[x] ปิดหน้าต่างนี้
กศน.อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง
Home
ประชาสัมพันธ์
ปฏิทินปฏิบัติการ
Webboard
บทความสาระน่ารู้
ศรช.แหล่งเรียนรู้
ติดต่อเรา
เข้าระบบ
ข่าวคนพิการ
เลี้ยงเดี่ยว-แม่วัยรุ่น-ลูกพิการ วิกฤตที่น่าวิตก เมื่อฐานชีวิตไม่มั่นคง
พฤหัสบดี ที่ 24 เดือน เมษายน พ.ศ.2557
สังคมอ่อนแอและเปราะบางมากขึ้นเรื่อยๆ สะท้อนถึงสถาบันพื้นฐาน “ครอบครัว” ที่ความสัมพันธ์ไม่เหนียวแน่น ไม่อบอุ่นเช่นกาลก่อน ด้วยภาวะทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยีทำให้ทุกคนห่างจากความเป็นครอบครัว พูดกันน้อยลง โลกส่วนตัวสูง หรืออีกสาเหตุหนึ่งคืออัตราการเกิดลดลง ทำให้ขนาดของครอบครัวเล็กลงเรื่อยๆ จากที่สังคมไทยเป็นลักษณะครอบครัวขยายมีปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ฯ ปัจจุบันกลับกลายเป็นสังคมของครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น
เมื่อครอบครัวคือพื้นฐานสำคัญของสังคม แต่ถ้ามีครอบครัวด้วยความไม่พร้อม ไม่ตั้งใจ อยู่ในสภาวะยากลำบาก เช่น ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวที่มีลูกพิการ ครอบครัวผู้สูงอายุ ครอบครัวที่มีรุ่นปู่ย่าตายายและรุ่นหลาน ฯลฯ สภาพของครอบครัวหรือคนที่เติบโตขึ้นมาจากครอบครัวลักษณะนี้จะเป็นอย่างไร
โครงการพัฒนาเครือข่ายครอบครัวลักษณะเฉพาะ ดำเนินการโดยมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ร่วมกับสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
เป็นการพัฒนากระบวนการสร้างเครือข่ายครอบครัวลักษณะเฉพาะ 3 กลุ่ม ได้แก่ ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวแม่วัยรุ่น ครอบครัวที่มีลูกพิการ ให้มีระบบการดูแลที่ส่งเสริมให้เข้าถึงระบบสวัสดิการและกองทุนที่มีอยู่ในชุมชนและสังคม และจัดการความรู้ให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะ เพื่อการขยายผลและผลักดันให้เกิดนโยบายสำหรับครอบครัวลักษณะเฉพาะ เนื่องจากปัจจุบันปัญหามีจำนวนมากและทวีความรุนแรงขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายต่อการดูแลช่วยเหลือครอบครัวลักษณะเฉพาะให้มีสุขภาวะและความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
ด้วย
“ครอบครัวลักษณะเฉพาะเหล่านี้”
มีปัจจัยที่ทำให้การทำหน้าที่ของครอบครัวน้อยกว่าครอบครัวทั่วไปทั้งการมีสัมพันธภาพ ทักษะการจัดการปัญหา การจัดการในภาวะวิกฤต เช่น ทำหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน ขาดทักษะการเป็นพ่อแม่ ใช้เวลาเลี้ยงดูลูกมากกว่าเด็กปกติ ภาวะความเครียดและการจัดการอารมณ์ ปัญหาเศรษฐกิจในครอบครัว ส่งผลให้เกิดความเปราะบางต่อการดำรงอยู่ของครอบครัว ดังนั้น การเสริมพลังให้ครอบครัวลักษณะเฉพาะมีความเข้มแข็ง สามารถดูแลและจัดการกับภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่ความเข้าใจ การยอมรับ การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีขึ้น และส่งเสริมบทบาทและการทำหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม”
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช
ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าว
จากสภาพปัญหาครอบครัวดังกล่าวมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวและเครือข่ายคนทำงานด้านครอบครัว ได้พัฒนาเครือข่ายครอบครัวลักษณะเฉพาะ 20 กลุ่ม ใน 5 จังหวัดนำร่อง และ 2 พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร โดยการกำกับดูแล ให้คำแนะนำและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครอบครัวอบอุ่น ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ มาจากหน่วยงาน/ภาคียุทธศาสตร์ด้านครอบครัวที่สำคัญ เช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสถิติ ฯลฯ ที่มีภารกิจคือการขับเคลื่อนให้ยุทธศาสตร์ครอบครัวอบอุ่นถูกนำไปใช้ในองค์กรต่างๆ เพื่อให้ครอบครัวมีความอบอุ่นและเข้มแข็งเพิ่มขึ้น รวมถึงครอบครัวลักษณะเฉพาะด้วย
นายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์
กรรมการกำกับทิศทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ครอบครัวอบอุ่น กล่าวว่า การเพิ่มสัดส่วนครอบครัวอบอุ่น เป็น 1 ใน 10 ประเด็นเป้าหมายสำคัญของ สสส. และเน้นการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และชุมชนท้องถิ่น ให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน โดยมียุทธศาสตร์สนับสนุนการสร้างสัมพันธภาพในครอบครัวให้มีความอบอุ่นมากขึ้น สร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการสร้างสุขภาวะของครอบครัว รวมถึงการให้ความสำคัญกับครอบครัวที่อยู่ในสภาวะยากลำบาก ซึ่งสาเหตุที่เลือกพื้นที่ทำงานระดับจังหวัด เพราะจะได้มีความใกล้ชิดสามารถกระตุ้นให้เกิดการทำงานจริงในพื้นที่ อีกทั้งจังหวัดก็มีนโยบายและกลไกที่พร้อมจะให้การสนับสนุนงานครอบครัวให้ลงไปถึงประชาชน
