งสารชีวเคมนี้ได้ด้วยเช่นกัน
การหัวเราะบำบัดมีหลายแบบ เช่น Lauther Yoga ของอินเดีย ซึ่งผสมผสานระหว่างการหัวเราะและควบคุมการหายใจของโยคะเข้าด้วยกัน และเป็นที่มาของการหัวเราะบำบัดในกว่า 40 ประเทศ หรือกลุ่มหัวเราะในประเทศออสเตรเลีย ที่เดินทางไปสถานที่ต่างๆ เพื่อสร้างเสียงหัวเราะให้คนทั่วไปด้วยพฤติกรรมตลก สำหรับประเทศไทย ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้คิดค้นการหัวเราะบำบัด โดยผสมผสานการควบคุมการหายใจ การเปล่งเสียงหัวเราะ และการบริหารร่างกายไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นการหัวเราะที่ให้ผลเชิงสุขภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีอารมณ์ขัน ใช้เวลาในทำกิจกรรมประมาณ 2-3 ชั่วโมง
ข้อดีของการหัวเราะ
การหัวเราะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายใน 7 ระบบได้แก่
ระบบทำงานของสมอง การหัวเราะ ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทสมองส่วนพรีฟรอนทอลคอร์เทกซ์ (prefrontal cortex) บริเวณสมองส่วนหน้า (ซึ่งสมองบริเวณนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมความคิดที่เกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาของอารมณ์เชิงบวกและลบ) ที่ทำให้เกิดการหลั่งของสารชีวเคมีตัวหนึ่งที่ชื่อว่า endorphin ซึ่งเป็นสารชีวเคมีของสมองที่มีฤทธิ์ "เพชฆาตความเจ็บปวด" หรือสารที่มีฤทธิ์ทำให้เกิดความสุข นั้นก็คือในด้านที่ส่งผลทำให้อารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน สมองก็จะมีการถูกกระตุ้นให้มีเพิ่มพื้นที่การประมวลผลความคิดในเชิงบวกและสร้างสรรค์ มีผลทำให้ร่างกายและจิตใจได้รับการบำบัดและฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว
ระบบหายใจ (Breathing) ในระหว่างที่หัวเราะร่างกายมีการหายใจเข้า กลั้นหายใจ และหัวเราะ (หายใจออกยาวๆ) ทำให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนถ่ายออกซิเจน ฟอกเลือดดำให้เป็นเลือดแดง จึงทำให้เซลล์ประสาทหัวใจ ปอด คอ แข็งแรงขึ้น นอกจากนี้การหัวเราะยังช่วยบริหารร่างกายให้เกิดความร้อนและการเผาผลาญพลังงานสูง ช่วยฆ่าเชื้อโรคและป้องกันโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ทั้งไข้หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด ไซนัส กรน ความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคปอด
