คนพิการทางการเห็น
ตาบอด ! รักษาได้หรือไม่ ?
ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
ความหวังของญาติหรือคนตาบอด คือ จะสามารถรักษาด้วยวิธีใดๆให้กลับมามองเห็นได้หรือไม่ มีวิธีการประเมินที่พอจะบอกได้หรือไม่ว่าตานั้นยังมีความหวังหรือไม่ ผ่าตัดเปลี่ยนใหม่ได้หรือไม่ ทั้งหมดขึ้นกับความรุนแรงของตาบอดหรือเพียงสายตาเลือนราง และสาเหตุที่เป็น สาเหตุตาบอดหรือสายตาเลือนรางที่ส่วนใหญ่ไม่สามารถรักษาได้ เช่น ตาเล็กหรือฝ่อตั้งแต่กำเนิด ต้อหินระยะรุนแรง และตาบอดจากอุบัติเหตุอย่างร้ายแรง ส่วนปัญหาตาบอดหรือสายตาเลือนรางที่พบบ่อยและอาจรักษาให้หายได้เช่น โรคต้อกระจก โรคจอประสาทตาลอก หรือระดับสายตาผิดปกติ เป็นต้น
มีแนวทางการประเมินเพื่อให้คำแนะนำผู้ป่วยว่า จะมีโอกาสรักษาให้กลับมามองเห็นได้หรือไม่อย่างไร
โดยทั่วไป ถ้าตาข้างที่บอดนั้น ไม่สามารถมองเห็นได้แม้แต่แสงสว่างแล้ว มักไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้ แต่ต้องเป็นการตรวจที่ถูกวิธี กล่าวคือใช้บริเวณฝ่ามือปิดที่ตาอีกข้าง และใช้ไฟฉายซึ่งต้องมีความสว่างเต็มที่ และไม่มีวงมืดตรงกลาง ส่องไปที่ตาข้างที่จะทดสอบ บอกผู้ป่วยก่อนว่าอย่างไรคือมีไฟและอย่างไรคือไม่มีไฟ แล้วทดสอบหลายๆครั้ง ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถบอกได้เลยว่ามีไฟส่องหรือไม่ มักไม่สามารถรักษาให้กลับมามองเห็นได้อีก แต่ถ้ายังสามารถมองเห็นแสงไฟได้ดี ควรแนะนำพบจักษุแพทย์เพื่อประเมินซ้ำว่ายังสามารถให้การรักษาให้กลับมามองเห็นอีกได้หรือไม่
สาเหตุของตาบอดที่พบได้บ่อยๆคืออะไร
สาเหตุของตาบอดหรอสายตาเลือนรางที่พบบ่อยได้แก่
- ความผิดปกติแต่กำเนิดของดวงตา เช่นตาเล็กหรือตาดำขุ่นขาวแต่กำเนิด
- อุบัติเหตุต่อดวงตา เช่นถูกกระจกรถบาด หรือถูกวัตถุมีคมแทงบริเวณลูกตา
- โรคต้อกระจก ซึ่งอาจเป็นแต่กำเนิด หรือจากความเสื่อมตามอายุซึ่งมนุษย์ต้องเป็นต้อกระจกทุกคน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถให้การรักษาโรคต้อกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ระดับสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง สามารถรักษาได้ด้วยการใช้แว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือเลสิกรักษาสายตา
- โรคต้อหินหรือโรคจอประสาทตาลอก
- โรคทางร่างกายที่มีผลต่อตา เช่น เบาหวานขึ้นจอประสาทตา เชื้อไวรัส (cytomegalo virus) ขึ้นจอประสาทตาในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
ตาบอดหรือตาเลือนราง สามารถใส่แว่นตาให้มองเห็นดีขึ้นได้หรือไม่
ภาวะสายตาเลือนรางที่สามารถใช้แว่นตาทำให้มองเห็นดีขึ้น เฉพาะกรณีที่เกิดจากสายตาสั้น สายตายาวหรือสายตาเอียงเท่านั้น ส่วนจากสาเหตุอื่น แว่นตามักไม่สามารถทำให้มองเห็นดีขึ้น ยกเว้นในบางกรณีอาจใช้แว่นที่มีกำลังขยายช่วยเป็นอุปกรณ์ในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาสายตาเลือนราง
คนตาบอด สามารถผ่าตัดเปลี่ยนดวงตาได้หรือไม่
เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหรือปลุกถ่ายดวงตาใหม่ได้ รวมทั้งส่วนจอประสาทตาไม่สามารถเปลี่ยนใหม่ได้ ส่วนของดวงตาที่สามารถเปลี่ยนได้ในปัจจุบันคือกระจกตาดำ ซึ่งต้องรอกระจกตาบริจาคแล้วนำมาผ่าตัดเปลี่ยนเฉพาะบริเวณกระจกตา และเลนส์ตาซึ่งถ้าขุ่นจะเรียกว่าต้อกระจก สามารถผ่าตัดออกแล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียม ให้กลับมามองเห็นได้
จะมีวิธีป้องกันตาบอดอย่างไร
ข้อแนะนำการป้องกันตาบอดสำหรับคนทั่วไป คือ
- การระวังภยันตรายต่อดวงตา เช่นใส่อุปกรณ์หน้ากากป้องกัน ในขณะทำงานที่มีความเสี่ยง การรัดเข็มขัดนิรภัยขณะขับหรือนั่งรถ เพื่อป้องกันหน้ากระแทกกระจกรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
- การตรวจสุขภาพตาและวัดความดันลูกตาเพื่อเฝ้าระวังโรคต้อหินทุกปี ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว
- การควบคุมโรคทางกายที่อาจมีผลต่อดวงตา เช่นควบคุมระดับน้ำตาในผู้ป่วยเบาหวาน หรือใช้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการลดต่ำของภูมิคุ้มกัน (CD4+) ในผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการซื้อยาหยอดตาใช้เอง เช่นยากลุ่มสเตียรอยด์ อาจทำให้ตาบอดจากโรคต้อหินได้
ถ้าตาบอดรักษาไม่ได้ ยังพอมีวิธีการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างไร
ในกรณีที่ตาบอดหรือสายตาเลือนราง ที่จักษุแพทย์วินิจฉัยว่าไม่สามารถรักษาให้มองเห็นดีขึ้นได้ อาจปรึกษาจักษุแพทย์ถึงการใช้เครื่องมือช่วยสายตาเลือนราง เช่นกล้องส่องขยาย แว่นขยายสำหรับอ่านหนังสือ ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
เข้าชม : 777
|