ผู้เข้าร่วมงานสัมมนาด้านการนวดของสหภาพคนตาบอดโลก ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12
ที่ผ่านมามีความพยายามจากหลายฝ่าย รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ที่ได้พยายามพัฒนาชีวิตให้แก่ “ผู้พิการทางสายตา” หรือ “คนตาบอด” มากมายหลากหลายแนวทาง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ผู้พิการเหล่านี้ ซึ่งการส่งเสริมให้คนตาบอดมีอาชีพ โดยเฉพาะในอาชีพ “หมอนวดแผนไทย” ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้ผู้พิการเหล่านี้ มีอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้ ก็ยังช่วยสร้างความเชื่อมั่น เพิ่มความภูมิใจในชีวิตให้แก่ผู้พิการตาบอดเหล่านี้อีกด้วย ซึ่งปัจจุบัน “หมอนวดตาบอด” เหล่านี้ ก็เป็นที่รู้จักแพร่หลายและได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แต่ยังดังไกลไปถึงต่างประเทศ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ระดับโลกชื่อ การสัมมนาด้านการนวดของสหภาพคนตาบอดโลก ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ 12 (The 12 th World Blind Union Asia-Pacififiic massage seminar) ซึ่งทีมงานคอลัมน์ “วิถีชีวิต” มีโอกาสได้เข้าไปสัมผัส“ชีวิตหมอนวดตาบอด” เหล่านี้ ไปรับรู้ถึง “เบื้องลึก-เบื้องหลัง” ก่อนจะมีวันนี้ของพวกเขา…มานำเสนอ…
“จำความได้ก็รู้ว่าตัวเองตาบอดแล้ว ชีวิตค่อนข้างลำบาก ยิ่งโตยิ่งรู้สึกว่าเป็นภาระพ่อแม่ พ่อกับแม่ผมเป็นชาวไร่ชาวนา ลูกมาเป็นแบบนี้ ท่านก็ยิ่งลำบาก ยอมรับว่ารู้สึกน้อยใจในโชคชะตา โชคดีที่พี่คนหนึ่งแนะนำว่า ที่ศูนย์คนตาบอดเขาเปิดสอนการนวด ลองมาฝึกดูไหม เผื่อยึดเป็นอาชีพได้ ก็เลยตัดสินใจลองดู” … เป็นฉากชีวิตที่ คำดี สาระมิตร หมอนวดตาบอดวัย 44 ปี เล่าให้ทีมงานคอลัมน์ “วิถีชีวิต” ฟัง โดยกล่าวว่า… สมัยก่อนสังคมยังไม่ค่อยยอมรับหมอนวดตาบอดเหมือนตอนนี้ ซึ่งปัจจุบันนี้ดีขึ้นมาก เพราะทุกคนรู้ว่า พวกเราทำได้ไม่ต่างจากคนปกติ ยิ่งมีคนชมว่านวดดี เราก็ยิ่งภูมิใจ ปัจจุบันนี้ คำดี มีร้านนวดแผนไทยเล็ก ๆ ของตัวเอง โดยใช้ชื่อร้านว่า ดีเคซี ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านเรืองสุข 2 คลอง 8 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี ซึ่งเขาบอกว่า เปิดมาได้ 12-13 ปีแล้ว ทว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ก็ไม่ง่าย! แต่ต้องผ่านอะไรต่อมิอะไรมามากมาย…
สาธิตการนวดของหมอนวดตาบอด
คำดี เล่าว่า ก่อนหน้านี้ยึดอาชีพขายลอตเตอรี่ แต่ต้องเลิกทำ เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งเขาเคยถูกปล้นและถูกทำร้ายมาสารพัด จึงตัดสินใจเบนเข็มมาศึกษาวิชานวดแผนไทย โดยเข้าอบรมที่ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดปากเกร็ด จ.นนทบุรี ซึ่งสำหรับการเรียนนวดแผนไทยในผู้พิการทางสายตานั้น ก็ไม่ง่าย เพราะต้องเรียนต้องฝึกมากกว่าคนปกติ โดยคนทั่วไปจะเรียนประมาณ 300 ชั่วโมง แต่คนตาบอดต้องเรียนนานกว่า 800-1,000 ชั่วโมงถึงจะเรียนจบ และได้ประกาศนียบัตร “หลักสูตรวิชาชีพการนวดไทย” มา แต่แม้จะหนักกว่าคนปกติ แต่ก็คิดเสียว่ายิ่งทำให้ตนเองได้ฝึกมากขึ้น ซึ่งนั่นอาจเป็นเคล็ดลับที่ว่า… ทำไมหมอนวดตาบอด จึงมักได้รับคำชมจากลูกค้าอยู่เสมอ ถึงเรื่องฝีไม้ลายมือในการนวด