ระบบย่อยอาหารและการขับถ่าย (Digestion and Gastrointestinal) การหัวเราะบำบัดช่วยให้อวัยวะส่วนท้อง อาทิ ลำไส้ใหญ่ เล็ก ตับ ไต ไส้ กระเพาะ มีการเคลื่อนไหว เกิดการบริหารกระเพาะและลำไส้ ทำให้ระบบย่อยอาหารและการขับถ่ายทำงานดีขึ้น ป้องกันโรคอ้วน โรคบูลิเมีย (Bulimia : โรคที่กินอาหารเข้าไปแล้วรู้สึกผิด จนบางครั้งต้องกินยาถ่าย หรืออาเจียนออก) หน้าท้องหย่อน ท้องป่อง โรคเบื่ออาหาร กินไม่ลง ท้องผูก ท้องเสีย โรคกระเพาะ โรคลำไส้ เป็นต้น
ระบบไหลเวียนโลหิต (Circulation and Cardio-vascular system) การหัวเราะบำบัดเป็นการออกกำลังทุกส่วนของร่างกายทำให้อวัยวะต่างๆ ได้เคลื่อนไหวเป็นจังหวะเร็วบ้าง ช้าบ้าง หัวใจสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ มากขึ้น หัวใจทำงานเป็นระบบขึ้น ป้องกันอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เหนื่อยง่าย เหนื่อยเร็ว เจ็บแน่นหน้าอก โรคขาดเลือด เส้นเลือดหัวใจตีบตัน โรคหัวใจ ตลอดจนอาการใจสั่น เสียงสั่น ตัวสั่น ตื่นตระหนกและประหม่าง่าย
ระบบพักผ่อนและผิวพรรณ (Rest and Skin system) การหัวเราะบำบัดช่วยผ่อนคลายความเครียด ทำให้เส้นประสาท กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้า ยืดหยุ่น ไม่ตึงหรือเกร็ง ทำให้ร่างกายเกิดการพักผ่อน นอนหลับสนิท ผิวพรรณดี ไม่เหี่ยวย่น และไม่เป็นโรคทางผิวหนัง ช่วยให้ร่างกายและจิตใจเกิดความสงบ มีสมาธิมากขึ้น
ระบบเจริญพันธุ์ (Reproduction) การหัวเราะบำบัดทำให้ร่างกายทุกส่วนขยับขับเคลื่อน ส่งผลต่อการทำงานของสมองส่วนนอก ส่วนกลาง และส่วนใน ให้ทำงานดีขึ้น เป็นระบบขึ้น ทำให้สมองคิดแง่ดี มองโลกแง่บวก อารมณ์ดี พัฒนาอารมณ์รัก และการมีเพศสัมพันธ์ และช่วยป้องกันอาการไร้อารมณ์ หงอยเหงา โดดเดี่ยว ไม่อยากเข้าสังคม การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และการเข้าสังคม
สัญชาติญาณการอยู่รอด (Survival instinct) การหัวเราะบำบัดทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวคล่องแคล่ว แข็งแรง ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาท กระดูก กล้ามเนื้อ ร่างกายทำงานเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ป้องกันโรคไขข้อ โรคกระดูกต่างๆ ทั้งกระดูกพรุน ปวดหลัง ปวดเอว อ่อนเปลี้ยเพลียแรง โรคซึมเศร้า นอกจากนี้ยังช่วยทำลายสารอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งอีกด้วย
แนวคิดของการหัวเราะบำบัด
อิงตามหลักของศาสตร์ตะวันออกที่มองทุกอย่างเป็นองค์รวม โดยเน้นฝึกด้วยท่าหัวเราะ หลายๆท่าต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมง เพราะในแต่ละท่าจะมีประโยชน์ต่างกัน โดยใช้เสียง โอ อา อู เอ นำมาประยุกต์ในกระบวนการหัวเราะบำบัด ซึ่งเป็นเสียงพื้นฐานสากลที่ใช้กันทั่วโลก