“
การลงพื้นที่ต้นแบบที่จังหวัดเลยเพราะมีเครือข่ายการทำงานที่เข้มแข็งมาก และจากการไปเยี่ยม ครอบครัวแม่วัยรุ่น จำนวน 3 ครอบครัว จาก 20 ครอบครัว ที่เข้าร่วมโครงการพบว่าเด็กต้องทำหน้าที่เป็นแม่ทั้งๆ ที่อยู่ในวัยเรียน อายุระหว่าง 15-17 ปี และจากการพูดคุยกับแม่วัยรุ่นในความจริงยังไม่พร้อมที่จะมีครอบครัว แต่เกิดจากการรักใคร่ในวัยหนุ่มสาว จนพลาดพลั้งตั้งครรภ์ และข้อมูลที่น่าตกใจคือแม่วัยรุ่นบางคนมีอีกสถานะหนึ่งคือการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เพราะคนที่เป็นสามีและพ่อของเด็กเลิกร้างกันไป ฉะนั้นจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจและรีบแก้ไขไม่ให้กลุ่มแม่วัยรุ่นนี้ ท้องซ้ำ เพราะเห็นชัดเจนด้วยวุฒิภาวะและอายุ ทั้งผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสที่จะพลาดพลั้งได้อีก
”
โดยทางมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวได้จัดพื้นที่เรียนรู้ให้กับครอบครัวลักษณะเฉพาะที่เป็นพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวได้แก้ปัญหาร่วมกัน เกิดงาน เกิดความร่วมมือ มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อมร้อยคนทุกเพศ ทุกวัย เป็นศูนย์ประสานงาน เกิดกิจกรรมในพื้นที่ มีปฏิบัติการเชิงรุก เพื่อช่วยเหลือยามฉุกเฉิน เช่น ให้คำปรึกษา มีหลักสูตรการเรียนรู้ของครอบครัว ที่เหมาะสมตามแต่ละประเด็นและยังมีเครือข่ายในการหนุนเสริม มีแนวคิดกระบวนการส่งเสริมจิตอาสาที่สามารถลงไปให้การช่วยเหลือในพื้นที่ได้
“ครอบครัว” ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของประเทศไทยคือวันที่ 14 เมษายน ขณะที่สหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 15 พ.ค. ของทุกปี เป็นวันครอบครัวสากลเพื่อส่งเสริมให้ทุกคนเห็นคุณค่าและความสำคัญของครอบครัว เพราะเชื่อว่าสังคมที่ดีควรเริ่มต้นมาจากครอบครัวที่อบอุ่น เมื่อพบปัญหา อุปสรรค ความทุกข์ ครอบครัวจะอ้าแขนรับ และเป็นผู้มอบความรัก ความเข้าใจ กำลังใจให้สมาชิกในครอบครัว ซึ่งจะช่วยลดปัญหาสังคมในด้านต่างๆ ได้อย่างดียิ่ง
ด้วยสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีผลต่อประชากร คำว่าครอบครัวอบอุ่นไม่ได้หมายถึงครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกสมบูรณ์เท่านั้นจึงจะอบอุ่น แต่ครอบครัวอบอุ่นคือ ครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวทุกคนไม่ว่าจะมีองค์ประกอบครบหรือไม่ มีลักษณะเฉพาะหรือไม่สมบูรณ์อย่างไร ครอบครัวทุกครอบครัวควรจะได้มีเวลาคุณภาพ มีพื้นที่ และมีกิจกรรมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ในวันครอบครัวที่จะมาถึงนี้
เข้าชม : 771
ข่าวคนพิการ 5 อันดับล่าสุด
เลี้ยงเดี่ยว-แม่วัยรุ่น-ลูกพิการ วิกฤตที่น่าวิตก เมื่อฐานชีวิตไม่มั่นคง
24 / เม.ย. / 2557
สมเด็จพระเทพฯ ทรงแนะปรับ ร.ร.เด็กพิเศษเรียนร่วมเด็กปกติ ช่วยเสริมพัฒนาการมากกว่า
23 / เม.ย. / 2557
ตัวแทนผู้พิการบุกสำนักงานปลัดกลาโหม ร้อง′ปู′เร่งจ่ายสลากกินแบ่ง
22 / เม.ย. / 2557
ชื่อ/Email :
ใส่รหัสที่ท่านเห็นลงในช่องนี้
ไอคอน :
ใช้ไอคอน
ปิด
ความคิดเห็น :
กรุณาใช้คำพูดที่สุภาพ และอย่าใช้คำพูดที่พาดพิงถึงบุคคลอื่นให้เสียหาย ขอขอบคุณที่ให้ความร่วมมือ
ข้อความที่ท่านได้อ่าน เกิดจากการเขียนโดยสาธารณชน และส่งขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เจ้าของระบบไม่รับผิดชอบต่อข้อความใดๆทั้งสิ้น เพราะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นความจริงหรือ ชื่อผู้เขียนที่ได้เห็นคือชื่อจริง ผู้อ่านจึงควรใช้วิจารณญาณในการกลั่นกรอง และถ้าท่านพบเห็นข้อความใดที่ขัดต่อกฎหมายและศีลธรรม กรุณาแจ้งที่
ที่นี่
เพื่อให้ผู้ควบคุมระบบทราบและทำการลบข้อความนั้น ออกจากระบบต่อไป
ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง
หมู่ 1ตำบลคลองปาง อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง 92160 โทรศัพท์ 093-575-9181
โทรสาร 075-299253
p_ang28@hotmail.com
Powered by
MAXSITE 1.10
Modify by นิกร เกษโกมล Version 2.05