คำดี บอกว่า.. ชีวิตขณะนี้มีความสุขมาก ตอนนี้เขาแต่งงานมีครอบครัวและมีลูกแล้ว 2 คน โดยภรรยาจะช่วยดูแลเรื่องภายในร้าน และมีเพื่อนหมอนวดตาบอดอีก 6 คนเข้ามาช่วยทำงาน โดยแบ่งรายได้กันที่ 50-50 จากค่าบริการชั่วโมงละ 140 บาท โดยทางร้านรับผิดชอบเรื่องอาหารกับที่พักให้ ไม่ต้องเดินทางไปกลับให้ลำบาก เหมือนอย่างเช่นชีวิตเขาในอดีต
ส่วนความฝันในอนาคตนั้น เขาได้ตั้งใจว่า… จะสอบขึ้นทะเบียนเป็น “ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนไทย” ให้ได้ ซึ่งถ้าหากสอบผ่านก็จะมีสิทธิใช้คำว่า “แพทย์แผนไทย” ได้อย่างเต็มตัว และจะเป็นผลดีกับทางร้านด้วย เพราะลูกค้าจะเกิดความเชื่อมั่นในบริการที่ได้มาตรฐาน และมั่นใจว่า ร้านนวดของเขาไม่ใช่พวกที่แอบแฝงมาทำ แบบรู้ไม่จริง…
ขณะที่หมอนวดผู้พิการทางสายตาอีกรายอย่าง มเหศักดิ์ วงศ์นอก วัย 35 ปี ที่นอกจากจะเป็นหมอนวดแผนไทยมืออาชีพแล้ว ก็ยังเป็นเจ้าของกิจการร้านนวดแผนไทย ย่านถนนนวมินทร์ โดยเขาได้เล่าว่า… ก่อนมีวันนี้ ก็เคยคิดฆ่าตัวตายวันละหลาย ๆ หน เพราะรู้สึกว่าชีวิตสิ้นหวัง โดยเล่าว่า ตัวเขานั้นไม่ได้ตาบอดแต่กำเนิด แต่ตาบอดจากอาการแพ้ยาเรื้อรัง และไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้กลายเป็นคนตาบอดถาวรในที่สุด หลังตาบอดเขาก็ต้องลาออกจากโรงเรียน โดยต้องมานั่ง ๆ กิน ๆ นอน ๆ อยู่กับบ้าน ยิ่งตอนที่พ่อกับแม่ต้องออกไปทำนา เขาต้องอยู่คนเดียวเงียบ ๆ ก็ยิ่งทำให้คิดไปต่าง ๆ นานา ทั้งเครียดและอึดอัดจนคิดผูกคอตายวันละหลายครั้ง แต่ก็มาฉุกคิดว่า ตอนนั้นอายุแค่ 18 ปี ถ้าตายคงเสียโอกาส จึงเปลี่ยนความคิด และเผอิญได้ฟังประกาศจากวิทยุว่า… มีฝึกอาชีพที่ศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอดจึงตัดสินใจมาลองเผชิญโชคอีกครั้ง
สาธิตการนวดของหมอนวดตาบอด
“ปรับตัวอยู่ 3 เดือน พอทุกอย่างเข้าที่ก็คิดว่า นี่เราก็ยังใช้ชีวิตได้ ถึงตาบอดแต่ก็ยังทำอะไรได้ตั้งหลายอย่าง มาอยู่ที่นี่ได้เรียนหนังสือ ได้ฝึกการนวด ตอนนั้นคิดไว้แล้วว่า จะเอาการนวดนี่ละเป็นอาชีพหาเลี้ยงชีวิต” …มเหศักดิ์ กล่าว ก่อนจะบอกว่า หลังเรียนจนครบหลักสูตรก็ได้รับโอกาสที่ดีมาก ๆ โดยทางศูนย์ที่อบรมอยู่ได้คัดเลือกส่งตัวเขาไปทำงานนวดไกลถึงประเทศ อิตาลี!!! โดยไปทำงานนวดแผนไทยเป็นเวลาถึง 6 เดือน ซึ่งเขารู้สึกดีใจมาก เพราะเป็นการเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรกในชีวิต อีกทั้งค่าตอบแทนก็สูงอยู่ที่เดือนละ 30,000 บาท ซึ่งเงินก้อนนี้ก็ได้กลายมาเป็น “ทุนชีวิต” ให้เขาตั้งต้นชีวิต
“ภูมิใจมากที่สามารถแก้ปมชีวิตด้วยตัวเอง วันนี้ผมกล้าพูดเลยว่าถึงจะพิการมากกว่านี้ก็ไม่ยอมเป็นขอทานแน่นอน อยากให้เพื่อนคนตาบอดทั้งหลาย จงคิดว่าเราทุกคนมีความสามารถ และอยากให้สังคมมอบโอกาสให้พวกผมได้ลงมือทำ ผมเชื่อว่าพวกผมยังทำได้เหมือนพวกคุณทุกคน” …มเหศักดิ์ กล่าว