เสียงโอ/ท้องหัวเราะ เป็นการออกเสียงจากท้อง โดยยืนตัวตรง กางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปด้านข้างของลำตัว งอแขนเล็กน้อย กำมือทั้งสองข้างโดยชูนิ้วหัวแม่มือขึ้น ตามองตรง สูดลมหายใจเข้าปอดลึกๆ กักลมไว้ จากนั้นค่อยๆเปล่งเสียง “โอ โอะ ๆ ๆ…” เหมือนเสียงซานตาคลอสหัวเราะ ขณะเดียวกันให้ค่อยๆปล่อยลมหายใจออก พร้อมๆกับขยับแขนขึ้นลง
เสียงอา/อกหัวเราะ เป็นการเปล่งเสียงออกจากอก ให้ยืนตรงกางขาเล็กน้อย กางแขนออกไปข้างลำตัวเหมือนนกกระพือปีก หงายมือขึ้น และปล่อยมือตามสบาย ตามองตรง สูดลมหายใจลึกๆ กักลมไว้ ค่อยๆเปล่งเสียง “อา อะ ๆ ๆ…” ดังๆเหมือนเสียงเจ้าพ่อหัวเราะ ขณะเดียวกันให้ปล่อยลมหายใจออก พร้อมๆกับกระพือแขนขึ้นลง
ประโยชน์ของท่าอกหัวเราะ เมื่อเปล่งเสียงอา จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าอก หัวใจ ปอดและไหล่ขยับเขยื้อนไปด้วย ท่านี้จะช่วยให้อวัยวะบริเวณหน้าอกทั้งหมดทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้การสูบฉีดและการไหลเวียนเลือดในร่างกายดีขึ้น
เสียงอู/คอหัวเราะ เป็นการเปล่งเสียงออกจากลำคอ เริ่มด้วยยืนตรง กางขาเล็กน้อย แขนแนบลำตัว ยกตั้งฉากชี้ไปข้างหน้า งอนิ้วนางและนิ้วก้อยเข้าหาตัวเอง ยกนิ้วหัวแม่มือขึ้นและชี้นิ้วชี้และนิ้วกลางไปข้างหน้าในลักษณะชิดติดกัน เหมือนท่ายิงปืน ตามองตรง จากนั้นสูดลมหายใจลึกๆ กักลมไว้ แล้วค่อยๆเปล่งเสียง “อู อุ ๆ ๆ…” เหมือนเสียงหมาป่าหอน ขณะเดียวกันค่อยๆปล่อยลมหายใจออก พร้อมกับแทงมือไปข้างหน้า
เสียงเอ/ใบหน้าหัวเราะ ท่านี้จะทำแบบสบายๆ โดยยืนตามสบาย ค่อยๆยกมือขึ้นมาตามถนัด สูดลมหายใจลึกๆ แล้วขยับทุกนิ้วทั้งหัวแม่มือ ชี้ กลาง นาง และก้อย ตามองตรง ระหว่างนั้นให้เปล่งเสียง “เอ เอะ ๆ ๆ…” ออกมา เหมือนหยอกล้อเด็ก นอกจากจะได้ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กที่นิ้วมือแล้วท่านี้ยังช่วยบริหารสมองด้วย
ประโยชน์ของท่าใบหน้าหัวเราะ คนสมัยนี้ชอบคิดมาก บึ้งตึง จึงทำให้เครียด ปวดศีรษะ ปวดสมอง เมื่อเปล่งเสียงเอ ใบหน้าจะมีลักษณะเหมือนกำลังฉีกยิ้มโดยอัตโนมัติ เหมือนเรากำลังเล่นจ๊ะเอ๋กับเด็กตัวเล็กๆ เสียงเอจะทำให้เรายิ้มง่ายขึ้น
ฝึกหัวเราะบำบัดด้วยตนเอง
การฝึกหัวเราะบำบัดด้วยตนเองไม่ใช่เรื่องยาก ขั้นแรก ฝึกหัวเราะโดยมีสิ่งกระตุ้น เช่น ดูภาพยนตร์ตลก และหัวเราะเสียงดัง จากนั้นฝึกหัวเราะโดยไม่มีสิ่งกระตุ้น โดยแยกอารมณ์ขันออกจากการหัวเราะ หรือเข้าใจว่าการหัวเราะไม่จำเป็นต้องมาจาก "ความรู้สึกตลก" เสมอไป การหัวเราะโดยไม่มีเหตุผลนี้ให้เริ่มจากหัวเราะคิกคักและหัวเราะเสียงดังด้วยการเปล่งเสียงออกมาจากท้องผ่านลำคอและริมฝีปาก