ด้าน เพชรรัตน์ เตชะวัชรา ประธานมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด ก็ได้เปิดเผยกับทีมงานคอลัมน์ “วิถีชีวิต” ว่า…มูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอด ได้ช่วยเหลือคนตาบอดให้ได้รับการฟื้นฟูทางการแพทย์ และช่วยให้คนตาบอดได้รับการศึกษา-ฝึกอาชีพ รวมถึงพยายามผลักดันการนวดของคนตา บอดให้ขยับก้าวขึ้นไปในเวทีโลก โดยปีนี้ไทยได้รับเลือกจาก สหภาพคนตาบอดโลกเอเชียแปซิฟิก (World Blind Union Asia Pacifiic) ให้เป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าวนี้ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมบทบาทคนตาบอดไทยให้ได้รับการสนับสนุนแพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการนวดกับคนตาบอดจากนานาชาติด้วย
พร้อมระบุว่า “การฝึกอาชีพให้ผู้พิการทางสายตาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทำให้เขาเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นที่จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไป และภูมิใจที่ไม่ตกเป็นภาระของใคร ซึ่งฝีมือหมอนวดตาบอดของไทยนั้น ทั่วโลกเองให้การยอมรับมาก และผมก็ฝันว่าหมอนวดตาบอดของไทย จะได้โกอินเตอร์กันมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะฝีมือเราไม่แพ้ใครในโลก”
นี่ก็เป็นบางส่วน-บางมุมของ “วิถีชีวิตหมอนวดตาบอด” ที่กว่าจะก้าวเดินมาจนถึงทุกวันนี้ ย่อมไม่ง่าย ทั้งต้องต่อสู้กับความท้อแท้สิ้นหวังในชะตาชีวิตของตัวเอง หรืออดทนกับความคิด และคำถากถางที่ชอบมองว่า พวกเขาเหล่านี้เป็นภาระ หากแต่กำลังใจรวมถึงการที่คนในสังคมให้โอกาส ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนแล้วว่า…
“ค่าของคน ทุกคนล้วนเท่ากัน”.
……………………………………………………………………………..
นวดดีจนได้ ‘โกอินเตอร์’
นอกจากการขายสลากกินแบ่ง หรือรับจ้างเล่นดนตรีแล้ว นพ.วิชัย โชควิวัฒน ในฐานะประธานกรรมการบริหารสํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า… กับอาชีพ “หมอนวดแผนไทย” ก็ถือเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ได้รับความนิยมในกลุ่มผู้พิการทางสายตา สังเกตได้จากการที่มีผู้พิการเหล่านี้มาสอบ และผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นหมอนวดแผนไทยมากกว่า 30 คน โดยบางส่วนก็ได้รับ “ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย” ด้วย ซึ่งจะช่วยขยายสิทธิการประกอบอาชีพให้แก่ผู้พิการเหล่านี้
“การที่ไทยได้รับเลือกให้จัดงานของสหภาพคนตาบอดโลก ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว ยังกระตุ้นและส่งเสริมคนตาบอดไทยให้ได้พัฒนาทักษะ เพื่อก้าวไปสู่เวทีที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงการก้าวสู่แรงงานฝีมือระดับโลกในอนาคต เชื่อว่าโอกาสที่หมอนวดตาบอดไทยจะได้โกอินเตอร์นั้น อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม”.
เข้าชม : 1238
|