หากต้องการให้การหัวเราะได้ผลดียิ่งขึ้น ควรเปล่งเสียงหัวเราะ เพื่อเคลื่อนไหวอวัยวะภายใน 4 ส่วนด้วยการเปล่งเสียงต่างๆ กัน คือเสียง "โอ" ทำให้ภายในท้องขยับ เสียง "อา" ทำให้อกขยับขยาย เสียง "อู" เสียง "เอ" ทำให้ลำคอเปิดโล่ง และช่วยบริหารใบหน้า
ขั้นตอนเริ่มจากหายใจเข้าลึกๆ กลั้นไว้สักครู่ เปล่งเสียงเป็นจังหวะเช่น โอ โอ โอ โอ ยาวๆ จนกว่าจะหมดอากาศที่เก็บไว้ สูดหายใจเข้าใหม่ หัวเราะเสียงละ 3 ครั้ง เมื่อออกเสียงเป็นจังหวะแล้วให้บริหารร่างกายไปด้วย เริ่มจากเสียง "โอ" ให้ย่ำเท้าอยู่กับที่ เสียง "อา" ให้ยกแขนขึ้นสูงๆ แล้วโบกไปมา เสียง "อู" ให้ส่ายเอวท่าฮูลาฮูบ เสียง "เอ" ให้หมุนหัวไหล่ โดยทำท่าเหล่านี้ในระหว่างที่หัวเราะด้วย
นอกจากนี้ยังมีท่าหัวเราะบำบัดอีก ดังนี้
จมูกหัวเราะ ย่นจมูกขึ้นและทำเสียง “ฮึๆ…” ในจมูกเหมือนม้า ท่านี้จะช่วยไล่สิ่งสกปรกในจมูกออกมา บำบัดภูมิแพ้ ไซนัส หวัด โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาเรื่องระบบหายใจ ท่านี้จะช่วยให้จมูกโล่ง
ตาหัวเราะ กะพริบตาถี่ๆ กรอกตาขึ้นลงเป็นวงกลม แล้วเปล่งเสียง “อ่อย ๆ ๆ…” เล่นหูเล่นตา มองซ้ายที ขวาที เพื่อการบริหารดวงตาให้ผ่อนคลาย ใครที่มีปัญหาตาแห้งหรืออยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ ท่านี้จะทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงที่ตา ช่วยให้ตาชุ่มชื้นขึ้น
สมองหัวเราะ โดยธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเครียดมักจะปิดปาก เป็นเหตุให้ความดันขึ้นสมอง ท่านี้จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยปิดปากแล้วเปล่งเสียง “อึ ๆ ๆ…” ดันให้เกิดการสั่นสะเทือน ขึ้นไปนวดสมอง เมื่อทำเสร็จจะรู้สึกโล่ง โปร่งสบาย
ไหล่หัวเราะ เป็นการบริหารช่วงไหล่ ยืนตรงแล้วส่ายไหล่ไปมา เหมือนการว่ายน้ำฟรีสไตล์ พร้อมกับเปล่งเสียง “เอ เอะ ๆ ๆ…” ใครที่มีปัญหาเกี่ยวกับไหล่ ท่านี้ช่วยได้
เอวหรือก้นหัวเราะ ช่วยบริหารบริเวณไขสันหลัง ก้นและสะโพก โดยช่วงกลางลำตัวต้องนิ่งอยู่กับที่ ขณะทำให้แขม่วท้องขมิบก้น พร้อมเปล่งเสียง “อู อุ ๆ ๆ…”
หากวันนี้คุณยังหาวิธีออกกำลังที่เหมาะกับตัวเองไม่ได้ลองชวนคนในครอบครัวมาหัวเราะพร้อมเคลื่อนไหวร่างกายด้วยกันสิคะ นอกจากได้ออกกำลังแล้ว ยังสร้างรอยยิ้มในครอบครัวคุณอีกด้วย
*******************************************
ที่มา : หนังสือชีวจิต ฉบับ 1 ต.ค. 2549
http://www.pnas.org/
เข้าชม : 1315
|
|
สุขภาพกาย สุขภาพจิต 5 อันดับล่าสุด
หัวเราะบำบัด 26 / มี.ค. / 2557
|